คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะโลกร้อนกำลังเล่นงานสิ่งมีชีวิตอย่างหนักหน่วง เมื่อบราซิลพบซากโลมาจำนวนมากในทะเลสาบ ผู้เชี่ยวชาญชี้ เกิดจากน้ำที่ร้อนจัดเนื่องจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
เป็นเวลากว่า 10 วันแล้วที่ชาวเมืองเทเฟ รัฐอามาโซนัส ประเทศบราซิล พบกับภาพอันน่าสยดสยอง ซึ่งก็คือซากโลมาแม่น้ำแอมะซอน (amazon river dolphin) หรือ โลมาสีชมพู (pink dolphin) จำนวนมหาศาลลอยอยู่บนทะเลสาบเทเฟ พร้อมกับอีแร้งที่บินวนรอบๆ พวกมันอยู่
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักวิทยาศาสตร์และผู้สนับสนุนสัตว์ป่าเป็นอย่างมาก เนื่องจากโลมาเป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในลิสต์ใกล้จะสูญพันธุ์อยู่แล้ว โดยพวกเขาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “สาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ความร้อนจัดและความแห้งแล้ง ที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño)”
เพราะหลังจากการตรวจสอบพบว่า อุณหภูมิของน้ำในทะเลสาบเทเฟสูงถึง 39 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิโดยเฉลี่ยที่ควรจะเป็นมากพอสมควร นอกจากนี้ ระดับของทะเลสาบก็ยังลดลงอย่างมาก ดังนั้น 2 ปัจจัยนี้ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องที่น่าใจหายขึ้น
“เมื่อน้ำเริ่มอุ่นขึ้น โลมาจะสูญเสียออกซิเจน และในท้ายที่สุดพวกมันก็จะตาย” คลอเดีย ซาคราเมนโต (Claudia Sacramento) หัวหน้าแผนกเหตุฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมของสถาบันชิโก้ เมนเดส กล่าว
เธอเสริมว่า “ไม่เคยมีเหตุการณ์เลวร้ายขั้นนี้เกิดขึ้นมาก่อน” เช่นเดียวกับ จูรา บริเซนโญ่ (Yurasi Briceño) ผู้อำนวยการโครงการโซตาเลีย องค์กรที่วิจัยและอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในน้ำ เรียกการตายของโลมาในบราซิลครั้งนี้ว่าเป็นหายนะ “ไม่มีประเทศใดในภูมิภาคนี้พร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้” เธอระบุ
“เป็นเพียงเรื่องของเวลา หลังจากนี้แม่น้ำสายอื่นๆ ในแอมะซอนจะประสบกับการสูญพันธุ์ที่คล้ายกัน ..มนุษย์เป็นผู้ที่ทำให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น และอีกไม่ช้าเราก็จะเป็นรายต่อไป”
อ้างอิงจาก