‘กองทัพ’ กับ ‘ทหาร’ กลายมาเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่หลายคนจับตามองกันในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะหากเราย้อนกลับไปดูหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา หนึ่งในตัวละครที่ไม่พูดถึงก็คงไม่ได้เลย นั่นก็คือ ‘กองทัพ’ และ ‘ทหาร’ ที่เข้ามามีบทบาทเด่นอยู่เสมอ
ย้อนกลับไปตั้งแต่เปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศเป็น ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ทหารก็คือ 1 ในตัวละครสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมาโดยตลอด อย่างล่าสุดเมื่อปี 2557 ก็ทหารอีกนั่นแหละ ที่เข้ามาปฏิวัติยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา
แต่เมื่อกล่าวถึงทหาร ก็ไม่ได้มีแค่มิติของกลุ่มนายพลที่เข้ามายึดอำนาจ หรือเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเท่านั้น เพราะที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นเรื่องของการเกณฑ์ทหาร และการลงโทษทางวินัยของทหารผ่านตากันมาบ้าง
ไม่เพียงเท่านั้น บางคนอาจเคยมีประสบการณ์ตรง หรือมีคนใกล้ชิดต้องเข้าไปเกณฑ์ทหาร บ้างก็อาจเห็นจากข่าวที่นำเสนอกันอยู่บ่อยๆ ว่ามีคนต้องเสียโอกาสในชีวิตเพราะการเกณฑ์ทหาร หรือพอเข้าไปแล้วก็ยังอาจโดนทำโทษ จนบาดเจ็บ-เสียชีวิต โดนเกณฑ์ไปเป็นทหารรับใช้ ต้องเรียน ร.ด. หรือไม่ก็ต้องยัดเงินเข้าไปเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร
ดังนั้น ประเด็นเรื่องของ ‘กองทัพ’ และ ‘ทหาร’ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นอีก 1 ประเด็นที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับคนไทยหลายๆ คน ในวันนี้ The MATTER จึงอยากชวนทุกคนมาดูนโยบายที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘กองทัพ’ และ ‘ทหาร’ จาก 5 พรรคการเมืองในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้กัน
พรรครวมไทยสร้างชาติ
‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ แล้วพรรครวมไทยสร้างชาติจะทำอะไรต่อกับกองทัพและทหารกันนะ
นโยบายว่าด้วยเรื่องของกองทัพและทหารของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ก็นับว่า ‘น่าค้นหา’ ไม่น้อย เพราะเมื่อเข้าไปดูนโยบายว่าด้วยเรื่องกองทัพและทหารบนเว็บไซต์นโยบายของพรรค พบว่าไม่ปรากฏนโยบายด้านกองทัพ หรือทหารแต่อย่างใด
แต่ พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ผู้สมัคร ส.ส.เขต กทม.ของพรรค เคยกล่าวถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทหารเกณฑ์ว่า “พรรคมีนโยบายทหารอาสา ไม่ได้ยกเลิกการเกณฑ์ 100% เนื่องจากทหารเกณฑ์เป็นฮีโร่ทำงานปกป้องชายแดนให้กับประเทศ โดยจะแบ่งสัดส่วนเกณฑ์ 30% ที่เหลืออาสา 70% จะมีการเพิ่มสิทธิ สวัสดิการ มีรายได้มากขึ้น และได้เรียนจนจบปริญญาตรี”
ส่วนทางด้าน วิทยา แก้วภราดัย กรรมการบริหารพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เคยกล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพไว้เช่นกันว่า ตนไม่ขัดเรื่องการปฏิรูปกองทัพ (แต่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดเพิ่มเติม)
“เราสามารถทำกองทัพให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ใช่เริ่มจากการคิดว่าไม่ต้องเกณฑ์ทหาร คือจะไม่เกณฑ์ก็ได้ แต่เราก็ต้องการทหารที่สมัครใจ” วิทยากล่าว พร้อมตั้งคำถามต่อไปว่าประเทศไทยมีเงินตอบแทนหรือสิ่งจูงใจที่จะให้คนไปเป็นทหารเพียงพอหรือไม่ เพราะถ้าหากประเทศร่ำรวยพอที่จะมีค่าตอบแทนได้ก็ไม่ต้องเกณฑ์ แล้วก็จะได้ทหารอาชีพอย่างที่ต้องการ
