“มันโบราณ ล้าหลัง ก็พูดความจริง การมีทหารมันดี ผมต้องยอมรับว่าเรายังต้องมีทหารอยู่ แต่มันไม่น่าใช้การเกณฑ์แล้ว เพราะเด็กบางคนน่าจะมีอนาคตที่ดีกว่าตรงนี้” เสียงจากพ่อคนหนึ่ง ที่มาเฝ้ารอดูลูกชายจับใบดำใบแดง
การเกณฑ์ทหาร หรือการตรวจเลือกทหารกองเกิน เข้ารับราชการทหารกองประจำการ กลับมาแล้วอีกครั้ง โดยครอบคลุมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 จนถึง 12 เมษายน 2567 เว้นวันจักรี (6 เมษายน)
และนี่ยังเป็นหนึ่งในหน้าที่ของชายไทย แม้ในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล จะมีนโยบาย “แก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ” ก็ตาม
ในวันที่ชายไทยต้องจับใบดำ-ใบแดงเพื่อตัดสินชะตาชีวิต The MATTER ชวนฟังเสียงสะท้อนและความรู้สึกของครอบครัว ซึ่งรอให้กำลังใจพวกเขาเหล่านั้นอยู่ข้างหลัง
‘อรทัย’
รอลูกชาย ‘อนุสรณ์’ จับใบดำใบแดง
“ลุ้นค่ะ ก็ตื่นเต้นแทนลูก ไม่อยากให้ลูกเป็น” เธอเล่าขณะมารอลูกชายจับใบดำใบแดงที่โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง
‘อรทัย’ ผู้เป็นแม่ เล่าว่า ‘อนุสรณ์’ ลูกชาย ทำงานก่อสร้าง เพื่อช่วยแม่หารายได้อีกทางในการเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งเธอยอมรับว่า หากจับได้ใบแดงและไปเป็นทหาร รายได้ก็จะลดลง
“[กังวล] เรื่องรายได้นี่แหละค่ะ แล้วก็ห่วงเขาด้วย ฝึกหนักไม่กลัว กลัวตามที่ข่าวออก
“ความรู้สึกแม่ก็ว่า [การเกณฑ์ทหาร] ไม่มีก็ดี” เธอกล่าว
‘พันธุ์ธัช’
รอลูกชาย ‘ภควัต’ จับใบดำ-ใบแดง
“คือมันเป็นกฎของโลก และกฎของสังคมว่า เราต้องมีคนป้องกัน บ้านต้องมีรั้ว เพราะฉะนั้น ทหารก็ต้องเป็น เป็นเพื่อป้องกันรั้วของเรา แต่เพียงว่า ในการคัดทั้งหมดที่ผ่านมา เราใช้ขั้นตอน กระบวนการ หรือวิธีการ ไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้น ตรงนี้ต้องปรับเปลี่ยนตามปัจจุบัน ว่าอะไรคือเหมาะสม”
นั่นคือทัศนะของ ‘พันธุ์ธัช’ ซึ่งมารอลูกชายจับใบดำ-ใบแดง
“มันเป็นกฎหมายที่มีอยู่ เราจะไปฝืนตรงนี้ก็คงจะทำไม่ได้ แต่ถามว่าเห็นด้วยไหม มันยังไม่เป็นไปตามสมัย ปัญหาคือ ลูกเราจบแล้วต้องทำงาน กับการมาเป็น [ทหารเกณฑ์] มันขัดแย้งบางอย่างอยู่ โอเค ใจอาจจะอยากป้องกัน [ประเทศ] แต่ว่าเราต้องทำหน้าที่ เรื่องของเศรษฐกิจ”
เขามองด้วยว่า ในโลกปัจจุบันซึ่งเน้นเรื่องของเศรษฐกิจ การเกณฑ์ทหารควรจะปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ วิธีหนึ่งที่เขาเห็นด้วยคือ ให้เป็นทหารระหว่างเรียนไปเลย ซึ่งได้ทั้งระเบียบวินัย และได้เรียนไปด้วย โดยไม่ต้องเสียเวลาทำงานในภายหลัง
