เมื่อ 2 เดือนก่อน มนุษย์ได้ก้าวผ่านความท้าทายทางการแพทย์ไปอีก 1 ขั้น เมื่อโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่แมสซาชูเซตส์ ในสหรัฐฯ สามารถปลูกถ่ายไตหมูดัดแปลงพันธุกรรมให้กับร่างกายมนุษย์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในกลางเดือนมีนาคม
อย่างไรก็ดี เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ‘ริชาร์ด สเลย์แมน’ หรือ ‘ริก’ มนุษย์ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตคนนั้น ได้เสียชีวิตลงแล้ว ด้วยวัย 62 ปี โดยโรงพยาบาลแถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าการเสียชีวิตของริชาร์ดนั้นเกี่ยวข้องกับกระบวนการปลูกถ่ายไตหมู
เราขอชวนย้อนไปดูว่า ในตอนนั้น กระบวนการปลูกถ่ายไตหมูนี้เป็นอย่างไร และเรื่องราวของริชาร์ดเริ่มขึ้นยังไงบ้าง?
ริชาร์ดเป็นคนหนึ่งที่ป่วยและได้รับบริจาคไตมนุษย์เพื่อปลูกถ่ายในปี 2018 แต่ร่างกายก็เริ่มส่งสัญญาณปฏิเสธอวัยวะนี้ในปี 2023 ริชาร์ดจึงต้องเข้าคิวรอรับไตบริจาคอีกครั้ง แต่ก็ต้องรอคิวนานเหลือเกิน เพราะไตถือเป็นอวัยวะที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด โดยในสหรัฐฯ มีผู้รอรับบริจาคอยู่กว่า 90,000 คน
อาการของริชาร์ดเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ จากภาวะแทรกซ้อนในการฟอกไต ที่ทำให้หลอดเลือดของเขาผิดปกติ เขาจึงต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเขา ด้วยเหตุนี้ แพทย์ประจำตัวของริชาร์ดจึงแนะนำให้ ‘ปลูกถ่ายไตหมู’
ที่ผ่านมา การปลูกถ่ายไตหมูได้รับการทดสอบเฉพาะในผู้ที่เสียชีวิตได้ไม่นาน ดังนั้น ริชาร์ดจึงจะเป็นมนุษย์ที่ยังหายใจคนแรกที่จะได้รับการปลูกถ่าย “ไม่เพียงแค่มันจะช่วยชีวิตผมได้ แต่มันจะสร้างความหวังให้กับผู้คนหลายพันที่ต้องปลูกถ่ายไตเพื่อความอยู่รอด” ริชาร์ดกล่าว
กระบวนการย้ายอวัยวะจากสปีชีส์หนึ่งสู่อีกสปีชีส์ มักจะมีอุปสรรคที่ร่างกายมนุษย์จะรับรู้ว่าเนื้อเยื่อของสัตว์เป็นสิ่งแปลกปลอม จึงต้องใช้กระบวนการที่เรียกว่า การปลูกถ่ายซีโนทรานส์ (xenotransplantation) ที่อาศัยพันธุวิศวกรรมในการตัดต่อพันธุกรรมหลายสิบรายการ ในกรณีของริชาร์ด ไตถูกดำเนินการโดยบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ eGenesis เพื่อลบยีนหมูที่เป็นอันตราย และเพิ่มยีนของมนุษย์เข้าไป
อย่างไรก็ดี หลังการผ่าตัดได้ 5 วัน ทีมผ่าตัดแถลงว่าไตทำงานได้ปกติ อย่างไรก็ดี ประมาณสัปดาห์หลังจากนั้น ร่างกายของริชาร์ดก็เริ่มปฏิเสธไตนี้ แต่เมื่อให้ยาอย่างรวดเร็วทุกอย่างก็ปกติ จนริชาร์ดสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ โดยไม่มีรายงานอาการของริชาร์ดเพิ่มเติมหลังจากนั้น
“เรายังคงรู้สึกสบายใจจากมุมมองที่ว่า ริกได้มอบความหวังให้กับผู้ป่วยที่ยังรอการปลูกถ่าย … ความพยายามในการปลูกถ่ายครั้งนี้ ทำให้ครอบครัวของเราได้อยู่กับริกมากขึ้นถึง 7 สัปดาห์ ความทรงจำนั้นจะยังคงอยู่ในหัวใจของเรา” ครอบครัวของริชาร์ดกล่าวถึงการเสียชีวิตของเขา ในแถลงการณ์ของโรงพยาบาล
หลังจากริชาร์ด ก็มีมนุษย์อีกคนที่ได้รับการปลูกถ่ายไตหมู คือ ลิซ่า พิซาโน วัย 54 ปี ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตหมูดัดแปลงพันธุกรรมเมื่อเดือนที่ผ่านมา ที่ศูนย์ NYU Langone Health ในนิวยอร์ก ซึ่งได้รับไตจากหมูที่มีการตัดต่อพันธุกรรมเพียงตัวเดียว ผลิตโดยบริษัท Revivicor โดยแพทย์ได้ปลูกถ่ายต่อมไทมัสของหมูไปด้วย ซึ่งเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ที่จะช่วยป้องกันการปฏิเสธเนื้อเยื่อของหมูนี้ โดยลิซ่าจะต้องกินยากดภูมิไปตลอดชีวิต
ไม่ใช่เพียงแค่ไตเท่านั้น แต่ย้อนไปในปี 2022 และ 2023 ศัลยแพทย์จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ เคยพยายามปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมกว่า 10 รายการให้กับผู้ป่วย 2 รายที่มีปัญหากับการปลูกถ่ายหัวใจมนุษย์ หลังจากนั้น ทั้ง 2 คนเสียชีวิตประมาณ 2 เดือนหลังการปลูกถ่าย
จึงน่าจับตามองต่อไปว่าจากกรณีนี้ จะมีข้อสรุปถึงผลกระทบของการปลูกถ่ายไตหมูในร่างการมนุษย์เพิ่มเติมหรือไม่ รวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการปลูกถ่ายอวัยวะจะมีการศึกษาเพิ่มเติมหรือพัฒนาอย่างไรต่อไปเพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดพ้นจากความเจ็บป่วยของมนุษย์
อ้างอิงจาก