หลังจากเกิดเหตุรางจ่ายไฟของรถไฟฟ้าสายสีชมพูร่วงไป ยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ดี สายสีเหลืองก็เกิดเหตุล้อประคองหลุด จนหลายคนอดไม่ได้ที่ว่าบอกกันว่าทุกวันนี้จะเดินทางไปไหนมองแค่ซ้ายขวา หน้าหลังไม่ได้แล้ว เพราะยังต้องมองบน กังวลว่าจะมีอะไรหล่นลงมาอีกด้วย
แล้วอย่างนี้ความปลอดภัยของประชาชนอยู่ตรงไหนกัน? วันนี้ (5 มกราคม) The MATTER จึงเดินทางไปพูดคุยกับ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.จากพรรคก้าวไกล และรองประธาน กมธ.การคมนาคมเพื่อมาพูดคุยถึงประเด็นรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง
- กรณีรถไฟฟ้าสายสีชมพู
“มันเป็นอุบัติเหตุจริง แต่ถามว่าเราสามารถระวังให้ดีกว่านี้ได้หรือไม่? เราทำได้ ถ้าเราใส่ใจกับเรื่องนี้” สุรเชษฐ์กล่าว
อุบัติเหตุดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 จากการที่รถก่อสร้างยกของขึ้นไปกระแทกรางจ่ายไฟฟ้าที่ติดอยู่บนคานวิ่ง ทำให้รางหลุดออกจากจุดยึด ไปโดนจุดเชื่อมต่อราง
เมื่อรถไฟฟ้าตรวจสอบราง วิ่งมาถึงจุดเกิดเหตุ ก็ลากเอาชิ้นส่วนฉนวนครอบรางติดไปกับตัวรถด้วย รางจ่ายไฟหลุดร่วงลงไปโดนรถยนต์ที่จอดอยู่ แล้วเกี่ยวเสาไฟฟ้าเอนไปด้วย
ตรงนี้เอง ที่ทำให้สุรเชษฐ์มองว่า ถ้าเรามี ‘วัฒนธรรมความปลอดภัย’ ที่ดี มีการระวัง ไม่ให้รถเครนไปทำงานแถวนั้นจนไปเกี่ยวราง หรือมีกฎระเบียบ เช่นกำหนดให้มีเขตควบคุมพิเศษ ถ้าใครจะล้ำเส้นนั้นเข้าไปก็ต้องไปขออนุญาตก่อน ก็จะช่วยให้เกิดความปลอยภัยขึ้นมาได้
วัฒนธรรมความปลอดภัยนี้ ยังจำเป็นต้องมีในขั้นตอนการวางแผนด้วยเช่นกัน
สุรเชษฐ์กล่าวว่า ถ้าออกแบบวางแผนโดยใส่ใจเรื่องความปลอดภัย รางจ่ายไฟจะไม่มีทางที่จะร่วงลงมาถึง 5 กม. เพราะในขั้นตอนดังกล่าว วิศวกรจำเป็นต้องนึกถึงความผิดพลาดหลายๆ ประการ อย่างในกรณีนี้ ถ้าตัดช่วงข้อต่อให้สั้นลง รางก็อาจจะพังลงมาแค่ 500 เมตรก็ได้
อย่างไรก็ดี สุรเชษฐ์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายที่เข้ามากำกับดูแลในประเด็นเรื่องความปลอดภัยของระบบราง แต่แม้ว่าจะไม่มีกฎหมาย ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ต้องเข้ามาดูแลอยู่ดี
- กรณีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
อุบัติเหตุของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเกิดจากล้อประคองหลุดร่วงลงมาเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา เบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่าอาจเกิดจากข้อบกพร่องในขั้นตอนการผลิตจากโรงงาน โดยสุรเชษฐ์มองว่าปัญหานี้ เป็นเรื่องที่โชคร้ายจริงๆ เพราะล้ออาจเกิดปัญหาตั้งแต่ในโรงงานผลิต เหมือนกรณีที่รถยนต์เจอข้อบกพร่องแล้วต้องเรียกรถคืน ซึ่งไม่ใช่เรื่องของความไม่ระมัดระวัง
“ผมมองเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ ในแง่ของรัฐที่จะลงไปลึกขนาดนั้นก็คงยาก เพราะมีอุปกรณ์เป็นหมื่นๆ ชิ้น” สุรเชษฐ์กล่าว
แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือสอบสวนเชิงลึก ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลก็กำลังดำเนินการอยู่ ด้านบริษัทเองก็ต้องไปตรวจสอบเชิงลึก พร้อมกับรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
- อุบัติเหตุที่สืบเนื่องมาจากรถไฟฟ้าไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ 2 ครั้ง เพราะหากย้อนกลับไปดูตั้งแต่ในช่วงของการก่อสร้างจะพบว่า ในระยะเวลา 10 ปี เกิดอุบัติเหตุในขั้นตอนนี้แล้ว 417 ครั้ง
อ้างอิงจากข้อมูลจากการประชุมวิชาการวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ที่เก็บรวบรวมอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าของ ทั้ง 6 สาย (สายสีม่วง สายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายชมพู สายเหลือง และสายสีส้ม) ตั้งแต่ปี 2555-2565 พบว่า จำนวนอุบัติเหตุมีแนวโน้มไม่ลดลง เนื่องจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตเมืองเพิ่มขึ้นและเขตพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ในเขตชุมชน
เมื่อพิจารณาเป็นรายปี จะพบว่า ในปี 2555 เกิดอุบัติเหตุ 15 ครั้ง, 2556 เกิดอุบัติ 27 ครั้ง, ในปีต่อๆ มา เกิดอุบัติเหตุ 19 ครั้ง, 28 ครั้ง, 71 ครั้ง, 62 ครั้ง, 39 ครั้ง, 61 ครั้ง, 42 ครั้ง, 15 ครั้ง และ 38 ครั้งตามลำดับ
ในการศึกษา ยังระบุถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติ ว่าอันดับแรก เกี่ยวเนื่องมาจากการทำงาน อันดับที่สองคือลักษณะงาน อันดับที่สามคือสิ่งแวดล้อมในการทำงาน และอันดับสุดท้ายคือความประมาทของคนงานก่อสร้าง
อ้างอิงจาก