“เชียงใหม่มีอากาศแย่ติดอันดับต้นๆ ของโลก”
หลายคนคงได้ยินประโยคนี้บ่อยขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ถ้าหากทุกคนลองนึกย้อนดีๆ คำพูดดังกล่าวถูกพูดถึงมาสักพักใหญ่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาเรื่อรังนี้ยังปกคลุมไปทั่วทุกจังหวัดของภาคเหนือตอนบน ไม่ใช่เพียงแค่เชียงใหม่เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นฝุ่น PM 2.5 กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เพราะเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา วิกฤตค่าฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่ ติดอันดับ 1 ของโลก ประจวบเหมาะกับที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังเชียงใหม่พอดี
ส่งผลให้เกิดการถามหาวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การกำหนดให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ดังนั้น The MATTER จึงขอสรุปเรื่องราวที่กำลังเป็นที่พูดถึงมากที่สุดในขณะนี้ให้ทุกคนได้อ่านกัน
1. ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือกินเวลามาเกือบ 20 ปีแล้ว
ตลอดที่ผ่านมา สถานการณ์ปัญหาฝุ่นและหมอกควันมักเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศนิ่งและแห้ง ไม่มีลมพัด และมีความกดอากาศสูง (ธันวาคม-พฤษภาคม) ทำให้เกิดไฟป่าได้ง่าย ไม่เพียงเท่านั้น การเผาพื้นที่เพื่อทำการเกษตร เช่น วัชพืช ที่ส่วนมากจะเผาในพื้นที่ป่าที่มีเศษกิ่งไม้และใบไม้แห้ง ได้กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ก่อให้ฝุ่นควันมีความรุนแรงมากขึ้น
ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือที่ส่วนใหญ่จะเป็นแอ่งกระทะและมีภูเขาล้อมรอบ รวมถึงหมอกควันที่มาจากประเทศรอบข้างเรา ล้วนส่งผลให้ปัญหานี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
2. จนเมื่อปี 2550 หรือ 17 ปีที่แล้ว พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยผลักดันให้ ‘ปัญหาฝุ่นและพิษควันภาคเหนือ’ เป็นวาระแห่งชาติ ทว่าที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวกลับไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เคยให้สถิติข้อมูลผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศไว้ว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนแรกของปี 2564 มีผู้ป่วยด้วยโรคมลพิษทางอากาศแล้วกว่า 36,900 คน และ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. อย่างไรก็ตาม ปัญหาฝุ่นภาคเหนือได้เงียบลงไปอีกครั้ง แต่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังเชียงใหม่ เพื่อไปติดตามและดำเนินการแก้ปัญหาภัยพิบัติด้านฝุ่นควัน โดยมีกำหนดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม ทำให้ประเด็นนี้เริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง
4. ในวันเดียวกันนั้น ประดิษฐ์ สีใส ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ออกมาเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังสุขภาพและงดกิจกรรมกลางแจ้ง เนื่องจากค่าฝุ่น PM 2.5 หลายพื้นที่เกินค่ามาตรฐานอยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาทุกชนิด และงดใช้รถยนต์ที่มีควันดำ
นอกจากนี้ ทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่สั่งการให้ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันฯ เตรียมรับมือหากพบจุดความร้อนให้รีบดำเนินการเข้าดับไฟทันที
5. ทว่ากระแสดังกล่าวถูกหยิบมาพูดถึงเป็นวงกว้างมากที่สุด หลังเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 16 มีนาคม นายกฯ ได้โพสต์ภาพขณะปั่นจักรยานอยู่ในบริเวณลานกว้างของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ หลังในทำการส่งมอบหน้ากากอนามัย 2 ล้านชิ้น ให้แก่ชาวเชียงใหม่ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5
ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น เพราะนายกฯ ไม่สวมใส่แมสขณะทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งตรงกันข้ามกับคำเตือนที่ให้ผู้คนเฝ้าระวังฝุ่นควันที่อยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพ
6. ไม่เพียงเท่านั้น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยังตั้งคำถามว่า เชียงใหม่ถึงมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ติดอันดับโลก แต่ทำไมถึงไม่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพราะถ้ารัฐบาลไฟเขียว ก็จะสามารถอนุมัติงบลงมาแก้ไขปัญหา