เมื่อถามต่อถึงนโยบายว่าด้วยการกำจัดรัฐประหาร วิทยาก็ระบุเพียงว่า สาเหตุที่ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปฏิวัติบ่อยๆ ก็เพราะ ‘นักการเมืองคอรัปชั่น’
พรรคพลังประชารัฐ
อีกหนึ่งพรรคการเมืองที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งส่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าชิงเก้าอี้นายกฯ ก็ไม่ปรากฏนโยบายด้านกองทัพและทหารที่ใช้ในการหาเสียงแต่อย่างใด
แต่ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็เคยกล่าวไว้ว่า ไม่เห็นด้วยกับยกเลิกเกณฑ์ทหารซึ่งเป็นหน้าที่ของพลเมือง เพราะกองทัพต้องการกำลังคนเพื่อไว้ใช้ในสงคราม โดยสาเหตุที่ต้องเกณฑ์ทหารก็เป็นเพราะรับสมัครแล้ว แต่คนไปสมัครไม่พอ
“ถ้าจะถามว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหาร เลยต้องยกเลิก ถ้างั้นก็ต้องยกเลิกการเก็บภาษีด้วยไหม เพราะมันก็ไม่มีใครอยากจ่าย ยกเลิกโรงเรียนสิ เพราะเด็กไม่อยากไป” ชัยวุฒิกล่าว
เมื่อถามถึงประเด็นเรื่องการทุจริตในกองทัพ [การให้สินบนเพื่อให้ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร] ชัยวุฒิก็ระบุว่า เป็นเรื่องของตัวบุคคลมากกว่าเป็นเรื่องของระบบ แต่เห็นด้วยว่าถ้ากฎหมายตรงไหนยังมีช่องโหว่อยู่ก็ต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้กองทัพเข้มแข็งขึ้น
ส่วนเรื่องการลงโทษของทหารที่บอกว่าเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยน ชัยวุฒิมองว่า ทุกวันนี้ก็มีการลิดรอนสิทธิอยู่แล้ว เพราะการจับคนไปขังคุกก็เป็นการลิดรอนสิทธิ แต่นั่นคือการลงโทษ กองทัพก็เช่นกัน เพราะกองทัพต้องการให้คนมีวินัย ให้อยู่ในระเบียบ ให้สามารถคุมกองทัพได้ ทุกอย่างมีเหตุผลของมัน
อย่างไรก็ดี แม้ในเว็บไซต์ของพรรคพลังประชารัฐจะระบุว่าไม่มีนโยบายด้านกองทัพและทหาร แต่ชัยวุฒิก็ระบุว่า “เรื่องพวกนี้ เวลาเราหาเสียงไม่ได้เอามาพูดกันว่ากองทัพจะทำนู่นทำนี่ เป็นเรื่องที่มันไม่ได้ใช้ในการหาเสียง ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีพรรคไหนพูด แต่ในความเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว และปฏิบัติกันอยู่ มันเป็นแผนงานพัฒนากองทัพ มีเรื่องที่ทำอยู่แล้ว…พรรคมีความพร้อมที่จะมาดูแลบ้านเมืองให้มั่นคงเข้มแข็ง มีการพัฒนากองทัพ มีแผนงานอยู่แล้วในทุกๆ เรื่อง”
นอกจากนี้ เมื่อรังสิมันต์ โรม ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพ ชัยวุฒิก็กล่าวว่า ไม่ได้ปฏิเสธการปฏิรูปกองทัพ ทั้งยังเห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลที่จะให้กองทัพทันสมัย มีสวัสดิการที่ดีให้ทหารเช่นกัน
พรรคภูมิใจไทย
ภูมิใจไทย เจ้าของสโลแกนหาเสียง ‘พูดแล้วทำ’ ที่ฝากผลงาน ‘น่าจดจำ’ อย่างนโยบายกัญชาในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พร้อมทั้งยังส่ง อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เป็นอีกพรรคการเมืองที่ไม่ปรากฏนโยบายด้านกองทัพและทหารบนเว็บไซต์ของพรรค โดยทาง The MATTER เองก็ได้รับการยืนยันจากทางพรรคว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ภูมิใจไทย ไม่มีนโยบายดังกล่าวแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ขณะลงพื้นที่ว่า พรรคภูมิใจไทยมองว่า ระบบที่มีทั้งการเกณฑ์ทหารและการสมัครใจดีอยู่แล้ว
