หลังจากที่ฝ่ายค้านตั้งคำถามถึงงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้น ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ วันนี้ (5 มกราคม) ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2567 สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้ออกมาชี้แจงว่า เมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ งบประมาณของกองทัพไม่ได้สูง แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ลดลงเท่านั้น
สุทินกล่าวว่า เคยคิดว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมนั้นสูง แต่เมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ กลาโหมอยู่อันดับที่ 4 เพราะฉะนั้นจึงถือว่างบไม่ได้มาก
สำหรับประเด็นที่ฝ่ายค้านถามว่า ทำไมถึงไม่ลดงบประมาณลง เพราะตอนนี้ประเทศกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตนั้น สุทินก็กล่าวว่า “ถ้าดูจริงๆ มันคือลดอยู่”
สุทินอธิบายว่า วิธีคิด-วิธีจัดงบประมาณของกลาโหม ไม่เหมือนกระทรวงอื่นๆ เพราะไม่ได้จัดบนฐานข้อมูลงบประมาณปีเดิม โดยกระทรวงอื่นอาจจะใช้ฐานเดิมแล้วปรับเป็นเปอร์เซ็นต์ขึ้นได้ แต่กลาโหมต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของประเทศด้วย
ถ้าประเทศสงบ ไม่มีภัยคุกคาม สุทินระบุว่ากระทรวงจัดงบระดับหนึ่ง แต่ถ้ามีสัญญาณว่าจะมีภัยคุกคาม ก็จำเป็นต้องจัดงบประมาณเพิ่มขึ้น
อีกทั้ง สุทินยังระบุว่าต้องดูประเทศคู่แข่ง ประเทศที่คิดว่าจะเป็นภัยคุกคาม ถ้าประเทศนั้นพัฒนาไปไกลแล้ว ประเทศไทยจะจัดงบกลาโหมไว้เท่าเดิมไม่ได้ เพราะเมื่อรู้ว่าประเทศไทยวิกฤต แต่รู้ว่าคู่แข่งซื้ออาวุธที่เป็นภัยคุกคาม ไทยก็ต้องเพิ่มศักยภาพเพื่อสู้กับเขา
“จริงๆ เราไม่ลดก็เหมือนลด…เป็นการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ลดลง” สุทินอธิบายว่าถ้าดูตัวเลขแล้ว ยอดรวมอาจจะสูงขึ้น แต่เมื่อดูตัวเลขงบประมาณแผ่นดินจะพบว่าปีนี้ งบประมาณแผ่นดินทั้งหมดสูงขึ้น 9.9% แต่ของกลาโหมสูงขึ้น 1.2% เท่านั้น และเมื่อคิดกับอัตราเงินเฟ้อก็เรียกได้ว่าแทบไม่ได้ขึ้นงบประมาณเลย
นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องทหารเกณฑ์ สุทินชี้แจงว่าจะไม่ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่จะใช้วิธีการจูงใจให้คนเข้ามาสมัครเป็นทหารแทน เนื่องจากถ้างดการเกณฑ์ทหารไปเลย จะเป็นวิธีการที่เรา ‘ปิดทางตัวเอง’ เพราะถ้าเกิดสถานการณ์จำเป็นแล้ว กองทัพจะไม่สามารถไปเกณฑ์ใครได้ ดังเช่นในสงครามรัสเซีย-ยูเครน
“หลายประเทศกลับมาเกณฑ์ทหารเหมือนเดิม แล้วผมทำไง ผมก็ทำวิธีจูงใจให้คนมาสมัครทหารเยอะๆ” สุทินกล่าว
วิธีการจูงใจนั้น สุทินอธิบายว่าต้องปรับลดยอด โดยต้องพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับวางแผน เช่น จะให้มี learning center ในค่ายฝึกเพื่อให้คนที่กำลังศึกษาอยู่ไม่ต้องหยุดเรียน ไม่หักเงินเดือน มีโอกาสเข้ารับราชการเป็นต้น