“อนาคตของเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 แทบทั้งหมดจะต้องถูกเขียนขึ้นในอินโด-แปซิฟิก – ในภูมิภาคของเรา” โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลง
ช่วงที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นสหรัฐฯ กลับมามีบทบาท หรือกลับมามี ‘ตัวตน’ ในภูมิภาคของเราที่เรียกรวมๆ ว่า ‘อินโด–แปซิฟิก’ เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เริ่มต้นจาก ‘การประชุมสุดยอดอาเซียน–สหรัฐฯ สมัยพิเศษ’ (ASEAN-U.S. Special Summit) ที่จัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 12-13 พ.ค. 2565 มาจนถึงการเยือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ของประธานาธิบดีไบเดน รวม 5 วัน
และล่าสุดที่สำคัญ คือ การเปิดตัว ‘กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด–แปซิฟิก’ (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) ในระหว่างการเยือนญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 กรอบดังกล่าวประกอบไปด้วยสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งในภูมิภาครวม 13 ประเทศ ซึ่งมีประเทศอาเซียนถึง 7 ประเทศ
สหรัฐฯ กลับมาทุ่มเทให้กับความสัมพันธ์ในเอเชีย โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จริงหรือ? ทำไปเพื่อสกัดอิทธิพลจีนหรือเปล่า?
The MATTER ได้ไปร่วมพูดคุยกับ ‘ไมเคิล ฮีธ’ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ในงานเสวนากับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 เพื่อคลายข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ
กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด–แปซิฟิก (IPEF) คืออะไร?
จากเอกสารของทำเนียบขาว กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF (อ่านว่า ไอเพฟ) คือกรอบความร่วมมือที่จะเน้นเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อผลักดันเรื่องความยืดหยุ่น ความยั่งยืน การเปิดกว้าง ความเป็นธรรม การแข่งขัน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
สมาชิกที่ร่วมก่อตั้งกรอบความร่วมมือดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย (สังเกตว่าเป็นประเทศอาเซียน 7 ประเทศที่ขาดไปคือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา) และล่าสุดเพิ่งมีฟิจิเข้าร่วมเป็นประเทศที่ 14
IPEF ประกอบไปด้วย 4 เสาหลัก คือ
- เศรษฐกิจเชื่อมโยง กำหนดข้อบังคับสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล
- เศรษฐกิจยืดหยุ่น ดำเนินการให้ห่วงโซ่อุปทานมีความปลอดภัยและยืดหยุ่น
- เศรษฐกิจสะอาด การจัดการการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
- เศรษฐกิจเป็นธรรม ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทันสมัย บังคับใช้กฎการค้าที่เป็นธรรม เช่น การเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ และจัดการกับการทุจริต
ไมเคิล ฮีธ อธิบายว่า IPEF ยังเป็น ‘work in progress’ อยู่ในระหว่างการพูดคุยกับสมาชิก และเป็น ‘กรอบความร่วมมือโดยสมัครใจ’ ไม่ใช่สนธิสัญญา และไม่ใช่กรอบที่สหรัฐฯ กำหนดขอบเขตมาแล้วตายตัว แต่จะเป็นการกำหนดร่วมกันโดยประเทศสมาชิก
ในอีกแง่มุมหนึ่ง สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ความไม่ชัดเจนนี้ก็ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า IPEF ขาด ‘เขี้ยวเล็บ’ ไป และอาจจะทำให้ยากลำบากที่จะออกมาเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพจริงๆ ได้เหมือนกัน
ออกมาเพื่อคานอำนาจจีนหรือเปล่า?