อีกทั้ง อนุทินยังมองว่าการเกณท์ทหารมีประโยชน์ เพราะลูกชายของเขาก็เคยจับได้ใบแดง ได้เข้าไปรับใช้ชาติบ้านเมืองอยู่ 1 ปี ทำให้ลูกชายมีวินัยเพิ่มขึ้นดีมาก ได้นำความรู้ของตัวเองไปช่วยสอนให้กับเพื่อนทหารเกณฑ์ โดยเฉพาะความรู้ด้านภาษา ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะถ้าบอกให้ลูกชายไปสมัครเฉยๆ ก็คงไม่ไป
พรรคเพื่อไทย
มาที่พรรคเพื่อไทย อีกหนึ่งพรรคการเมืองที่ส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน ได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร, ชัยเกษม นิติสิริ, และเศรษฐา ทวีสิน ก็มีนโยบายว่าด้วยกองทัพและทหารดังนี้
1. ปฏิรูปกองทัพเป็นทหารมืออาชีพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ลดขนาดกองทัพ ลดงบกระทรวงกลาโหมลง 10% ป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง
ให้การเกณฑ์ทหารเป็นไปโดยสมัครใจผ่านการสมัครทหารแบบออนไลน์ โดยไม่กำหนดเป้าหมายการรับ ให้ทหารเป็นทหารมืออาชีพ และปรับลดงบประมาณกลาโหมลง 10% เพื่อนำไปใช้ตั้งกองทุนสนับสนุนธุรกิจคนรุ่นใหม่ ให้งบประมาณที่ใช้สอดคล้องกับความเป็นจริง และเพื่อไม่ให้ทหารสามารถเข้ามาแทรกแซงการเมือง
พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความจำเป็นในการลดขนาดกองทัพไทยและการยกเลิกเกณฑ์ทหารว่า การยกเลิกเกณฑ์ทหารจะช่วยลดขนาดกองทัพและภาระงบประมาณของภาครัฐลง นี่จึงเป็นทางเลือกที่ต้องทำ ในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัว เพราะภาษีของประชาชนควรถูกใช้อย่างคุ้มค่า
อีกทั้ง เมื่อมองถึงเรื่องงบประมาณของกองทัพ ทางพรรคยังระบุว่า งบด้านบุคคลกรของกระทรวงกลาโหมคือ 9.57 หมื่นล้านบาท โดย 48.47% ของงบกองทัพถูกใช้ไปกับทรัพยากรบุคลากร ทั้งเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและสวัสดิการพิเศษต่างๆ และกองทหารประจำการ จนทำให้ประชาชนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าขนาดของกองทัพ อาวุธ และกำลังพลยังเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นหรือไม่ในยุคโลกดิจิทัล
2. แปรค่ายทหารเป็นวิทยาลัย คืนความเป็นธรรมให้ทหารชั้นผู้น้อย เพิ่มความโปร่งใส ตรวจสอบได้
ทำให้ค่ายทหารเป็นแหล่งเรียนรู้วิชาชีพ มีใบประกอบวิชาชีพตามความถนัด เพื่อเพิ่มศักยภาพทหารเกณฑ์ ให้ประเทศสามารถใช้แรงงานกองทัพมาพัฒนาประเทศทดแทนแรงงานในยามสงบอย่างเหมาะสม
รวมไปถึงพรรคเพื่อไทยจะเพิ่มความโปร่งใส ให้มีการตรวจสอบได้ และจะคืนความเป็นธรรมให้ทหารชั้นผู้น้อย ด้วยระบบราชการดิจิทัลเพื่อประชาชน ทำให้ทหารเกณฑ์ไม่ใช่แรงงานใช้ฟรี และจะเท่ากับการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับทหารเกณฑ์ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงทหารและกองทัพ นโยยบายว่าด้วยการเสนอกฎหมายป้องกันต่อต้านการรัฐประหาร ก็อีกหนึ่งนโยบายน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย ที่พรรคเพื่อไทยมี และจัดเอาไว้อยู่ในหมวดหมู่ ‘นโยบายแก้รัฐธรรมนูญ’ อีกเช่นกัน
พรรคก้าวไกล
เมื่อกล่าวถึงนโยบายปฏิรูปกองทัพแล้ว 1 ในพรรคการเมืองที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ พรรคก้าวไกล ที่ส่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้
โดยนโยบายที่เกี่ยวกับกองทัพและทหารของพรรคก้าวไกลที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์นโยบายพรรค ก็มีมากถึง 15 นโยบายด้วยกัน แต่ในวันนี้ The MATTER จะขอสรุปนโยบายของพรรคออกมาดังนี้
1. ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด ผ่านการสร้างแรงจูงใจในการสมัครเป็นทหาร เช่น การสร้าง สวัสดิภาพ-สวัสดิการ-ความก้าวหน้าทางอาชีพที่ดี และการกำจัดความรุนแรงในค่าย
