“เราต้องอยู่ในประเทศที่ต้องซื้ออากาศหายใจจริงๆ เหรอ?”
ขอเล่าย้อนไปก่อนว่า กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์แพทย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อายุ 28 ปี ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวการพบว่าตนเองเป็น ‘มะเร็งปอดระยะสุดท้าย’ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ผ่านเพจ ‘สู้ดิวะ’
“ผมกำลังแต่งงาน กำลังจะซื้อบ้าน แล้วผมก็เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย”
หลังจากนั้นเพจนี้ก็มีผู้ติดตามเกือบ 300,000 คนภายในข้ามคืน เนื่องจากเขาอยู่ในช่วงอายุที่กำลังมีความสุข กำลังจะแต่งงาน กำลังประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน กลับตรวจพบเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งที่สุขภาพดี เป็นนักกีฬา และไม่สูบบุหรี่
เขาจึงตัดสินใจเปิดเพจเฟซบุ๊ก เพื่อนำเรื่องราวการต่อสู้กับโรคร้ายมาเผยแพร่ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้คนที่กำลังสู้ชีวิตเช่นกัน
วันนี้ The MATTER จึงจะมาสรุปข้อความที่ นพ.กฤตไท กล่าวถึง-เรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่คนไทยต่างเผชิญมาหลายปีให้ทุกคนอ่านกัน
เริ่มต้นจากการที่เขาเผยแพร่ภาพเอกซเรย์ปอดเมื่อปี 2019 ระหว่าง 2022 ว่ามีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เพราะตอนปี 2022 ปอดด้านขวาของเขาหายไปครึ่งหนึ่ง นอกเหนือจากนี้ ยังมีก้อนขนาดใหญ่ถึง 8 ซม .มีน้ำในปอด รวมถึงยังเห็นสัญญาณการกระจายของเซลล์มะเร็ง เพราะพบก้อนเล็กๆ ในปอดซ้ายอีกหลายก้อน
หลังจากนั้นผู้คนก็เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องมะเร็งปอดมากขึ้น จนมีการเปิดเผยสถิติ สาเหตุ แม้แตวิธีป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก
“ไทยพบมะเร็งปอดมากที่สุด” วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุในบทความของ สสส. ซึ่งปัจจัยเสียงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือ การสูบบุหรี่ หรือการได้รับควันบุหรี่ และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5
นอกจากนี้ ทีมวิจัยสถาบันฟรานซิส คริก สหราชอาณาจักร ค้นพบว่า มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้จริง แต่พฤติการณ์การก่อมะเร็งของมลพิษทางอากาศ จะไม่ใช่การสร้างความเสียหายต่อเซลล์ปอด แต่เป็นการกระตุ้นหรือปลุกเซลล์เก่าที่เสียหายขึ้นมา จนนำมาสู่การกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง
“ถ้าคนแบบผมเป็นมะเร็งได้ ทุกคนมีโอกาสเป็นได้ โลกเราตอนนี้มันไม่ปกติครับ ทั้งมลภาวะ อากาศ น้ำ รังสีต่างๆ ยีนส์เรามันพร้อมกลายพันธุ์ครับ” นพ.กฤตไทระบุ
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2022 นพ.กฤตไทก็ออกมาโพสต์อัปเดตอาการมะเร็งหลังจากผ่านไป 3 เดือนว่า ร่างกายของเขามีการตอบสนองต่อการรักษาดี นอกจากนี้ เขายังพูดว่า เขารู้สึกเข้าใจโลกมากกว่าแต่ก่อน เหมือนได้ปลดล็อคตรรกะการคิดใหม่
“ชีวิตในแต่ละวันของผมจึงช้าลง แต่ก็ละเอียดขึ้นมากเช่นกัน เพราะต้องสังเกตทุกอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ต้องลงรายละเอียดกับการเลือกอาหาร เลือกน้ำ การออกกำลังกาย กินยา และจัดการกับสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ..เราอยู่ในยุคสมัยที่ต้องซื้ออากาศสะอาดหายใจแล้วจริงๆ ครับ”
และเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2023 เขาได้อัปเดตอาการในขณะนั้นว่า ไม่ค่อยสู้ดีนัก พร้อมกับกล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่สูงเกินค่ามาตรฐานว่า เขาเป็นห่วงเด็กรุ่นใหม่ที่จะต้องเสี่ยงกับโรคร้ายเหมือนกับเขา
“ผมไม่ได้บอกว่า ฝุ่นควันในเชียงใหม่เป็นปัจจัยเดียวทำให้ผมเป็นมะเร็ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผล เพราะมีการศึกษามากมายที่พิสูจน์แล้ว”
เขาเสริมว่า “มันน่าเศร้ามากเมื่อมองว่าความเหลื่อมล้ำของประเทศเรามันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นตั้งแต่พื้นฐานเรื่องของอากาศหายใจที่แสนจะสำคัญต่อชีวิตคน เราต้องเป็นประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ต้องซื้ออากาศหายใจจริงๆ เหรอ?”
นพ.กฤตไท พูดอีกว่า เขาคิดแบบตรรกะของคนทั่วไปเลย เราต้องเริ่มแก้ปัญหา PM 2.5 ให้ตรงจุดก่อน ต้องจัดลำดับความสำคัญอย่างจริงจัง และประเทศไทยติดอันดับปัญหาฝุ่นในระดับโลกมาหลายปี ทำไมเราถึงไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพอากาศ หรือการพยายามหาต้นตอของปัญหา เพราะมันไม่ใช่แค่การเผาป่า หรือรถติดเท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดี (5 พฤศจิกายน) ที่ผ่านมา #สู้ดิวะ ติดอันดับในทวิตเตอร์ (X) หลังจากนพ.กฤตไท ออกมากล่าวว่า “ผมคงอยู่ได้อีกไม่นานแล้ว ใครมีอะไรอยากพูดอยากบอกผมเชิญได้เลย ผมน่าจะไปช่วงกลางเดือนหน้า จากนั้นไว้เจอกันใหม่นะครับ ขอบคุณสำหรับทุกอย่างตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ขอโทษถ้าผมทำให้ใครไม่พอใจ” ซึ่งผู้คนต่างเข้าไปให้กำลังใจเขาอย่างล้นหลาม
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้คนมากมายยังกลับมาให้ความสนใจถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 อีกครั้งอย่างไรก็ตาม เมื่อ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีสั่งการ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เสนอร่าง พรบ.อากาศสะอาด เข้าสู่การพิจารณา ครม.ภายใน 14 วัน เพื่อเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาให้ทันวิกฤตมลพิษฝุ่นควัน
อ้างอิงจาก