แต่นายกฯ กล่าวว่า งบส่วนนี้มีให้อยู่แล้ว และกำลังแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ ดังนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ รวมถึงรัฐบาลก็ให้งบกลางมากกว่างบฉุกเฉิน
7. นอกจากนี้ นายกฯ ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า การกำหนดให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติจะ ‘กระทบการท่องเที่ยว’ โดยเขากล่าวว่า “ผมได้รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว เกรงว่าหากประกาศจะส่งผลกระทบทางลบมากกว่า”
ซึ่งเขาระบุต่อว่า เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ จะกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่งฟื้นตัวหลังจากผลกระทบ COVID-19 เพราะนักท่องเที่ยวที่ซื้อประกันมาจากบ้านเขา หากเข้ามาท่องเที่ยวในเขตภัยพิบัติ หรือพื้นที่ฉุกเฉินประกันจะไม่คุ้มครองทันที
“เชียงใหม่จะเสียนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาเที่ยวทั้งระยะสั้นและระยะยาว เราเป็นห่วงกันตรงนี้”
8. ส่วนเรื่องงบกลางที่รัฐบาลจัดสรรไปที่กรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากร นายกฯ กล่าวว่า ได้ทำการเบิกจ่ายตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมาแล้ว เพื่อไปส่งเสริมอาสาสมัครที่เฝ้าดูแลไฟป่า
“วิธีบริหารจัดการเรื่องฝุ่นมีหลายวิธี รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะ แต่รัฐบาลต้องตัดสินใจเลือกทางที่ดี และมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับพี่น้องประชาชนที่ต้องทำมาหากินด้วย”
9. เมื่อวันที่ 18 มีนาคม นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง ภาพรวมการบริหารสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันว่า ได้เสนอเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและการแก้ไขปัญหาในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ให้แก่นายกรัฐมนตรีแล้ว
“โดยเฉพาะการเน้นไปที่พื้นที่เกษตร เราทำได้เกือบ 100% ที่ไม่ให้เกิดการเผาเลย …ซึ่งปีนี้เราสามารถทำให้พื้นที่ที่ถูกเผาลดลงถึง 70% ทำให้ไม่เกิดการสะสมของกลุ่มควันที่เราผลิตขึ้นมาเองซ้ำเติมกับฝุ่นที่มาจากเพื่อนบ้าน”
10 . เขาพูดเสริมว่า สิ่งที่เราจะทำต่อไปในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ หรือ หลังจากรัฐบาลได้อนุมัติงบกลางให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ การจัดสรรให้กรมต่างๆ เช่น กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ จ้างคนเข้ามาเป็นพนักงานรักษาป่า 2,000 กว่าคน
และไว้เป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยงานต่างๆ ที่ออกดับไฟป่า ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัตินั้นเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น
11. พ.ร.บ. อากาศสะอาด ถึงไหนแล้ว?
เมื่อ 17 มกราคม ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์ 443 เสียง ให้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ พร้อมยังรับหลักการร่างกฎหมายอากาศสะอาด ที่ภาคประชาชนกว่า 22,000 รายชื่อ และพรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์เสนอ รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ
และที่ประชุมยังได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปรายทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างสนับสนุนร่างดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกันคือ เพื่อเป็นการคืนสิทธิการหายใจในอากาศสะอาดให้แก่ประชาชน
12. ดังนั้นถ้าร่างดังกล่าวผ่านกลายเป็นกฎหมาย จะมีการสร้างความร่วมมือในการป้องกัน และแก้ไขภาวะมลพิษทางอากาศ และพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ และนานาชาติ ซึ่งหน่วยงานรัฐจะต้องปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหามลพิษ
และจะกฎหมายเพื่อลดการปล่อยฝุ่นควัน เช่น ผู้ที่เผาในที่โล่งโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ครองครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศนอกประเทศ ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท เป็นต้น จะมีโทษปรับ 50,000 บาท
ทั้งนี้ ในช่วงนี้ฝุ่นละออง PM 2.5 บริเวณภาคเหนือโดยส่วนใหญ่ ยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งพื้นที่ที่อยู่ในระดับสีแดงได้แก่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในขณะที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ตอนนี้ติดอันดับ 5 ของโลก และคาดว่า จะมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ลงมือแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดอย่างจริงจัง