กลายเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง หลังมีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งออกมาตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากที่ TRUE- DTAC ควบรวมกันแล้ว ก็พบว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตช้าลง ทั้งยังมีค่าบริการที่แพงขึ้น ซึ่งล่าสุด ทาง กสทช.ก็ได้เรียก ผู้บริหาร TRUE-DTAC ให้ไปชี้แจงประเด็นราคาและคุณภาพสัญญาณหลังการควบรวม
ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับการควบรวมของ TRUE- DTAC? The MATTER สรุปไว้ให้แล้ว
1. ย้อนกลับไปก่อนที่จะมีการควบรวม ตลาดของธุรกิจโทรคมนาคม นับว่าเป็นตลาดที่มีผู้ขายน้อยราย โดยในไทยมีผู้แข่งขันหลัก 4 เจ้า ได้แก่ AIS, TRUE, DTAC และ NT (โทรคมนาคมแห่งชาติ)
ในภาพรวม TRUE ครอง 30.74%, DTAC ครอง 8.39%, AIS ครอง 44.10% และ NT ครอง 16.77% โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
– ส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือ
-
- AIS 46.80%
- TRUE 32.50%
- DTAC 17.80%
- NT 2.80%
– ส่วนแบ่งตลาดอินเทอร์เน็ตมือถือ
-
- AIS 46.80%
- TRUE 30.40%
- DTAC 20.80%
- NT 1.90%
2. มีรายงานว่าบริษัท บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจรจาเข้าซื้อกิจการบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ทำให้หุ้นของทั้งสองแห่งพุ่งขึ้น รวมไปถึงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เทเลนอร์ กรุ๊ป บริษัทแม่ของ DTAC ก็มีข่าวเรื่องการขายหุ้นมาโดยตลอด
3. ต่อมา เทเลนอร์ กรุ๊ป เข้าเจรจากับ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) เกี่ยวกับการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC ท่ามกลางข้อกังวลเรื่องการผูกขาดตลาดที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าบริการที่อาจแพงขึ้น คุณภาพสัญญาณอาจแย่ลง ตัวเลือกผู้ให้บริการน้อยลง และผู้ใช้ที่มีกำลังซื้อต่ำถูกละเลย อันเป็นผลเนื่องมาจากการผูกขาดหลังการควบรวม
4. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 กลุ่มเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท โทเทิ่ล ประกาศว่าจะควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคมกับบริษัททรู
5. วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ประชุม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติรับทราบการควบรวมกิจการของ TRUE-DTAC โดยมีเสียงของประธานเป็นผู้ชี้ขาด
ในการประชุม ที่ประชุมได้พิจารณาว่าการรวมธุรกิจนี้ เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียว ตามมาตราการป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ โดยสุดท้ายก็มีผลการลงมติเสียงข้างมากคือ ‘ไม่เป็น’ การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อกังวลไว้จำนวน 5 ข้อ และเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ คือ
* ค่าบริการ: ในระยะสั้นให้ลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลง 12% จากอัตราค่าบริการขั้นสูงตามกฎหมาย และในระยะยาวคือ การใช้ต้นทุนเฉลี่ยของบริษัทมากำหนดอัตราค่าบริการส่วนเกินโปรโมชั่น ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายค่าบริการที่เกินจากโปรโมชั่นในราคาที่แพงเกินไป
ทั้งนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ในอนาคต เอกชนอาจแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกโปรโมชั่นขนาดเล็ก เพื่อบังคับให้ผู้บริโภคซื้อโปรโมชั่นแบบแพงตั้งแต่ต้น และเอกชนก็อาจขึ้นราคาแพ็กเกจมาชดเชยส่วนที่หายไป
* การแข่งขัน: เงื่อนไขมุ่งเน้นไปที่การปรับกติกาเพื่อเอื้อให้ MVNO (ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน) อยู่รอดได้มากขึ้น โดยกำหนดว่า ราคาขายส่งต้องต่ำกว่าราคาขายปลีกไม่น้อยกว่า 30% เพื่อเป็นส่วนต่างให้ MVNO ทำกำไรได้หากประกอบธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และห้ามบังคับซื้อในปริมาณที่ MVNO ไม่สามารถนำไปขายต่อได้หมดจนก่อให้เกิดการขาดทุน
อย่างไรก็ตาม สิ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคชี้ให้เห็นว่าหายไปเมื่อเทียบกับเงื่อนไขของต่างประเทศ คือ การเพิ่มผู้ให้บริการรายใหม่ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (Mobile Network Operator: MNO)
* ข้อกังวลคุณภาพการให้บริการ: มีเงื่อนไขห้ามลดจำนวนสถานีฐานลงจากเดิม และต้องรักษาจำนวนพนักงาน จำนวนคู่สายการให้บริการ ตลอดจนพื้นที่ศูนย์บริการให้พอที่จะรักษาคุณภาพการให้บริการไม่ต่ำกว่าเดิม เพื่อสร้างหลักประกันว่า คุณภาพบริการภายหลังควบรวมจะไม่แย่ลง
แต่สิ่งที่สภาองค์กรผู้บริโภคกังวลคือ บริษัทอาจจะลดต้นทุนหลังการควบรวม โดยลดจำนวนพนักงาน ศูนย์บริการ หรือแม้แต่สถานีฐาน ก็จะไม่เกิดขึ้น
* ข้อกังวลการถือครองคลื่นความถี่: ตามกฎหมายระบุว่า สิทธิในคลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัว จะให้ผู้อื่นประกอบกิจการแทนไม่ได้ และจะโอนคลื่นความถี่ไม่ได้จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจาก กสทช.