โดยพิธายังเคยให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายนี้ไว้ว่า “ถ้ายกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นจำนวนมาก เราจะเหลือเงินมาเป็นสวัสดิการให้กับคนอยากเป็นทหารโดยสมัครใจ…ประเทศจะสมาร์ทมากยิ่งขึ้น คนเชี่ยวชาญเรื่องความมั่นคงเคยบอกว่า กองทัพจะอ่อนแอหรือไม่ เราดูได้จากจำนวนทหารเกณฑ์ เพราะยิ่งทหารเกณฑ์เยอะ ยิ่งไม่มีงบมาลงทุนในเทคโนโลยีที่จำเป็น”
2. เอาทหารออกจากการเมือง
แจกใบแดงนายพลให้ห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเวลา 7 ปี หลังออกจากราชการ เพื่อไม่ให้กองทัพหรืออดีตนายพลเข้าไปแทรกแซงการเมือง
3. เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย
- สร้างความปลอดภัย ผ่านกลไกการร้องทุกข์และร้องเรียนผู้บังคับบัญชา
- แก้ พ.ร.บ.วินัยทหาร ที่ให้อำนาจแก่ผู้บังคับบัญชามากเกินไป
- ให้ทหารมีรายได้ที่เหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพ
- มีประกันชีวิตที่มีทุนให้กับครอบครัวในการประกอบอาชีพ หากพิการหรือเสียชีวิต
- มีทุนการศึกษาแก่ทายาทจนกว่าจะมีเงินได้กลับมาเลี้ยงครอบครัว
- พลทหารมีสิทธิประกันสังคมสำหรับการรักษาพยาบาลเหมือนกับพนักงานราชการทั่วไป
- ทำลายระบบเส้นสาย เน้นผลงานมากกว่าอายุงาน
- เพิ่มโอกาสในการเรียนโรงเรียนนายร้อย-นายสิบ และโอกาสไต่เต้าสู่นายทหารชั้นสัญญาบัตร ในพลทหารหรือชั้นประทวน
4. ปฏิรูปการศึกษาทหาร
เพิ่มเวลาการศึกษาในมหาวิทยาลัยพลเรือนให้กับนักเรียนทหารในกลุ่มวิชาที่เป็นวิชาการ เพื่อให้นักเรียนทหารได้เรียนร่วมกับพลเรือน โดยเฉพาะนักเรียนนายร้อย
5. ยกเลิกศาลทหารในสถานการณ์ปกติ
จะให้ศาลทหารมีได้เฉพาะช่วงการประกาศสงครามเท่านั้น โดยให้คดีเกี่ยวกับวินัยทหาร และคดีอาญาที่ทหารเป็นคู่ความ ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติผ่านศาลปกครอง และศาลยุติธรรม
6. ลดจำนวนทหาร
ลดกำลังพลในภาพรวมลง 30-40% และลดจำนวนนายพลเหลือ 400 นาย ซึ่งพิธาเคยให้ข้อมูลไว้ว่ากองทัพในปัจจุบันไม่ได้เป็นกองทัพมืออาชีพ ไม่ได้เป็นทหารของประชาชน แต่เป็นกองทัพที่หากินจากสวัสดิการทหารจนเกินเหตุ
นอกจากนี้ พิธายังระบุถึงสิ่งที่ต้องทำก็คือ เอาทหารกลับกรมกอง มีอำนาจเท่าที่ควรจะมี ทำให้เป็นทหารมืออาชีพ มีความสมาร์ทที่จะต่อสู้กับความท้าทายทางความมั่นคงในศตวรรษที่ 21 “แต่การจะทำแบบนั้นได้ เราต้องรีดไขมันที่ไม่จำเป็นออก บ้านเรามีทหารเกณฑ์เยอะเกินไป แต่หลายคนต้องไปเป็นยามให้บริษัทเจ้านาย ต้องทำหน้าที่ตัดหญ้า หรือไปทำงานสนามกอล์ฟ นั่นไม่ใช่หน้าที่ หน้าที่ของทหารคือการปกป้องอธิปไตยของประเทศ”
7. กองทัพต้องคืนที่ดินและธุรกิจของกองทัพ
กองทัพจะต้องคืนที่ดินกองทัพ โดยเฉพาะค่ายทหารที่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่น้อยลง เนื่องจากขนาดกองทัพลดลง เพื่อให้การจัดสรรที่ดินเป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ เช่น ที่พักอาศัยใจกลางเมือง ที่ดินเพื่อการเกษตร ตลาด สวนสาธารณะ
อีกทั้งกองทัพจะยังต้องคืนธุรกิจกองทัพทั้งหมดมาให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแลแทน
8. ให้ผู้ขายยุทโธปกรณ์ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทย
การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ต้องมีเงื่อนไขให้ผู้ขายยุทโธปกรณ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว และเป็นการเพิ่มการจ้างงานจากการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว ส่งเสริมการผลิตในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
9. ยุบ กอ.รมน.
ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อทำลายโครงสร้างรัฐซ้อนรัฐที่ขึ้นมายัดเยียดและขยายนิยามความมั่นคงแบบทหารมาใช้จัดการความมั่นคงภายใน
10. แก้ไขกฎหมายความมั่นคงพิเศษ
- แก้กฎหมายความมั่นคงพิเศษให้สอดคล้องมาตรฐานสากล และเพื่อให้สามารถบริหารราชการในวิกฤต ไปพร้อมๆ กับคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้
- เสนอ กฎอัยการศึกฉบับใหม่ แทนที่ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก 2457 เช่น ใช้เฉพาะสภาวะศึกสงคราม โดยที่อำนาจในการประกาศและการบริหารยังคงอยู่ที่รัฐบาลพลเรือน
- เสนอ พ.ร.บ. ฉุกเฉิน ฉบับใหม่แทนที่ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 เช่นกำหนดให้การขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องผ่านการเห็นชอบของสภาฯ
11. ยกเลิกกฎอัยการศึกในชายแดนใต้
ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อทำลายโครงสร้างรัฐซ้อนรัฐที่ขึ้นมายัดเยียดและขยายนิยามความมั่นคงแบบทหารมาใช้จัดการความมั่นคงภายใน ซึ่ง อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคก้าวไกล เคยอภิปรายในสภาฯ ว่า กอ.รมน. เป็นองค์กรที่ล้าหลัง สร้างความแตกแยกทางการเมือง และสิ้นเปลืองงบประมาณประเทศ
กอ.รมน. เคยเป็นองค์กรที่มีบทบาทในช่วงที่รัฐต้องสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่เมื่อคอมมิวนิสต์หายไป กองทัพไทยก็ยังคงใช้ กอ.รมน. เพื่อแทรกแซงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีภารกิจจำเป็น จนเกิด ‘รัฐซ้อนรัฐ’
นั่นก็เป็นเพราะ หน้าที่หลักของ กอ.รมน. ในปัจจุบัน คือ ยุติปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้งบประมาณไปกว่า 10,000 ล้านบาท และมีข้าราชการในสังกัดประมาณ 1,200 นาย แต่ยังมีอำนาจเรียกใช้งานบุคลากรจากกองทัพ ตำรวจ และพลเรือนได้ไม่จำกัด จนปัจจุบันมีบุคลากรใต้สังกัดมากกว่า 50,000 นาย และเกิดเหตุการณ์ ‘บัญชีผี’ ที่บุคลากรบางคนมีชื่อกินเงินเดือน แต่ตัวไม่ได้ทำงานในพื้นที่
12. กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ตั้งผู้ตรวจการกองทัพ
เปลี่ยนจาก ‘ระบบบังคับบัญชา’ เป็น ‘ระบบเสนาธิการร่วมที่มีรัฐมนตรีกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชา’ เพื่อให้การตัดสินใจต่างๆ ของเหล่าทัพยึดโยงกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นการลดโอกาสการเกิดรัฐประหาร และจะยกเลิกอำนาจพิเศษของกองทัพที่อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือนที่มาจากเสียงของประชาชน เช่น สภากลาโหมที่มีอำนาจเหนือรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายทางการทหาร
รวมไปถึง จะยังตั้งผู้ตรวจการกองทัพที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของกองทัพ โดยครอบคลุมถึง
- การตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม
- การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ รายได้ของกองทัพ และโครงการจัดซื้อจัดจ้าง
- การพิจารณาและสืบสวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร
นอกจากนโยบายปฏิรูปกองทัพแล้ว พรรคก้าวไกลก็มีนโยบายปิดช่องรัฐประหารผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการเพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านรัฐประหาร กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร ห้ามศาลรับรองการทำรัฐประหาร ห้ามนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร และเปิดช่องให้ประชาชนดำเนินคดีกับผู้ก่อรัฐประหารในความผิดฐานกบฏได้อีกเช่นกัน
สุดท้ายนี้ หากชอบนโยบายพรรคไหน อยากให้ใครเข้าไปเป็นรัฐบาล ก็อย่าลืมไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันนะ
อ้างอิงจาก
election66.moveforwardparty.org (2)(3)(4)(5)(6)(7)(8)(9)(10)(11)(12)(13)(14)(15)