“พอดีเขาร่างกายเขาไม่ตรงตามที่กฎหมายต้องการ ก็รอว่าเป็นตามนั้นหรือเปล่า” เขาเล่าถึง ‘ภควัต’ ลูกชาย
‘ชิษณุพงศ์’
รอลูกชาย ‘ไอยูบ’ จับใบดำ-ใบแดง
“[การเกณฑ์ทหาร] มันโบราณ ล้าหลัง ก็พูดความจริง การมีทหารมันดี ผมต้องยอมรับว่าเรายังต้องมีทหารอยู่ แต่มันไม่น่าใช้การเกณฑ์แล้ว เพราะเด็กบางคนน่าจะมีอนาคตที่ดีกว่าตรงนี้”
‘ชิษณุพงศ์’ บอกกับเรา – ซึ่งเรารับรู้ผ่านสีหน้าได้ทันที ว่าเขาไม่พอใจกับพิธีกรรมเกณฑ์ทหารที่จัดขึ้นทุกปีในเดือนเมษายน สำหรับเขา การเกณฑ์ทหารล้าหลัง เปรียบเสมือนมีบัตรประชาชน ‘สมาร์ตการ์ด’ (smart card) แต่ยังต้องใช้ปากกาเขียน และนอกจากนี้ เขายังมองมันว่าเป็น ‘แหล่งทุจริต’ อีกด้วย
“ก็พูดถึงว่า ถ้าอยากให้คนเป็นทหารจริงๆ ทหารเกณฑ์เป็นแค่ 2 ปี ทำไมไม่ให้เงินเดือน 30,000 บาท แล้วครบ 2 ปีก็จบกันไป อย่างนี้คนก็อยากมาเป็น นี่หมื่นเดียว ผมขับวินผมก็ได้แล้วหมื่นเดียว ไม่ต้องมาเป็นทหาร” เขาพูดถึงการสร้างแรงจูงใจ ที่จะเป็นทางออกให้กับปัญหาเรื่องเกณฑ์ทหาร
“[ลูกชาย] เรียนจบวิศวกรรมรถไฟ ต้องได้ใบดำ ไม่งั้นบรรจุไม่ได้ เพราะว่าเป็นหน่วยงานราชการ ยังไม่ได้เริ่ม [ทำงาน ก็ต้องวัดดวง” เขาว่า ก่อนจะบอกอีกว่า หากลูกชายได้ใบแดงขึ้นมา “ก็เรื่องใหญ่”
‘บีม’
รอแฟน ‘เคน’ มาผ่อนผัน
“คิดว่าเสียเวลา” คือคำตอบที่ ‘บีม’ กล่าวกับ The MATTER หลังถูกถามถึงความรู้สึก ที่ต้องมารอ ‘เคน’ แฟนหนุ่ม ทำเรื่องผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร ที่โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง
‘บีม’ เล่าว่าแฟนหนุ่มกำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยย่านรังสิต หากแต่ต้องมาทำเรื่องผ่อนผันที่สถานที่ทำการตรวจเลือกฯ ที่ตั้งอยู่ในย่านเอกมัย
“ต้องตื่นเช้าด้วย แล้วก็มา แล้วก็ต้องกลับไปเรียนอีก เรียนที่รังสิต ก็รู้สึกว่ามันเสียเวลา”
‘ป้ากิ๊บ’
รอลูกชาย ‘โชกุน’ จับใบดำ-ใบแดง
“ไม่อยากให้ลูกเป็น เขาสมาธิสั้น”
‘ป้ากิ๊บ’ พาลูกชาย ‘โชกุน’ มารับการตรวจเลือกทหารกองเกิน เข้ารับราชการทหารกองประจำการ (เกณฑ์ทหาร) ที่โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ตั้งแต่เวลา 07.00 น. และ ‘กลัว’ คือคำที่เธอใช้อธิบายความรู้สึก เพราะเห็นด้วยว่า หากได้เข้าไปรับราชการแล้ว ก็จะมีแต่ความไม่แน่นอน
ขณะนี้ ‘โชกุน’ ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะอาการสมาธิสั้น แต่วันนี้ต้องมาจับใบดำใบแดงเพื่อตรวจเลือกเป็นทหารเกณฑ์ “ไม่ได้เรียน” ป้ากิ๊บเล่า “เพราะว่า ไปโรงเรียนเขาเรียนไม่รู้เรื่อง พูดอะไรมา เขาก็ฟังได้แป๊บเดียว เขาก็ลืม”