เคยคิดอยากลาออกเพราะไม่ชอบงานที่ทำอยู่ แต่ก็ไปไหนไม่ได้ เพราะติดสัญญาห้ามไปทำงานให้บริษัทคู่แข่งไหม? แล้วสิ่งนี้มันสมเหตุสมผลจริงหรือเปล่า?
เมื่อวานนี้ (23 เมษายน 2567) สำนักงานคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (FTC) มีมติให้ยกเลิก ‘สัญญาห้ามค้าแข่ง’ ด้วยคะแนนโหวต 3 ต่อ 2 ด้วยเหตุผลว่า กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนทำงาน
‘สัญญาห้ามค้าแข่ง’ คือข้อสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ว่าด้วยการห้ามไม่ให้ลูกจ้างไปทำงานในบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันเมื่อลาออกไปแล้ว เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์และความลับของบริษัท แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นการปิดกั้นโอกาสของคนทำงาน
ในช่วงมกราคม 2566 FTC จึงเสนอการแบนข้อสัญญาห้ามแข่งขัน และได้รับความเห็นกว่า 26,000 ความคิดเห็น ที่ส่วนใหญ่เข้ามาสนับสนุนให้ยกเลิกข้อสัญญานี้ ซึ่ง FTC ยกตัวอย่างถึงข้อมูลที่ได้รับมาว่า มีพนักงานที่สังเกตว่าบริษัทไปรวมตัวกับองค์กรทางศาสนาที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตนเอง แต่ก้ไม่สามารถเปลี่ยนไปทำงานในบริษัทอื่นที่ตรงกับศาสนาที่นับถือได้เพราะติดกับดักข้อสัญญาห้ามค้าแข่ง
FTC ประมาณการว่ามีคนงานชาวอเมริกันกว่า 30 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 5 จากทั้งหมด ที่ตกอยู่ภายใต้พันธนาการของข้อสัญญานี้ ซึ่งลีน่า ข่าน ประธาน FTC กล่าวว่า “ข้อสัญญาห้ามค้าแข่งนี้ จะทำให้ค่าจ้างของคนทำงานต่ำ ไม่ทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ และขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจอเมริกา และการเติบโตของบริษัทสตาร์ทอัปใหม่ๆ ก็จะยากเมื่อมีข้อสัญญาห้ามแข่งขัน”
แต่แน่นอนว่าการรักษาความลับของบริษัทยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น FTC แนะนำว่าบริษัทควรใช้วิธีการอื่นๆ เช่น ทำสัญญาห้ามเปิดเผยข้อมูล
หากการแบนถูกบังคับใช้ นอกจากการห้ามทำสัญญาค้าแข่งในสัญญาใหม่ที่จะเกิดหลังจากนี้แล้ว ก็จะให้มีผลบังคับใช้ในคนที่ติดอยู่ในข้อสัญญานี้ในปัจุบันอีกด้วย แต่ยังคงยกเว้นผู้บริหารระดับสูงที่มีรายได้มากกว่า 151,164 ดอลลาร์ (ประมาณเกือบ 6 ล้านบาทต่อปี) ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายองค์กร
อย่างไรก็ดี เพียงไม่นานหลังจากการลงคะแนน หอการค้าสหรัฐฯ ได้ระบุว่าจะฟ้อง FTC เพราะการแบนนั้นไม่จำเป็น ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการแย่งชิงอำนาจไป เพราะการห้ามค้าแข่งนั้นสำคัญกับบริษัทต่างๆ เพราะช่วยในการปกป้องความลับทางการค้า และสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างให้ลงทุนกับการฝึกอบรบและพัฒนาคนทำงาน
สิ่งที่น่าติดตามต่อไปจึงเป็นความคิดเห็นเปรียบเทียบระหว่างฝั่งคนทำงาน และฝั่งนายจ้าง ว่าแนวทางที่สมเหตุสมผลและให้ประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่ายควรเป็นอย่างไรต่อไป รวมถึงในประเทศไทยเองที่แม้จะยังไม่มีการถกเถียงถึงประเด็นนี้ในวงกว้าง แต่ก็มีคนออกมาบอกเล่าประสบการณ์รู้สึกไม่เป็นธรรมจากการอยู่ภายใต้ข้อสัญญาลักษณะเดียวกันนี้อยู่เสมอ
อ้างอิงจาก