หลังจากล่าสุด กรมราชทัณฑ์ได้ประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขัง ในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 โดยเนื้อหาหลักๆ คือการกำหนดสถานที่, ลักษณะ และวิธีการพิจารณาผู้ที่ได้รับโทษจำคุก แต่ไม่ต้องคุมในเรือนจำ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นการเปิดทางให้กับการลงโทษโดยไม่ต้องจำคุก
The MATTER ได้สรุปสาระสำคัญของระเบียบฉบับดังกล่าวไว้ด้านล่างนี้ และพูดคุยกับ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงมุมมองต่อระเบียบฉบับดังกล่าว
ใครเข้าเกณฑ์ ‘จำคุกนอกเรือนจำ’ บ้าง?
ผู้ที่เข้าเกณฑ์จำคุกนอกเรือนจำต้องเป็นผู้ต้องขังที่ผ่านการประเมินจาก ‘คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง’ โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะถูกแต่งตั้งโดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโดยตำแหน่ง สำหรับคณะพิจารณาโดยตำแหน่งประกอบด้วย
- รองอธิบดีที่ดูแลกองทัณฑวิทยา (ประธาน)
- ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรการควบคุมผู้ต้องขัง (เลขาฯ)
- ข้าราชการสังกัดกองทัณฑวิทยาไม่เกิน 2 คน (ผู้ช่วยเลขาฯ)
- ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา
- ผู้อำนวยการกองทัณฑปฏิบัติ
- ผู้อำนวยการกองพัฒนาพฤตินิสัย
- ผู้อำนวยการกองบริการทางการแพทย์
- ผู้อำนวยการกองกฎหมาย
สำหรับผู้เชี่ยวชาญที่แต่งตั้งโดยอธิบดี ประกอบด้วย
- ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข 1 คน
- ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมสงเคราะห์หรืออุตสาหกรรม 1 คน
สำหรับขั้นตอนการพิจารณา ‘จำคุกนอกเรือนจำ’ เป็นไปดังนี้
- ให้คณะทำงานพิจารณาผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ ‘จำคุกนอกเรือนจำ’ เสนอต่อผู้บัญชาการเรือนจำ
- กรณีผู้บัญชาการเรือนจำเห็นชอบให้เสนอแผนต่อขึ้นไปถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในกรณีไม่เห็นชอบให้ตีกลับ และห้ามส่งเรื่องผู้ต้องขังคนดังกล่าวกลับมาใหม่จนกว่าจะครบ 5 เดือน
- เมื่ออธิบดีอนุมัติ ให้เปิดเผยข้อมูลสถานที่คุมขังลงเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ และให้ผู้บัญชาการเรือนจำมอบหมายพนักงานเรือนจำไปตรวจสอบสถานที่คุมขัง
- ให้ผู้ดูแลสถานที่คุมขังควบคุมให้ผู้ถูก ‘จำคุกนอกเรือนจำ’ ปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อห้ามที่ตกลงกันเอาไว้
- คณะทำงานมีสิทธิยื่นเพิกถอนการ ‘จำคุกนอกเรือนจำ’ หากพบว่าสถานที่ไม่อำนวยหรือผู้ต้องขังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง
ใครไม่เข้าเกณฑ์ ‘จำคุกนอกเรือนจำ’ บ้าง?
ในระเบียบดังกล่าวระบุผู้ที่ที่ไม่เข้าเกณฑ์จำคุกนอกเรือนจำไว้ ดังนี้
- ต้องโทษกักขังแทนจำคุก กักขังแทนค่าปรับ มีโทษปรับแต่ยังไม่ได้ชำระค่าปรับ หรือถูกกักกันตามคำสั่งของศาลหลังพ้นโทษ
- อยู่ระหว่างถูกดำเนินการหรือลงโทษทางวินัย
ที่ไหนจะถูกใช้เป็นสถานที่ ‘คุมขังนอกเรือนจำ’ บ้าง?
