ใกล้จะวันวาเลนไทด์อย่างนี้มีใครยังไม่มีคู่บ้างไหม? แต่จะให้ไปหาจากไหนล่ะ ทุกวันนี้แค่ตื่นมา ฝ่ารถติดไปทำงาน โดนพี่ที่ทำงานหยุมหัว ตบตีกับลูกค้า เลิกงาน กลับบ้าน นอน ก็หมดวันแล้ว แต่ละวันก็เจอแต่คนที่ทำงาน ป้าร้านอาหารแถวบ้าน แล้วก็พี่ยามหน้าคอนโด แล้วจะให้ไปหาความรักจากไหนอีกถ้าไม่ใช่แอปฯ หาคู่ แต่คำถามคือแอปฯ หาคู่นี่มันทำให้เราได้เจอคนที่ใช่จริงไหม? แล้วทำไมบางคนปัดเท่าไรก็ยังไม่เจอคนที่ใช่สักที?
สำหรับคนที่ไม่เคยใช้ แอปพลิเคชั่นหาคู่นั้นมีกลไกมากมายหลายแบบ แต่แบบที่เหมือนจะรู้จักกันดีที่สุดคือระบบจับคู่ (match) วิธีการก็คือ ฝ่ายชายก็จะมีโปรไฟล์ผู้หญิงที่เล่นแอปฯ นี้มาให้เลือกเยอะแยะไปหมดเลย ชอบคนไหนก็แค่กดหัวใจหรือบางแอปฯ ก็ใช้การปัดขวา ฝ่ายหญิงก็เช่นกัน เธอก็จะนั่งพิจารณาโปรไฟล์ ของผู้ชายมากมายในแอปฯ แล้วก็เลือกกดหัวใจให้กับคนที่ถูกใจ ถ้าคู่ไหนที่ทั้งสองฝ่ายกดหัวใจ (หรือปัดขวา) ให้กันก็จะเรียกว่า ‘match’ แล้วก็จะได้แชทคุยกันต่อไป
จุดสำคัญที่ทำให้แอปฯ หาคู่ต่างจากการหาคู่ในชีวิตจริงคือเราไม่รู้ว่าใครกดหัวใจให้เราบ้าง ในชีวิตจริงเราอาจจะรู้ตัวเวลามีคนมาจีบ ถึงเราอาจจะไม่ได้ชอบเขาตั้งแต่ต้นแต่พอถูกจีบมากๆ เข้าก็อาจจะเริ่มใจอ่อน แต่สิ่งนี้ไม่สามารถเกิดได้ในแอปฯ หาคู่ เพราะทั้งคู่ต้องชอบกันก่อนเท่านั้นถึงจะได้มีโอกาสคุยกัน มันจึงดูเป็นเรื่องยากกว่าหน่อย เพราะต้องลุ้นให้ทั้งสองฝั่งใจตรงกันเท่านั้น
คลิปยูทูบเรื่อง Why Men Get So Few Matches on Dating Apps ของช่อง Memeable Data ทดลองทำการจำลองสถานการณ์ทางคณิตศาสตร์ โดยสมมติว่าในแอปฯ หนึ่งมีผู้ชายและผู้หญิงอยู่เท่าๆ กันคือ 500 คน และสมมติในแต่ละวันผู้ใช้แอปจะถูกสุ่มโปรไฟล์มาให้เลือกจำนวน 100 คน และนั้นกดไลก์อย่างสุ่มด้วยความน่าจะเป็นเท่ากับ 0.25 หรือโดยเฉลี่ยหนึ่งคนทุกๆ 4 คน ผลคือโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคนจะมีโอกาสที่จะได้รับไลก์เท่ากับ 25 ครั้ง และมีโอกาส match เฉลี่ย 6.25 ครั้งต่อวัน ตัวเลขนี้ก็ฟังดูดี
แต่นี่ไม่ใช่การจำลองสถานการณ์ที่สมจริง เพราะจากข้อมูลของ Statista พบว่าผู้ใช้แอปฯ หาคู่ในอเมริกาปี 2021 นั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ในแอปฯ Bumble มีผู้ใช้เพศชายถึง 62.4% ส่วนของ แอปฯ Tinder มีผู้ใช้เพศชายอยู่ถึง 75% นั่นแปลว่าผู้หญิงจะมีตัวเลือกให้เลือกมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข้อมูลจาก The New York Times อีกว่าโดยทั่วไปผู้ชายมีแนวโน้มจะกดไลก์ให้ใครสักคนมากกว่าที่ผู้หญิงกดถึงประมาณ 3 เท่า พูดง่ายๆ คือผู้หญิงจะค่อนข้างพิถีพิถันในการเลือกในขณะที่ผู้ชายนั่นจะกดไลก์ไปหมด
