“ถ้าเราไม่ชอบ สว. ไม่ชอบศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบ กกต. ไม่ชอบองค์กรอิสระ การแก้ไขเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นหนทางเดียวที่ประเทศจะไปต่อได้ในตอนนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นหนทางที่ไม่ง่าย และยาวไกลมาก” รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล จาก iLaw กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ในวาระที่พรรคเพื่อไทย แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบันได้เน้นย้ำมาโดยตลอดว่าเป็นวาระที่ต้องผลักดัน ในวันนี้ (4 สิงหาคม) The MATTER จึงอยากชวนทุกคนย้อนดูว่าจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างไร แล้วมีขั้นตอนอะไรบ้าง?
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้กำหนดขั้นตอนเอาไว้ในหมวด 15 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีการระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 255 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมที่เป็นการเปลี่ยนการปกครองระบอบ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หรือการเปลี่ยนแปลง ‘รูปแบบรัฐ’ [รัฐเดี่ยว-รัฐรวม] จะทำไม่ได้
นั่นจึงหมายความว่า ถ้าต้องการจะแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆ นอกจากที่ห้ามไว้ก็ทำได้ โดยผู้ที่จะมีสิทธิเสนอได้ก็คือ
– ครม.
– สส. 1 ใน 5
– สส.+สว. 1 ใน 5
– จากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คน
ส่วนขั้นตอนในการยื่นแก้ไข iLaw ก็มองว่าควรจะต้องทำประชามติ โดยผู้ที่จะสามารถจัดทำประชามติได้ ก็คือจะต้องผ่านมติ ครม. หรือ สส. เสนอแล้วออกเป็นเป็นมติสภา หรือผ่านมติรัฐมนตรีโดยการเข้าชื่อของประชาชนอย่างน้อย 50,000 ชื่อ
โดยสาเหตุที่ทาง iLaw มองว่าต้องทำประชามติก่อนก็เป็นเพราะ ในตอนที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2564 ได้มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ารัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แล้วตุลาการศาลฯ ก็มีมติว่า “รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีการทำประชามติก่อน” ทำให้มี สส.และ สว.บางส่วนตีความว่าต้องทำประชามติ ‘ก่อนสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ และได้นำเหตุผลนี้มาอ้างเพื่อคว่ำการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในวาระสาม
หลังจากนั้น ก็จะต้องเสนอญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมเป็น ‘ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม’ โดยกำหนดวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อเปิดทางไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต่อรัฐสภา
1. ในวาระแรก ก็คือขั้น ‘รับหลักการ’: ต้องได้เสียงจากรัฐสภา [สส.+สว.] เห็นชอบครึ่งหนึ่ง โดยในจำนวนนี้ก็ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน สว.ด้วย
2. การพิจารณาในวาระที่สอง ‘พิจารณาเรียงลำดับมาตรา’: ให้ถือเสียงข้างมาก แต่ในกรณีที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อ แสดงความเห็นด้วย แล้วจึงรออีก 15 วันเพื่อพิจารณาวาระสุดท้าย
3. พิจารณาวาระสุดท้าย: ต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา และในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก
– สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน สว.
– เสียง สส.ฝ่ายค้าน 20% (จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาหรือรองประธานผู้แทนฯ)
จากนั้น ก็ต้องทำประชามติรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 (หมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) เนื่องจากมีข้อกำหนดว่า ถ้ามีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดทั่วไป, หมวดพระมหากษัตริย์, หมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ, เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ, หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ต้องจัดทำประชามติก่อนทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย
สุดท้ายจึงจะจัดเลือกตั้ง สสร. โดยประชาชน เพื่อเป็นสภาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วก็ทำประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ยังได้กำหนดเอาไว้อีกว่า ก่อนที่นายกฯ จะทูลให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย สส. สว. หรือทั้งสองรวมกัน 1 ใน 10 ของสมาชิกแต่ละสภาหรือของทั้งสองสภารวมกัน สามารถมีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาหรือประธานรัฐสภา ว่า
– ร่างรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อมาตรา 255 (เปลี่ยนรูปแบบรัฐ หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) หรือไม่
-ร่างรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติหรือไม่
ต่อมาจึงให้ประธานของสภาที่รับเรื่อง ส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่ที่รับเรื่อง โดยในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายกฯ จะนำร่างกฎหมายนั้นทูลเกล้าฯ ให้พรมหากษัตริย์ลงพระปรมรภิไธยไม่ได้
อ้างอิงจาก