เช้าฤดูหนาววันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1919 ในเมืองแซคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย หญิงสาว 22 คนถูกตำรวจและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจับกุม มาร์กาเร็ต เฮนเนสซีย์ เป็นหนึ่งในนั้น เธอถูกจับขณะเดินไปตลาดขายเนื้อกับน้องสาวของเธอ เฮนเนสซีย์อาศัยอยู่ที่เมืองริชมอนด์ แคลิฟอร์เนีย กับสามีของเธอซึ่งเป็นหัวหน้าคนงานของบริษัท Standard Oil ที่กำลังพักฟื้นจากโรคไข้หวัดใหญ่ ณ บ้านของน้องสาวเฮนเนสซีย์ในเมืองแห่งนี้
ในขณะที่เฮนเนสซีย์และน้องสาวกำลังเดินไปที่ตลาด เจ้าหน้าตำรวจนายหนึ่งนามว่า ไรอัน เดินมาพร้อมกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ทั้งหมดเข้ามาประชิดพวกเธอ และแนะนำตัวกับหญิงสาวทั้งสองว่าเขานั้นคือ ‘ทีมงานศีลธรรม’ (Moral Squad) ประจำเมืองซาคราเมนโต เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้
“ทีมงานศีลธรรม มีหน้าที่ให้ชำระล้างเมืองจากความชั่วร้ายและการประพฤติผิดทางศีลธรรม และพวกคุณก็เป็นบุคคลที่น่าสงสัย” เจ้าหน้าที่ตำรวจไรอันบอกกับเฮนเนสซีย์และน้องสาว
เฮนเนสซีย์ตกใจ ตัวสั่นอย่างตื่นตระหนก พยายามอธิบายว่าเธอเป็นใครและมาทำอะไรในเมืองแซคราเมนโต เฮนเนสซีย์บอกพวกเขาให้แสดงบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ และบอกกับพวกเขาว่า “ตอนนี้ลูกชายวัย 6 ขวบของฉันกำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนไม่ไกลจากที่นี่ หากพวกคุณจับกุมฉัน จะต้องมีคนดูแลเขา”
พวกเจ้าหน้าที่ต่างไม่สนใจ แกล้งไม่ได้ยิน จับกุมทั้งสองคนขึ้นรถตำรวจและพาไปโรงพยาบาลทันที
ทีมงานศีลธรรมนำทั้งสองมายังโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งห่างจากตัวเมืองพอสมควร แพทย์ประจำโรงพยาบาลไม่ได้สอบถาม ไม่ขออนุญาตอะไรใดๆ จากเฮนเนสซีย์และน้องสาว ก่อนจะล็อกตัวและตรวจสอบอวัยวะเพศทั้งสองคนอย่างละเอียดเพื่อตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (sexually transmitted infections : STIs)
“ฉันถูกบังคับให้เข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล ราวกับว่าฉันนั้นเป็นผู้หญิงที่เสื่อมทรามที่สุดในโลก ฉันอยากจะบอกว่าฉันไม่เคยขายหน้าขนาดนี้มาก่อนในชีวิต ชื่อเสียงของฉันมีความหมายกับฉันมาก และฉันจะปกป้องมันให้ถึงที่สุด” เฮนเนสซีย์บอกเล่าเรื่องราวอันเลวร้ายนี้กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
เรื่องราวของเฮนเนสซีย์และน้องสาวของเธอเป็นเพียงหนึ่งในความเลวร้ายที่ผู้หญิงหลายหมื่นหลายแสนคนในสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญ ภายใต้แผนการที่รัฐบาลเรียกมันว่า ‘แผนอเมริกัน’ ผู้หญิงหลายคนอาจถูกจับกุมเพียงเพราะนั่งอยู่ในร้านอาหารคนเดียว เปลี่ยนงานที่ตนเองทำ หรือบ่อยครั้งที่ถูกจับโดยไม่สามารถหาความสมเหตุสมเหตุผลได้เลย
ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1910–1970 ผู้หญิงในประเทศสหรัฐอเมริกาหลายหมื่นหลายแสนคนถูกควบคุมตัวและถูกบังคับให้ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มันคือโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อไล่หาหญิงที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากเจอว่าใครมีผลเป็นบวก พวกเธอจะถูกเจ้าหน้าที่นำไปขังในสถานกักกันทันที โดยไม่มีขั้นตอนการไต่สวนหรือกำหนดวันกลับใดๆ ผู้หญิงเหล่านี้อาจถูกกักขังตั้งแต่สองสามวันไปจนถึงหลายเดือน ภายในสถานกักกันนี้ ผู้หญิงทุกคนจะถูกฉีดสารปรอทเข้าร่างกาย และบังคับให้กินยาที่มีสารหนูเป็นส่วนประกอบ มันคือวิธีการรักษาซิฟิลิสสุดแปลกเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีมาแล้ว หากใครขัดขืน ไม่เคารพในกระบวนการ หรือประพฤติตัวไม่เหมาะสม ผู้หญิงเหล่านี้อาจถูกทุบตี ราดด้วยน้ำเย็นจัด ถูกขังเดี่ยว หรือแม้แต่นำตัวไปทำหมัน
‘แผนอเมริกัน’ เริ่มต้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในปี ค.ศ.1917 เมื่อรัฐบาลกลางรู้สึกตกใจเมื่อรู้ว่าผู้ชายจำนวนถึงหนึ่งในสามของกองทัพติดเชื้อซิฟิลิสหรือโรคหนองในซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติอีกด้วย การสูญเสียทหารไปด้วยอาการเจ็บป่วยมากขนาดนี้อาจทำให้แพ้ในสงครามได้เลยทีเดียว
รัฐบาลจึงตัดสินใจออกกฎหมายห้ามการค้าประเวณีภายในพื้นที่ที่พวกเขาเรียกว่า ‘เขตศีลธรรม’ (moral zone) คือรัศมีห้าไมล์หรือราวแปดกิโลเมตรจากค่ายฝึกทหารทุกแห่งในประเทศ และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อรัฐบาลรู้ว่าทหารที่ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พวกเขากลับบ้าน และไม่ได้เกิดกับการมีเพศสัมพันธ์โดยการซื้อบริการทางเพศเป็นส่วนใหญ่ กฎหมายนี้จึงถูกขยายให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ผู้หญิงทุกคนในประเทศกลายเป็น ‘ผู้ต้องสงสัย’
ในปี ค.ศ.1918 รัฐบาลกลางได้เริ่มผลักดันทุกรัฐในประเทศให้มีกฎหมายต้นแบบ ที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถบังคับตรวจสอบบุคคลใดๆ ที่ ‘ต้องสงสัยว่ามีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์’ ได้ภายใต้กฎหมายนี้ และผู้ที่ตรวจพบว่ามีเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จะถูกควบคุมตัวนานเท่าไหร่ก็ได้ที่จะทำให้เขาหรือเธอหายจากการติดเชื้อ สิ่งที่น่าสนใจในคือกฎหมายนี้ไม่ได้ระบุเพศเอาไว้ แต่ท้ายที่สุดแล้วในทางปฏิบัติจะเน้นไปที่การควบคุมตัวผู้หญิงเท่านั้น
ในยุคนั้นสังคมต่างมองว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นโรคระบาดที่น่าเกลียดชัง และผู้ที่กลายเป็นแพะรับบาปในครั้งนี้คงหนีไม่พ้นหญิงผู้มีอาชีพให้บริการทางเพศ ที่มักถูกตำหนิอยู่เสมอว่าเป็นอาชีพที่แพร่เชื้อติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งที่ส่วนใหญ่แล้วนั้นไม่ใช่
ในปี ค.ศ.1921 ทุกรัฐทั่วประเทศ มีกฎเกณฑ์ที่กำหนดนี้ เมืองและรัฐต่างๆ ถูกบังคับใช้กฎหมาย ‘ศีลธรรม’ นี้ไปอีกหลายสิบปี มีการกวาดล้างผู้หญิงครั้งใหญ่ในหลายเมือง โดยเฉพาะเมืองแซคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เรียกกันว่า ‘การกวาดล้างแซคราเมนโต’ ที่เฮนเนสซีย์และน้องสาวของเธอได้เผชิญมา
เฮนเนสซีย์เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในวันนั้นที่ลุกขึ้นสู้เพื่อเพศของตน เธอได้เล่าเรื่องราวอันบอบช้ำนี้ให้กับหลายสื่อสำนักพิมพ์ เรื่องราวของเธอจึงเป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่ถูกบันทึกมาจนถึงปัจจุบัน
