แม้กรุงเทพฯ จะมีค่าฝุ่นที่ดูดีขึ้น (ชั่วคราว) แล้ว แต่หลายจังหวัดในภาคเหนือยังต้องเผชิญวิกฤตฝุ่นจิ๋ว PM2.5 อย่างหนัก หนักขนาดที่เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีค่าฝุ่นแย่ที่สุดลำดับที่ 19 ของโลก สำหรับคนพื้นที่แล้ว พวกเขาตื่นมาก็ต้องเผชิญอาการแสบจมูก ค่าฝุ่นแดงแจ๋ และท้องฟ้าสีขมุกขมัว
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศให้ข้อมูลว่า วันนี้ (9 กุมภาพันธ์) ภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นในภาคกลางมีภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก (11-30 มคก./ลบ.ม.) แต่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง สุโขทัย ตาก นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี และศรีสะเกษ ยังมีฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน (จะเห็นได้ว่า นอกจากภาคเหนือ ยังมีบางจังหวัดในอีสานที่ก็มีค่าฝุ่นรุนแรงเกินมาตรฐานเช่นกัน)
ข้อมูลจากศูนย์แก้ไขฯ บันทึกไว้ว่า ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงถึง 176 มคก./ลบ.ม. ขณะที่ดัชนีวัดคุณภาพอากาศ IQAir จัดอันดับค่าฝุ่นยอดแย่ในประเทศไทยไว้ ซึ่ง 5 ลำดับแรกล้วนเป็นจังหวัดจากภาคเหนือ ดังนี้
1. พะเยา (187 มคก./ลบ.ม.)
2. เชียงราย (175 มคก./ลบ.ม.)
3. เชียงใหม่ (173 มคก./ลบ.ม.)
4. ลำปาง (166 มคก./ลบ.ม.)
5. แพร่ (162 มคก./ลบ.ม.)
ภาคเหนือกลายเป็นภาคที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นควันซ้ำซากจนใครหลายคนเริ่มชินชา ปัจจัยส่วนนึงเกิดจากไฟป่าที่เกิดจากการจุดในพื้นที่เกษตรแถบภาคเหนือ และเกิดจากการเผาพื้นที่เกษตรอื่นๆ ซึ่งศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ขณะนี้ภาคเหนือยังได้รับอิทธิพลลมตะวันตกระดับบน ทำให้มีสภาพอากาศปิด จนภาคเหนือต้องเผชิญกับภาวะฝุ่นจิ๋วสะสม
ชัดเจนว่าฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งในระยะสั้น เช่น ระคายเคืองตา–จมูก–คอ ไอ จาม มีน้ำมูก และหายใจได้สั้นลง ส่วนระยะยาวอาจทำให้เราป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ กระทบปอด และอาจรุนแรงจนเป็นโรคหืดหรือโรคหัวใจได้
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เคยให้สถิติข้อมูลผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศไว้ว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนแรกของปี 2564 มีผู้ป่วยด้วยโรคมลพิษทางอากาศแล้วกว่า 36,900 คน
ดูเหมือนว่าสิทธิที่จะหายใจในอากาศบริสุทธิ์จะยังไม่เกิดขึ้นเสียที ส่วนนึงอาจเพราะร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับประชาชน ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน แม้เครือข่ายอากาศสะอาดจะยื่นร่างกฎหมายนี้พร้อมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 22,000 คนเข้ายื่นต่อสภาตั้งแต่มกราคมปี 2565
ยื่นไปเป็นปีแล้ว ทำไมยังไม่ไปไหนสักที? เครือข่ายอากาศสะอาดเคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า เพราะกระบวนการยังติดอยู่ตรงขั้นตอนการพิจารณาว่าจะ ‘รับรอง’ หรือ ‘ไม่รับรอง’ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยให้สัมภาษณ์กับเรื่องฝุ่นและไฟป่าภาคเหนือกับ The MATTER ไว้ว่า ด้วยเสียงของคนเชียงใหม่ที่ดังไม่เท่าคนกรุงเทพฯ ทำให้การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควันในเชียงใหม่ถูกจัดการแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขณะที่แผนการลดค่าฝุ่นที่รัฐเสนอ คือการสั่งห้ามเผาและปิดป่าไม่ให้ชาวบ้านเข้าไป
“ที่ผ่านมา การจัดการเรื่องไฟป่าและหมอกควันของรัฐ คือการบังคับชาวบ้าน ใช้ความรุนแรงและสั่งห้ามอย่างเดียว โดยไม่คำนึงว่าเขาจะยังชีพยังไง รัฐไม่ช่วยเหลือ ไม่ส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรอื่นๆ ที่สามารถทำได้ สุดท้ายคุณก็ผลักให้ชาวบ้านกลายเป็นศัตรูกับรัฐ” ปิ่นแก้ว ระบุ
เมื่อถามว่า ปัญหาฝุ่นควันเกี่ยวข้องกับการไม่กระจายอำนาจหรือไม่ ปิ่นแก้วตอบว่า “ใช่ พอคุณไม่มีผู้บริหารจังหวัดซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เขาก็ไม่มีความห่วงใยคุณ เขาก็มารอเกษียณ อีกไม่กี่ปีเขาก็ไปแล้ว แค่ทำไปตามหน้าเสื่อ”
“ถ้าเป็น กทม. ค่า pm2.5 ขึ้นไป 100 กว่า คนใน กทม. โวยวายกันแล้ว เชียงใหม่ขึ้นไป 160 กลับดูเหมือนเรื่องปกติไปแล้ว ทั้งที่มันแย่มากๆ” นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา กล่าว
อ้างอิงจาก
https://www.iqair.com/th/thailand
https://mono29.com/news/421081.html
https://www.health.ny.gov/environmental/indoors/air/pmq_a.htm#:~:text=How%20can%20PM2.5%20affect,nose%20and%20shortness%20of%20breath.
https://thematter.co/brief/196213/196213
https://thematter.co/social/environment/bushfire-in-northern-thailand/109414