คลิปดังกล่าวจึงลองจำลองสถานการณ์ใหม่ด้วยข้อมูลที่สมจริงขึ้น คือสมมติให้มีผู้ชายทั้งหมด 667 คนต่อผู้หญิง 333 คน และกำหนดให้ผู้ชายมีโอกาสกดไลก์ถึง 46% นั่นคือแทบจะกดคนเว้นคน ส่วนผู้หญิงมีโอกาสกดไลก์แค่ 14% เท่านั้น ผลคือจำนวนครั้งผู้ชายสักคนจะได้รับไลก์ลดลงไปเหลือแค่ 7 ครั้งและจับคู่ได้แค่ 3.2 ครั้งต่อวัน ในขณะที่จำนวนครั้งที่ผู้หญิงสักคนจะถูกปัดขวาโดยเฉลี่ยพุ่งไปถึง 92.1 ครั้งซึ่งถือว่าเยอะกว่ามาก
แม้เรื่องนี้จะฟังดูเป็นข่าวร้ายสำหรับคุณผู้ชายที่หวังจะตามหาคุณความรักในแอปฯ หาคู่ แต่ข่าวดีก็คือในโลกความเป็นจริงนั้นไม่ได้มีคนในแอปฯ เพียงแค่ 500 คน และที่สำคัญกว่าคือรายชื่อของผู้หญิงที่จะขึ้นมาให้คุณเลือกในแต่ละวันนั้นก็ไม่ได้ถูกแอปฯ หยิบมาอย่างสุ่มแบบใน การจำลองถึงแม้จะมีผู้หญิงอยู่ในแอปฯ อยู่ไม่มากเท่าผู้ชาย แต่ถ้าคนที่ขึ้นมาในหน้าแอปฯ เราแต่ละวันนั้นถูกเลือกมาก่อนขั้นหนึ่งแล้วว่าเรามีโอกาสจะสนใจ โอกาสเจอคนที่ใช่ก็อาจจะไม่ได้ดูเลวร้ายเหมือนในการจำลองแต่กระบวนการคัดกรองที่ว่านั่นทำอย่างไร และเราจะมั่นใจในมันได้แค่ไหน
ส่วนแรกคือการตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่โดยผู้เล่นเอง ปกติผู้ใช้แอปฯ หาคู่จะสามารถเลือกได้ว่าตัวเองมองหาคนเพศสภาพไหน อายุในช่วงไหนและพื้นที่แถวไหน ลองนึกภาพว่าสาวชาวไทยสักคนคงไม่ได้อยากจะนั่งคัดกรองคนทุกเพศทุกวัยจากทุกที่ทั่วโลก แต่ถึงตัดแล้วมันก็ยังเยอะอยู่ดี สมมติว่าผู้หญิงสักคนกำหนดเงื่อนไขของคนที่เธอสนใจว่าเป็นผู้ชาย อายุ 20-30 ในไทย นั่นก็ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ เลย ดังนั้นนอกจากการจำกัดขอบเขตของคนที่ตัวเองน่าจะสนใจโดยผู้ใช้แล้ว ตัวแอปเองก็ยังต้องช่วยคัดเลือกคนที่มีแนวโน้มว่าจะใช่มาให้เราเลือกด้วย
ในปี 2016 ออสติน คารร์ (Austin Carr) จากบริษัท Fast Company ได้ตั้งข้อสังเกตว่าทินเดอร์น่าจะเลือกคนมาจับคู่กันด้วย Elo score โดยแอปฯ จะโชว์ผู้ใช้ที่มี Elo score ใกล้เคียงกันเพื่อเพิ่มโอกาสปัดขวาให้มากขึ้น จริงๆ แล้ว Elo rating ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการกีฬาไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล บาสเกตบอล เบสบอล ไปจนถึงอีสปอร์ต มันถูกพัฒนาโดยอาร์แพด อีโล (Arpad Elo) นักกีฬาหมากรุกสัญชาติอเมริกัน-ฮังการีและอาจารย์สาขาฟิสิกส์ของ Marquette University โดยไอเดียของมันคือการเอาผลการแพ้ชนะในอดีตมาคำนวณเป็นระดับ สิ่งที่ทำให้ Elo score ต่างจากการนับผลแพ้ชนะ (win rate) ทั่วไปคือการที่ถ้าเราชนะ มันไม่ได้พิจารณาว่าแค่ว่าเราชนะ แต่มันพิจารณาด้วยว่าเราชนะใคร ถ้าเราแข่งหมากรุกชนะคนที่ Elo score สูง ค่า Elo score ของเราก็จะเพิ่มเยอะมากกว่าการชนะคนที่ Elo score ต่ำๆ
