สืบเนื่องจากช่วงเช้าของวันนี้ (15 ธันวาคม) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดเผยผลสำรวจว่า ผู้บริโภคพบปัญหาสัญญาอินเทอร์เน็ตช้า, สัญญาณหลุดบ่อย, โปรโมชั่นแพงขึ้น, แพคเกจราคาเท่ากันหมด และ Call Center โทรติดยาก หลัง ทรู-ดีแทค (TRUE-DTAC) ควบรวม จึงเสนอให้กสทช.ยกเลิกการควบรวมกิจการ เพื่อทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเป็นธรรมจากสินค้าและบริการ
แต่ล่าสุดบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา หลายฝ่ายอาจมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการให้บริการของเรา ซึ่งทางบริษัทได้ยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งเงื่อนไขภายหลังการควบรวมของ กสทช.มาโดยตลอด
พร้อมย้ำว่า การสื่อสารออกไปยังสาธารณะโดยมีความเข้าใจไม่ถูกต้องนั้น ก่อให้เกิดความสับสนและความเข้าใจผิดของผู้ได้รับข้อมูล และยังสร้างความเสียหายต่อบริษัทฯ ซึ่งหากมีประเด็นที่สงสัยหรือต้องการความชัดเจน สามารถติดต่อสอบถามโดยตรงกับบริษัทฯ
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัททรูฯ ยังชี้แจงประเด็นปัญหาต่างๆ โดยมีทั้งสิ้น 6 ข้อ ดังนี้
1. คุณภาพสัญญาณแย่ลงหลังควบรวม?
ข้อเท็จจริง: คุณภาพสัญญาณไม่ได้แย่ลงหลังควบรวม และในทางกลับกันสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5G และ 4G ของลูกค้าทรูและดีแทคกลับดีขึ้นกว่าเดิม จากการโรมมิ่งสัญญาณคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz โดยทรูไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะทำให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง
และในขณะนี้ ทรูกำลังเทคโนโลยีล้ำสมัยจัดการโครงข่ายด้วย ‘Single Grid’ ทำให้สัญญาณใช้งานดียิ่งขึ้น ลดการรบกวนของสัญญาณ และเพิ่มพื้นที่ใช้งานครอบคลุมทั่วไทยมากขึ้น คาดแล้วเสร็จภายในปี 2568
2. มีการลดเสาสัญญาณ จึงทำให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง?
ข้อเท็จจริง: ไม่มีการลดอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Cell Site) แต่อย่างใด แต่มีผู้เข้าใจผิดว่า เสาโครงเหล็กคืออุปกรณ์ส่งสัญญาณ ซึ่งความเป็นจริงแล้วเสาสัญญาณจะต้องประกอบด้วย เสาโครงเหล็ก (Tower) และ สถานีฐานระบบสื่อสัญญาณ โดยที่ผ่านมามีการปรับเสา (Tower) บางแห่งที่อยู่ในจุดซ้ำซ้อน เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน
จึงสรุปได้ว่าไม่มีการปรับลดระบบสื่อสัญญาณ ในทางกลับกันทางเรามีการติดตั้งระบบฯ เพิ่มขึ้นอีก 5,000 สถานีฐาน เพื่อขยายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และทำให้ 5G ครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วประเทศยิ่งขึ้น
3. ปัจจุบันมีการขยายเครือข่าย 5G ครอบคลุมแล้วหรือไม่ ลูกค้าแพคเกจไหนถึงมีสิทธิ์ใช้ 5G?
ข้อเท็จจริง : ปัจจุบันโครงข่าย 5G ของทรู-ดีแทค ครอบคลุม 90% และตั้งเป้าขยายให้ครอบคลุมประชากรถึง 97% ภายในปี 2568 ขณะที่โครงข่าย 4G ของทรู-ดีแทค ครอบคลุมประชากร 99%
ซึ่งปัจจุบันหลังควบรวม ทุกแพคเกจสามารถใช้งาน 5G ได้ หากเครื่องมือที่ใช้งานรองรับ รวมถึงยังส่งผลให้ผู้ใช้บริการแพคเกจราคาประหยัดก็สามารถเข้าถึงบริการ 5G ได้เช่นกัน โดยไม่ต้องเปลี่ยนมาใช้แพคเกจใหม่
4. ไม่สามารถใช้แพคเกจเดิมได้ต่อไป มีการบังคับให้ต้องเปลี่ยนเป็นแพคเกจราคาสูงขึ้น?
ข้อเท็จจริง : ในการให้บริการตามปกติทุกแพคเกจมีกำหนดอายุการใช้งานตามสัญญา ดังนั้นเมื่อใกล้จะครบกำหนดการปรับเปลี่ยนแพคเกจ บริษัทฯ จะมีการส่ง SMS แจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า 30 วัน โดยจะเสนอแพคเกจที่น่าจะเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ลูกค้า
แต่หากลูกค้าไม่ต้องการเปลี่ยนแพคเกจตามที่เสนอ ลูกค้ารายเดือนสามารถเลือกใช้งานแพคเกจเดิม หรือสมัครแพคเกจอื่นๆ ได้ตามปกติ และลูกค้าเติมเงินสามารถเลือกแพคเกจอื่นๆ ได้เช่นกัน
5. แพคเกจราคาแพงขึ้น?
ข้อเท็จจริง: มีการเสนอแพคเกจโทรศัพท์จำนวนมากและหลากหลายโดยแต่ละแพคเกจมีเงื่อนไขการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้ผู้ใช้บริการเลือกแพคเกจที่ตรงกับความต้องการของตนมากที่สุด โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป ลูกค้าสามารถเลือกได้ทั้งแบบเติมเงินและรายเดือน
6. แพคเกจใช้งานแบบไม่จำกัด (Unlimited) ไม่จริง?
ข้อเท็จจริง: บริษัทฯ ยังคงมีโปรโมชั่นแบบไม่จำกัดให้ลูกค้าเลือกใช้งาน โดยสำหรับลูกค้ารายเดือนจะมีแพคเกจเน็ตไม่อั้นที่ความเร็วสูงสุดให้เลือกใช้ นอกจากนี้ สำหรับแพคเกจที่จำกัดปริมาณบนความเร็วสูงสุด (Volume) หลังจากมีการใช้งานครบปริมาณแล้ว บริษัทฯ ได้ปรับความเร็วให้ลูกค้าใช้งานได้ต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับแพคเกจของลูกค้า
สำหรับลูกค้าเติมเงินสามารถเลือกใช้แพคเน็ตไม่อั้นที่มีการใช้งานแบบจำกัดความเร็ว (Fixed speed) เลือกได้ตามความเร็วที่ต้องการ และ ระยะเวลาที่ต้องการใช้งาน (เช่น 1 วัน 7 วัน 30 วัน เป็นต้น)
อ้างอิงจาก