ทุกวันนี้ คุณยังใช้แอปฯ หาคู่อยู่ไหม แล้วแอปฯ หาคู่แบบไหน ที่จะโดนใจคุณ?
ย้อนไปเมื่อปี 2014 แอปฯ หาคู่อย่าง ‘Bumble’ ได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับกระแสความนิยมที่มากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง เพราะ Bumble มีจุดเด่นคือผู้หญิงจะต้องเป็นคนทักผู้ชายก่อนเท่านั้น แต่ในวันนี้ Bumble กลับเพิ่มฟีเจอร์ที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเป็นคนทักก่อนอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันชาวสหรัฐฯ เริ่มเลิกใช้แอปฯ หาคู่ รวมถึงเหตุผลที่มีแอปฯ หาคู่อยู่เต็มตลาด ทำให้แอปต่างๆ ต้องปรับตัวมากขึ้น รวมถึง Bumble เอง ที่จะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ที่เรียกว่า ‘ตัวเปิดเกม’ (Opening Moves) โดยจะให้ผู้หญิงตั้งคำถามไว้บนโปรไฟล์ของพวกเธอได้ เช่น “วันพักผ่อนในฝันของพวกคุณคืออะไร” แล้วให้ผู้ชายสามารถเข้ามาตอบได้ และสำหรับคนที่เป็นนอนไบนารี หรือสนใจเพศเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายสามารถใช้ฟีเจอร์นี้ได้ทั้งในฐานะคนถามและคนตอบ
เดิมที Bumble เป็นแอปหาคู่ที่มีเอกลักษณ์ในการให้ผู้หญิงเป็นคนเริ่มทักหาก่อนเท่านั้น โดยถ้าหากเกิดการ ‘แมตช์’ (match) หรือจับคู่กันได้แล้ว ภายใน 24 ชั่วโมง ผู้หญิงจะต้องส่งข้อความหาผู้ชาย โดยผู้ชายทำได้แค่รอเท่านั้น และถ้าเกินเวลาแล้ว การแมตช์นั้นก็จะหมดอายุและหายไปทันที
วิทนีย์ วูล์ฟ เฮิร์ด เป็น CEO และผู้ก่อตั้ง Bumble โดยอาศัยประสบการณ์การทำงานในฝ่ายการตลาดของ Tinder ทำให้เธอพบว่ายังขาดความละเอียดอ่อนบางอย่างไป โดยเธออธิบายถึงประสบการณ์ส่วนตัวด้วยว่า “ฉันมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีมาหลายต่อหลายครั้ง โดยรู้สึกว่าถูกผู้ชายควบคุม เช่น ห้ามแต่งตัวแบบนี้นะ ห้ามออกไปเที่ยวกับคนนี้นะ ต้องกลับบ้านเวลานี้เท่านั้นนะ” ซึ่งเธอมองว่าผู้หญิงมีพลังมากกว่านั้น และอยากท้าทายความคิดของคนในสังคมที่ว่าผู้หญิงต้องไม่เป็นฝ่ายทักไปก่อน
แต่ตลอดหลายปีมานี้ มีเสียงจากผู้ใช้หญิงสะท้อนมาว่าการต้องเริ่มก่อนนั้นเป็น ‘ภาระ’ และรู้สึกกดดันกับวิธีการนี้ วิทนีย์จึงเริ่มคิดหาวิธีแก้ จนนำมาซึ่งฟีเจอร์ ‘ตัวเปิดเกม’ ที่ผู้หญิงยังควบคุมได้โดยเป็นผู้ตั้งคำถาม แต่ก้ไม่ต้องเริ่มต้นบทสนทนาทั้งหมดด้วยตัวเอง
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มขึ้นหลังจาก Bumble มีการเปลี่ยนแปลงภายในบริษัทครั้งใหญ่ เมื่อวิทนีย์ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานบริหาร และลิเดียนา โจนส์ ผู้เคยเป็นประธานบริหารของ Slack เข้ามารับตำแหน่งแทนในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
แล้วคนไม่นิยมแอปฯ หาคู่แล้วจริงหรือ?
“ปัจจุบันมีแอปหาคู่เยอะเต็มไปหมด” แคทเธอรีน ดี โคดูโต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสื่อที่มหาวิทยาลัยบอสตันกล่าว และเสริมว่าอาจไม่มีแอปไหนเลยที่ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้ใช้มองหาได้จริงๆ
ข้อมูลจาก Pew Research Center พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า 30 ปีในอเมริกา ได้ลองใช้แอปฯ หาคู่ แต่กลับรู้สึกไม่ค่อยประทับใจเท่าไร และจากการสำรวจโดย Axios และ Generation Lab ยังพบว่า ผู้ตอบแบบอบถามซึ่งเป็นนักศึกษากว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปิดแอปฯ หาคู่ดูสักเท่าไร
อย่างไรก็ได้ ลิเดียนาโต้แย้งว่า ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกยังต้องพึ่งพาแอปฯ หาคู่ต่อไป โดยในปี 2023 Bumble มีผู้ใช้งานสูงถึงกว่า 42 ล้านคนต่อเดือน
แต่ตลาดแอปฯ หาคู่ก็ยังคงดุเดือด เพราะมีคู่แข่งหน้าใหม่มากมาย ที่บางส่วนใช้ AI อย่าง Machine Learning (ML) เข้ามาช่วย (ML เปรียบเสมือนระบบสมองของ AI) ซึ่งมันจะเข้ามาช่วยผู้คนในการเริ่มบทสนทนากับคู่เดทที่เหมาะสม หรือบางแอปก็ใช้แชทบอทเข้ามาช่วยในการคิดการเริ่มบทสนทนา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ด้วย
Bumble และ Tinder เองก็ได้ขยับปรับตับตาม โดยนำ ML เข้ามาใช้บ้าง โดยเฉพาะในส่วนของอัลกอริทึมการแมตช์จับคู่ผู้ใช้ ซึ่ง Bumble เองก็ไม่เพียงแต่ออกฟีเจอร์ ‘ตัวเปิดเกม’ เท่านั้น แต่ยังมีฟีเจอร์ใหม่ๆ อีก เช่น การเพิ่มประเภทความสัมพันธ์ที่มองหาลงในโปรไฟล์ได้ อย่าง “ไม่ผูกมัด” หรือ “ความสัมพันธ์มากกว่า 2 คน” รวมถึงใส่ลักษณะนิสัยของคู่เดทที่มองหา และประเด็นทางสังคมที่ตนสนับสนุน เช่น “Black Lives Matter” หรือ “เฟมินิสต์”
“ผู้คนต่างโหยหาความรู้สึกของความสัมพันธ์ที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นเองได้” วิทนีย์กล่าว แต่เธอก็ไม่คิดว่านี่จะเป็นจุดสิ้นสุดของแอปฯ หาคู่ เพราะยังไงเทคโนโลยีก็ยังสะดวกและมีประโยชน์มากๆ ต่อคนที่อยากหาคู่อยู่ดี ทั้งสามารถเลือกคนที่เหมาะกับผู้ใช้มาให้ได้ และกรองคนที่ไม่เหมาะกับผู้ใช้ออกไปให้ได้ด้วย
อ้างอิงจาก