ข้อสันนิษฐานของออสติน คารร์ คือแอปฯ จะนับว่าผู้ใช้แต่ละคนถูกปัดขวาที่แปลว่าชอบ หรือปัดซ้ายที่แปลว่าไม่ชอบมากกว่ากัน และถูกใครปัด คนที่มีคะแนนสูงแปลว่ามีคนสนใจเยอะ ถ้าเขาหรือเธอไปปัดซ้ายใครเขาคะแนนของคนนั้นก็จะตกลงฮวบฮาบ แต่ถ้าคนฮอตพวกนั้นไปปัดขวาใครเขา คะแนนของคนนั้นก็จะพุ่งขึ้นมากกว่าการถูกปัดขวาโดยคนทั่วไป
ซึ่งถ้าข้อสันนิษฐานนี้ถูกแปลว่า แอปฯ จะพยายามจัดให้พวกคนฮอตมาเจอกันเอง และคนที่ไม่ฮอตเท่าไรมาเจอกันเอง ปัญหาหลักของวิธีการแสดงคนด้วย Elo score คือการที่ใครสักคนถูกปัดซ้ายบ่อยๆ ระบบจะมองว่าคนนั้นไม่ใช่สเป็กของคนส่วนใหญ่และจัดให้ไปเจอกับคนที่ไม่ใช่สเป็กของคนส่วนใหญ่เช่นกัน แต่สเป็กของคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ใช่สเป็กของเราก็ได้ ผู้หญิงสุดฮอตสักคนอาจจะดันไปชอบผู้ชายที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบ และเธอจะไม่มีวันได้ match กับเขาเลยถ้าแอปฯ ใช้ระบบแบบนี้
ต่อมาในปี 2019 ทินเดอร์ได้ออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่าข่าวที่บอกว่าพวกเขาใช้ Elo ในการเลือกคนขึ้นมาในแต่ละวันนั้นเป็นข่าวเก่า และพวกเขาไม่ได้ใช้มันอีกแล้ว ทินเดอร์บอกว่าตอนนี้พวกเขาใช้โมเดลคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเพื่อประมวลผลจากหลายๆ องค์ประกอบเพื่อแสดงคนที่เหมาะสมให้ผู้ใช้ได้ปัดขวา เช่นความสนใจที่คล้ายกัน องค์ประกอบรูปภาพ และข้อมูลจากการจับคู่ในอดีต สรุปก็คือเป็นการบอกที่เหมือนไม่บอก เพราะสุดท้ายพวกเขาก็ไม่ได้บอกออกมาชัดๆ ว่าแล้วปัจจัยอะไรบ้างที่ถูกใช้เพื่อเลือกคนขึ้นมาให้เราเลือก แต่ก็เข้าใจได้ว่าโมเดลพวกนั้นก็คงเป็นความลับทางธุรกิจ
แน่นอนว่าแอปฯ ต่างๆ ก็ต้องขยันหาสร้างโมเดลคณิตศาสตร์มาช่วยให้ผู้ใช้แอปฯ ของตัวเองหาคู่ได้มากขึ้นเพื่อรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ เพราะคงไม่มีใครอยากใช้แอปฯ ที่ปัดยังไงก็ไม่โดนใจใครสักที แต่ในทางกลับกันแอปฯ เหล่านั้นก็ต้องไม่อยากให้ผู้ใช้เจอคู่ง่ายเกินไปจนไม่ต้องกลับมาเล่นอีก ฟีเจอร์เสริมที่เสียเงินต่างๆ ของแอปฯ ที่ช่วยทำให้โอกาสจับคู่ให้สูงขึ้นนั้นก็ถูกออกแบบ เพื่อรักษาจุดสมดุลที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่ายังอยากจ่ายเงินให้แอปฯ ต่อไป ราวกับว่านอกจากการหาคู่ในโลกออฟไลน์ที่เราจะต้องสู้กับโลกความเป็นจริงที่ไม่เป็นใจ ในแอปฯ หาคู่ออนไลน์เราก็ยังต้องสู้กับคณิตศาสตร์ที่พยายามเลี้ยงไข้ความโสดของเราเอาไว้อีก
อ้างอิงจาก