ทุกคนลองจินตนาการดูว่า ถ้าเราได้เห็นไดโนเสาร์ตัวเป็นๆ ยืนอยู่ตรงหน้าจะเป็นอย่างไร เมื่อนักวิจัยจากโครงการ ‘การทำให้ไม่สูญพันธุ์ (De-Extinction)’ หรืออาจจะพูดง่ายๆ ว่า เป็นการปลุกชีพสัตว์ที่ไม่มีอยู่บนโลกอีกแล้ว ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
โดยพวกเขากำลังเดินหน้าขั้นตอนต่อไป ด้วยการมองหาพื้นที่ที่เหมาะสมแก่นกโดโด ซึ่งหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์หลายร้อยปีแล้ว ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างสงบสุข จึงเป็นการคาดการณ์ว่าอีกไม่นานหลังจากนี้ นก (ใกล้เคียงกับ) โดโด จะเผยโฉมให้เราเห็นแล้ว
เล่าก่อนว่า โครงการดังกล่าวเกิดมาจากความร่วมมือระหว่างนักพันธุศาสตร์และนักอนุรักษ์ และโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ (Colossal Biosciences) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรมในสหรัฐฯ ที่มีเป้าหมายจะคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์มากมาย เช่น แมมมอธขนยาว (Woolly Mammoth) เสือแทสมาเนียน (Tasmanian Tiger)
อย่างไรก็ดี ขณะนี้พวกเขากำลังเจรจากับมูลนิธิสัตว์ป่ามอริเชียส เพื่อค้นหาสถานที่ที่เหมาะสมสําหรับโดโด นกขนาดใหญ่ที่บินไม่ได้ โดยก่อนหน้านี้พวกเขาเพิ่งประกาศว่า จะคืนชีพนกโดโดไปเมื่อเดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมานี้เอง แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำสำเร็จเมื่อใด
ซึ่งตามเดิม โดโดก็เป็นสัตว์ในพื้นที่มอริเชียส ที่อยู่ทางตะวันตกของมหาสมุทรอินเดียอยู่แล้ว แต่มันได้สูญพันธุ์ไปเมื่อปี 1681 ด้วยฝีมือของมนุษย์นั่นเอง ที่ทั้งทำลายแหล่งที่อยู่ หรือแม้แต่การตามล่าพวกมัน จนนำไปสู่การล่มสลายของสัตว์ที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับเรา อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่นักวิจัยจากโครงการนี้ยังเลือกสถานที่ดังกล่าว เพราะมอริเชียสยังมีสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ และคาดว่าเจ้าโดโดคงจะคุ้นชินกับพื้นที่ตรงนี้ที่สุด
ทว่า วิคาช ทาทายาห์ (Vikash Tatayah) ผู้อํานวยการฝ่ายอนุรักษ์ของมูลนิธิฯ กล่าวว่า “มอริเชียสไม่ใช่เกาะที่ใหญ่ ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ตรงนี้ยังถูกแทนที่ด้วยอ้อย อาคาร หมู่บ้าน และอ่างเก็บน้ําแล้ว”
พร้อมเสริมว่า “สถานที่ที่เหมาะสมที่สุดไม่มีอยู่จริง แต่ละสถานที่ทั้งข้อดีและข้อเสีย” แต่โครงการนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการเลือกพื้นที่ที่เจาะจงแล้วอย่าง หุบเขาแม่น้ำดำ (Black River Gorges) รองลงมาคือ เขตอนุรักษ์ธรรมชาติที่อยู่ใกล้เคียง และเกาะใกล้ๆ อีกสองแห่ง
แล้วทำไมต้องนำนกโดโดกลับมา?
“การนำโดโดกลับมา จะส่งผลให้การผลักดันแนวคิดการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องธรรมชาติมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งยังจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่พวกเขากำลังเผชิญกับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)” เบน แลมม (Ben Lamm) ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโคลอสซอล ระบุ
ทาทายาห์ ผู้อำนวยการฯ กล่าวว่า โดโดถือเป็นโบนัสใหญ่สำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศ เพราะมันกินผลไม้ผลใหญ่ ทำให้มันเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญในการกระจายเมล็ดพืชไปทั่วผืนป่า
ในทางกลับกัน มีนักวิจัยบางส่วนชี้ว่า “แม้โดโดจะเป็นนกที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก แต่เราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับมันเลย ส่วนใหญ่เราได้เพียงแค่คาดเดาเท่านั้น” นอกจากนี้ นักวิจัยยังเสนอแนวคิดว่าทำไมถึงไม่นำนวัตกรรมนี้ไปใช้กับสัตว์สายพันธุ์อื่น ที่เพิ่งจะสูญพันธุ์ไปไม่นานหรือกำลังจะสูญพันธุ์ เช่น แรดขาวเหนือ (Northern White Rhinoceros) ซึ่งตอนนี้เหลือเพียง 2 ตัวเท่านั้น และยังเป็นตัวเมียทั้งหมด
อ้างอิงจาก