“สิ่งที่หายไปในเงื่อนไขของ กสทช.คือ ภายหลังควบรวมจะเกิดบริษัทใหม่ที่มีอำนาจเหนือคลื่นที่บริษัทลูกถือครองทำให้มีปริมาณคลื่นเกินกว่าเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ เท่ากับว่า เกณฑ์การประมูลไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ หากอยากได้คลื่นเพิ่มเกินเกณฑ์ก็ไล่ควบรวมกิจการไปเรื่อยๆ ในภายหลัง ซึ่ง กสทช. ก็จะไม่มีวิธีการจัดการ” สภาองค์กรผู้บริโภคระบุ
* นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล: มีการกำหนดให้ขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมภายใน 3-5 ปี และต้องมีโปรโมชั่นสำหรับผู้ด้อยโอกาส รวมถึงต้องมีแผนพัฒนานวัตกรรมใน 60 วัน สิ่งที่ปรากฏก็คือ เอกชนมีแผนที่จะขยายโครงข่าย 5G เองอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี สภาองค์กรผู้บริโภคระบุว่า หลังจากที่ควบรวมสำเร็จแล้ว การประมูล 6G ครั้งต่อไป ก็จะมีผู้ให้บริการรายใหญ่เข้าประมูลเพียง 2 ราย ไม่เกิดการแข่งขันกันเรื่องราคา ผู้ประกอบการก็จะไม่แข่งกันขยายโครงข่ายอย่างเช่นในปัจจุบัน
ส่วนโปรโมชั่นสำหรับผู้ด้อยโอกาส ทางสภาองค์กรผู้บริโภคเห็นว่า สุดท้ายจะเป็นการกำหนดราคาให้ต่ำกว่าโปรโมชั่นทั่วไป และแผนพัฒนานวัตกรรมก็ไม่ได้มีบทบังคับให้ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด
6. หลังจากที่ที่ประชุม กสทช.มีมติรับทราบการควบรวมแล้ว วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่าย ก็ได้เข้ายื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง ให้เพิกถอนมติ ‘รับทราบ’ การควบรวมธุรกิจ เนื่องจากก่อนมีการลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อนกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ อีกทั้ง ในการลงมติฯ ประธานได้ออกเสียงชี้ขาดขัดต่อระเบียบของ กสทช.อีกเช่นกัน
พร้อมกันนี้ ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคยังขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วยการชะลอการบังคับใช้มติดังกล่าวจนกว่าจะศาลจะมีคำพิพากษา
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ว่า การลงมติของ กสทช.ขัดต่อกฎหมาย กระบวนการดำเนินการยังมีปัญหา และมาตรการที่ออกมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคก็ไม่มีการรับฟังความเห็น
รวมถึง สารียังระบุอีกว่า การรับทราบดีลควบรวม ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคกว้างขวาง และขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนจะพิพากษา เพราะหากไม่คุ้มครอง บริษัทดำเนินการควบรวม ก็อาจกระทบต่อนักลงทุน–ผู้ถือหุ้นรายย่อย อำนาจในการระงับการผูกขาด คืออำนาจของ กสทช. ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่องค์กรกลับไม่ทำ
“สิ่งที่เราอยากเห็น คือ อยากให้ กสทช. ใช้อำนาจตัวเองตามกฎหมายในการพิจารณาเรื่องนี้ ไม่ใช่ดำเนินการในระดับรับทราบ” สารี กล่าว
7. ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องของสภาองค์กรของผู้บริโภค แต่ในวันที่ 16 ธันวาคม 2565 มีคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา กรณีขอให้ชะลอการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู และบริษัท โทเทิ่ล ส่วนประเด็นที่ว่ามติ กสทช. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ยังต้องพิจารณาต่อไป
8. ท่ามกลางข้อกังวลเรื่องการผูกขาดของสองค่ายมือถือ ในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา การควบรวมของ TRUE-DTAC ก็เสร็จสมบูรณ์ เมื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าได้จดทะเบียนควบรวมกิจการกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ ‘บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’
9. ในวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้อง กสทช. กรณีการควบรวมของ TRUE-DTAC โดยศาลให้เหตุผลว่า แม้คดีจะยื่นฟ้องเมื่อเลยกำหนดระยะเวลาไปแล้ว แต่บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ทั้งตลาดโทรคมนาคมมีลักษณะการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ ดังนั้น การควบรวมธุรกิจจึงกระทบต่อการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และอาจทำให้ผู้ใช้บริการกระทบในวงกว้าง
10. อย่างไรก็ดี หลังจากที่ TRUE และ DTAC ควบรวมกับเรียบร้อยแล้ว ผู้บริโภคหลายคนก็ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่แย่ลง ค่าบริการที่แพงขึ้น ถูกเปลี่ยนแพ็กเกจโดยไม่ได้ถามผู้ใช้งานก่อนเป็นต้น
11. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดเผยผลสำรวจเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ระบุ ผู้บริโภคพบปัญหา สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า, สัญญาณหลุดบ่อย, โปรโมชั่นแพงขึ้น, แพ็กเกจราคาเท่ากันหมด, และคอลเซ็นเตอร์โทรติดยาก หลัง TRUE-DTAC ควบรวม พร้อมเสนอให้ กสทช.ยกเลิกการควบรวมกิจการ เพราะปัญหาที่เกิด สะท้อนปัญหาการผู้ขาด ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสินค้าและบริการ
12. ในวันเดียวกันนั้น (15 ธันวาคม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ได้ออกมาระบุว่า ที่ผ่านมา หลายฝ่ายมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ทางบริษัทได้ยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย และปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการควบรวมของ กสทช.มาโดยตลอด พร้อมกับชี้แจงในประเด็นที่หลายคนเข้าใจผิด อาทิ คุณภาพสัญญาณไม่ได้แย่ลงหลังควบรวม ไม่มีการลดอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Cell Site) บริษัทฯ จะมีการส่ง SMS แจ้งให้ลูกค้าทราบก่อนเปลี่ยนแพ็กเกจล่วงหน้า 30 วัน และยังเสนอแพ็กเกจที่หลากหลายให้กับลูกค้า เป็นต้น
13. ต่อมา ทาง กสทช.ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า ติดตามการดำเนินงานหลังการควบรวม TRUE-DTAC มาโดยตลอด และยังไม่พบว่า อัตราค่าบริการ เกินกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้
รวมถึง จากการติดตามปัญหาร้องเรียนกว่า 600 เรื่องตามที่เป็นข่าว พบว่า มีเพียง 17 เรื่อง ที่เป็นปัญหาด้านคุณภาพสัญญาณ และยังพบว่าทางบริษัทได้ทำตามเงื่อนไขการลดเพดานอัตราค่าบริการเฉลี่ยลง 12% ภายใน 90 วัน
นอกจากนี้ กสทช.ยังได้สุ่มตรวจสปีดความเร็วของอินเทอร์เน็ตในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ 77 จังหวัด พบว่า คุณภาพการให้บริการไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้
14. ในวันนี้ ยังมีรายงานว่า กสทช.เรียก ผู้บริหาร TRUE-DTAC ชี้แจงการดำเนินมาตรการดูแลผู้บริโภค ทั้งเรื่องราคาและคุณภาพสัญญาณหลังการควบรวม
“สำนักงาน กสทช. ต้องเร่งทำความเข้าใจและสร้างความชัดเจนใน 2 เรื่อง คือ การส่งเสริมการขายของบริษัท และคุณภาพการให้บริการอยู่ในเกณฑ์หรือไม่ เพราะมีผู้ใช้บริการหลายสิบล้านคนที่เขาต้องดูแล แล้วคนที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มไหน อยู่ในพื้นที่ไหน เป็นจำนวนเท่าไร สำนักงาน กสทช. ต้องเร่งเข้าไปหาต้นตอของปัญหา และแก้ไขโดยด่วน ต้องบอกสังคมด้วยปัญหาอยู่ตรงไหน และแก้ไขอย่างไรบ้าง”
อ้างอิงจาก
thematter.co(2)(3)(4)(5)(6)(7)(8)