สุดท้ายแล้วผลการตรวจสอบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของทั้งเฮนเนสซีย์และน้องสาวของเธอก็เป็นลบ ทั้งสองถูกปล่อยตัวกลับบ้านในกลางดึกคืนนั้นพร้อมกับหญิงสาวอีก 16 คน ส่วนอีก 6 คนยังไม่ทราบผล พวกเธอที่เหลือถูกคุมขังข้ามคืนโดยไม่อนุญาตติดต่อใครแม้แต่ครั้งเดียว แต่เรื่องราวของเฮนเนสซีย์ไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะมีคำสั่งให้พวกเขาไปขึ้นศาลในเช้าวันรุ่งขึ้น
เช้าวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1919 เฮนเนสซีย์เข้าไปในศาลเพื่อพิสูจน์ความเป็น ‘ศีลธรรมอันดี’ ของตนเอง
เธอประกาศต่อศาลแซคราเมนโต ว่าเธอไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะปกป้องตนเอง เจ้าหน้าที่ทุกคนจับเธอและหญิงคนอื่นโดยไม่สนใจว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นใครและกำลังทำอะไรอยู่
“ฉันไม่กล้าออกไปเที่ยวตามท้องถนนอีกต่อไป เพราะกลัวว่าฉันจะถูกพวกเขาจับอีกครั้ง” เฮนเนสซีย์กล่าว สุดท้ายแล้วศาลก็ยกฟ้องคดีของเธอและน้องสาว
ท้ายที่สุดวันนั้น มีผู้หญิงเพียงคนเดียวจาก 22 คนที่มีผลเป็นบวกสำหรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กว่า 21 คนต้องสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิงจากความสงสัยที่ไม่สมเหตุสมผลของเจ้าหน้าที่ดูแลศีลธรรม อีกทั้งยังไม่มีผู้ชายคนไหนที่ถูกจับในกฎหมายเดียวกันแม้ว่าในกฎหมายจะไม่เคยระบุเพศเอาไว้เลย มันบ่งบอกถึงความไม่เท่าเทียมกันอย่างชัดเจนของสังคมในยุคนั้น
มาตรฐานที่คลุมเครือของกฎหมายเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงสามารถถูกกักขังเมื่อไหร่ที่ไหนก็ได้ตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการ เพียงแค่คำว่า ‘สงสัย’ คำเดียว เจ้าหน้าที่เหล่านี้จับกุมผู้หญิงจากการนั่งที่ร้านอาหารเพียงลำพัง จากการเปลี่ยนงานเปลี่ยนอาชีพ จากการเดินอยู่กับผู้ชาย หรือเพราะเดินไปตามถนนให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้เห็น โดยไม่มีเหตุผลอะไรที่ประกอบการจับกุมได้เลย เลวร้ายไปกว่านั้นคือถูกจับกุมเพราะ ‘ปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์กับตำรวจหรือกับเจ้าหน้าที่’ ซึ่งเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับผู้หญิงผิวสีและผู้หญิงอพยพ มีบันทึกว่าพวกเธอถูกล่วงละเมิดอย่างรุนแรงในสถานที่ที่ถูกกักขัง โดยเจ้าหน้าที่ที่บอกกับสังคมว่าตนเองนั้นเป็น ‘ผู้ดูแลศีลธรรม’
‘แผนอเมริกัน’ นี้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1970 ท่ามกลางการเรียกร้องสิทธิพลเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างยิ่งยวด ผู้หญิงในสหรัฐอเมริกามากมายออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศของตนเอง มีหลายคนที่ถูกกระทำชำเราและข่มขืนจาก ‘แผนอเมริกัน’ นี้ แต่กลับไม่มีการสอบสวนย้อนหลังจับกุมหรือใดๆ บางคนพยายามทำให้เรื่องราวนี้เป็นเรื่องที่ถูกลืมไปในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเรื่องอัปยศที่สุดที่เกิดขึ้นจากผู้บังคับใช้กฎหมาย
อ้างอิงข้อมูลจาก