หลัง กสทช. มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมทรู–ดีแทค พร้อมกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ ‘พิรงรอง รามสูต’ หนึ่งในคณะกรรมการได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเหตุผลที่สงวนความเห็น และเป็นเสียงส่วนน้อยในการพิจารณาควบรวม
พิรงรองเผยว่า ตัดสินใจสงวนความเห็นที่จะรับทราบการควบรวมธุรกิจ และยืนยันที่จะไม่อนุญาต เพราะเห็นว่ากรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแง่การลดหรือจำกัดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
หนึ่งในคณะกรรมการเสียงข้างนอกระบุด้วยว่า ได้อาศัยอำนาจตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยมีเหตุผลสนับสนุน 7 ข้อหลัก ดังนี้
#ตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่แค่2ราย
หากรวมธุรกิจทรูดีแทคแล้ว จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ (NewCo) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทรูและดีแทค ซึ่งจะทำให้ทั้งทรูและดีแทคกลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบาย–มีอำนาจสั่งการเหมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (single economic entity) ที่ไม่มีการแข่งขันระหว่างกันตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแข่งขั้นทางการค้า และภายหลังการรวมธุรกิจ บริษัทแม่จะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 49.40% และทำให้ในตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย ซึ่งเป็นสภาวะ Duopoly
#ผลการศึกษาชี้ว่าสร้างผลกระทบมากกว่าผลดี
SCF Associates Ltd. บริษัทที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันและนโยบายการสื่อสารระดับโลก ได้ศึกษาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ และสรุปผลที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภค มากกว่าข้อดี นอกจากนี้ มาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ทั้งหมดในบริบทของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย เช่น การสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) รายใหม่ เป็นต้น
#เงื่อนไขและมาตรการอาจไม่ช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาด
การกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้ และอาจเป็นไปได้ยากในภายหลังจากการควบรวมด้วย ซึ่ง กสทช. จะต้องใช้อำนาจทางกฎหมายและทรัพยากรในการกำกับดูแลอย่างมาก แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้อย่างที่เคยเป็นหรือไม่
#ข้อมูลที่แสดงถึงประโยชน์สาธารณะไม่ชัดเจน
ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะจากเอกสารประกอบขอรวมธุรกิจ ยังไม่ชัดเจนและเพียงพอ
#ขัดต่อรัฐธรรมนูญและแม่บทกิจการโทรคมนาคม
การควบรวมอาจนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัด ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม. 40, 60, 61 และ 75 รวมทั้งยังขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 ที่ต้องเพิ่มระดับการแข่งขันของการประกอบกิจการโทรคมนาคม
#ส่งผลกระทบระยะยาวและอาจหวนคืนไม่ได้
การควบรวมจะส่งผลกระทบกว้างขวางและต่อเนื่องในระยะยาว และมีโอกาสหวนคืนจากภาวะผูกขาดกลับไปสู่ภาวะแข่งขันก่อนรวมธุรกิจไม่ได้ เพราะตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไทยอยู่ในภาวะอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ยาก
#หนึ่งในผู้ขอรวมใกล้ชิดกับธุรกิจครบวงจรรายใหญ่
หนึ่งในผู้ขอรวมธุรกิจมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจครบวงจร (conglomerate) รายใหญ่ที่ครอบครองตลาดสินค้าและบริการในระดับค้าปลีกและค้าส่งของทั้งประเทศ จึงมีโอกาสที่จะขยายตลาดโดยใช้กลยุทธ์ขายบริการแบบเหมารวม ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการรายอื่น
อ้างอิงจาก