ในระเบียบดังกล่าวระบุจุดประสงค์และสถานที่คุมขังนอกเรือนจำไว้ว่า
- กรณีปฏิบัติตามระบบจำแนกและแยกการคุมขัง สามารถคุมขังได้ในสถานที่สำหรับที่อาศัย หรือสถานที่คุมขังตามกฎหมายที่ไม่ใช่เรือนจำ อาทิ พื้นที่เอกชนที่ราชการเช่าใช้ประโยชน์
- กรณีเพื่อพัฒนาพฤติกรรม หรือผู้ต้องโทษที่ศาลสั่งให้มีการติดตามพฤติกรรมและปรับปรุงนิสัย สามารถให้คุมขังได้ในหลายสถานที่ เช่น สถานที่ราชการ, สถานที่ราชการเช่า, สถานศึกษา, วัด, มัสยิด, สถานที่เอกชน, มูลนิธิ, สถานสงเคราะห์, สถานสำหรับสังคมสงเคราะห์
- กรณีรักษาพยาบาล สามารถคุมขังไว้ในโรงพยาบาล
ระเบียบดังกล่าวกำหนดไว้ว่าสถานที่ที่ใช้คุมขังข้างต้นต้องสามารถระบุสถานที่ได้ชัดเจน เช่น ถ้าในกรณีอสังหาริมทรัพย์ต้องมีทะเบียนบ้านชัดเจน ในกรณีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องมีเลขห้องหรือสัญลักษณ์อื่นที่ระบุชัดเจนว่าเป็นห้องใดระบุไว้ ที่สำคัญ ต้องเป็นสถานที่ที่สามารถติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น กำไล EM ได้
‘เกณฑ์กว้างขวาง และพึ่งดุลยพินิจมากเกินไป’ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ทำไมระเบียบนี้ถึงสำคัญต่อเรือนจำไทย? มันจะส่งผลต่อภาวะ ‘นักโทษล้นคุก’ ในเรือนจำไทยได้อย่างไรบ้าง? และแนวทางใหม่นี้มีเพื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ โดยเฉพาะหรือไม่? The MATTER ได้พูดคุยกับ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถึงประเด็นดังกล่าวทั้งหมด
ปริญญาอธิบายว่าที่มาของระเบียบนี้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ‘นักโทษล้นคุก’ ในเรือนจำไทย เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายอาญาไทยกำหนดบทลงโทษไว้ทั้งหมด 5 รูปแบบคือ ประหารชีวิต, จำคุก, กักขัง, ปรับ และริบทรัพย์สิน แต่ในความเป็นจริง แทบทุกการกระทำความผิดทางอาญามักต้องเดินหน้าเข้าสู่เรือนจำ เพราะปัญหาเรื่องการจ่ายค่าปรับและการขาดแคลนสถานที่กักขัง
“ปัจจุบันเราคิดว่ามาตรการป้องกันไม่ให้คนกระทำความผิดคือ ‘การจำคุก’ ซึ่งผลลัพธ์ของมันคือทำให้คุกล้น ความผิดจำนวนมากไม่จำเป็นต้องเอามาขัง มันสามารถใช้วิธีการอื่นแทนได้ แต่ระบบกฎหมายเรายังไม่ก้าวหน้าพอ”
ปริญญาเสริมว่าบางความผิดควรลงโทษด้วยการให้บริการสาธารณะเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่า เช่น คนเมาแล้วขับควรให้ไปดูแลโรงพยาบาลที่มีผู้เสียหายจากเหตุเมาแล้วขับ หรือคนตัดไม้เถื่อนควรต้องไปปลูกป่าเพิ่ม
ปริญญาอธิบายต่อว่า สถานการณ์นักโทษล้นคุกทำให้ผู้กระทำความผิดร้ายแรงได้โอกาสออกจากเรือนจำก่อนกำหนด ทั้งที่ยังไม่ปรับพฤติกรรม ดั่งที่เห็นได้จากการลดโทษสำหรับนักโทษชั้นดี ซึ่งในมุมของเขามันทำให้เรือนจำไม่ได้ทำหน้าที่ปรับพฤติกรรมให้ผู้กระทำความผิดเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ปริญญามองว่าระเบียบที่ออกมาใหม่นี้ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพียงพอ และพึ่งพิงดุลยพินิจของผู้บริหารกรมราชทัณฑ์มากเกินไป ทำให้ถูกมองว่าระเบียบนี้ออกแบบมาเพื่อผลประโยชน์ของใครบางคน เช่น ทักษิณ ชินวัตร
“ผมคิดว่ามันมีคนที่ควรช่วยเหลือจากระเบียบนี้อยู่ 3 กลุ่ม แต่ในระเบียบไม่ได้เขียนเรื่องเหล่านี้เอาไว้ และด้วยความที่เกณฑ์ในระเบียบนี้มันกว้างมาก และติดอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหารราชทัณฑ์มากเกินไป มันเลยชวนให้สงสัยว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อใครหรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่าต้องติดตามดูต่อไป” ปริญญากล่าว
เขาทิ้งท้ายว่ากลุ่มที่ราชทัณฑ์ควรโฟกัสในการลดโทษคือ ผู้กระทำความผิด 3 กลุ่ม ได่แก่
กลุ่มแรก ผู้ต้องขังที่เป็นผู้ต้องหาและจำเลย หรือศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผูับริสุทธิ์จนกว่าศาลพิพากษา ซึ่งปริญญาชี้ว่าในปัจจุบันมีคนกลุ่มนี้ถูกขังอยู่ในเรือนจำประมาณ 50,000 กว่าคน และรวมทั้งปีมากถึง 100,000 – 200,000 คน กรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัว หรือประกันตัวแต่ไม่มีเงิน
กลุ่มสอง ผู้ต้องขังที่เป็นนักโทษเด็ดขาด แต่ความผิดไม่ร้ายแรง เช่น กลุ่มที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ และควรระบุให้ชัดเจนว่าไม่นับรวมถึงกลุ่มไหน เช่น ฆาตกรต่อเนื่อง, พรากผู้เยาว์, คอรัปชั่น อย่างไรก็ดี นี่เป็นกลุ่มที่ราชทัณฑ์ไม่นับรวมอยู่ในเกณฑ์
กลุ่มสาม กลุ่มผู้ป่วย ถ้าป่วยจริงๆ ควรได้ประโยชน์ ปริญญาย้ำว่า “ถ้าป่วยจริงๆ นะ”
อ้างอิงจาก:
https://medias.thansettakij.com/media/pdf/2023/9Y8ZBKVukNtJ1pWXfFzP.pdf