อีกเรื่องหนึ่งที่นักวิเคราะห์และสื่อตะวันตกหลายแห่งเห็นตรงกันแบบไม่ต้องสงสัยเลย คือ กรอบ IPEF ที่ว่านี้ ถูกเปิดตัวมาเพื่อคานอำนาจและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ขณะที่สื่อจีนอย่าง Global Times ถึงกับบอกว่า IPEF ก็คือ ‘NATO ในทางเศรษฐกิจ’
หรืออย่างการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน–สหรัฐฯ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ศาสตราจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เขียนบทวิเคราะห์ใน Bangkok Post ชี้ว่า สิ่งที่ไบเดนกำลังทำก็คือ “การผสมผสานระหว่างการหันหา [เอเชีย] ของโอบามา กับยุทธศาสตร์อินโด–แปซิฟิกของทรัมป์ในการสกัดกั้นจีน”
สำหรับกรณี IPEF ในมุมมองของสหรัฐฯ ฮีธก็ได้อธิบายว่า “IPEF ถูกพัฒนาขึ้นมาเนื่องจากในภูมิภาคนี้ ได้มีการเรียกร้องเป็นอย่างมากถึงการนำของสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศจำนวนมากอยากจะเห็นเราร่วมลงมือพัฒนาและยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่กับสหรัฐฯ แต่กับหุ้นส่วนการค้าทั่วโลกด้วย”
ฮีธย้ำด้วยว่า IPEF เป็นความพยายามในการรักษาระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา (rules-based order) ซึ่งไม่ใช่ ‘zero-sum game’ หรือสถานการณ์ที่มีคนได้-คนเสีย แต่เป็นการวิน-วินของทุกฝ่าย
“เป้าหมายของเราคือการสนับสนุนการค้าเสรี การเชื่อมโยงซึ่งกันและกันระหว่างระบบเศรษฐกิจของเรา และการทำให้เป็นระบบที่ปราศจากการบีบบังคับจากประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าหุ้นส่วนของเราทั้งหมดเห็นด้วยกับเป้าหมายตรงนี้”
บทบาทของสหรัฐฯ ในอาเซียนภายใต้การนำของไบเดน
สหรัฐฯ จะมีบทบาทอย่างไรในปีต่อๆ ไปที่จะถึงนี้? ฮีธเปิดเผยว่า สหรัฐฯ จะต่อยอดจากการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ที่เกิดขึ้น และคงจะได้ร่วมมือกันมากขึ้น รวมถึงจะเข้าร่วมการประชุมเอเปค (APEC) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้ และสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพในปีต่อไป และโดยเฉพาะภาคเอกชนที่จะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ฮีธตอกย้ำอีกว่า “ผมไม่คิดว่าเราเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะว่าเรากำลังพยายามแข่งขันกับใคร” แต่มาจากเหตุผลที่ว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นภูมิภาคหลักที่เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจระหว่างประเทศในช่วงปีที่เหลือของศตวรรษนี้”
ขณะเดียวกัน หลายคนอาจจะมองว่า สหรัฐฯ ‘กลับมา’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่ห่างหายไปภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ฮีธก็บอกว่า สหรัฐฯ ไม่เคยหายไปไหน “เราอยู่ตรงนี้มาตลอด” และหากดูในภาคเอกชน ฮีธก็ชี้ว่า สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเศรษฐกิจของอาเซียน
สหรัฐฯ และความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้
เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมายังคงเป็นที่จับตามอง สังเกตได้ว่าเมียนมาไม่ได้เป็นทั้งหุ้นส่วนในกรอบ IPEF ที่เพิ่งเปิดตัว และไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ในเรื่องนี้ ฮีธระบุว่า สหรัฐฯ “ยังคงกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา” หลังการรัฐประหารเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว
ฮีธแถลงว่า “เราเรียกร้องให้คณะรัฐประหารฟื้นคืนการปกครองแบบประชาธิปไตย เพื่อให้สามารถเข้าถึงนักโทษทางการเมือง เพื่อให้สามารถเข้าถึง ออง ซาน ซูจี ผู้นำที่ถูกยึดอำนาจ เราสนับสนุนอาเซียน และ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ของอาเซียน ในฐานะหนทางสู่การแก้ไขปัญหา”
นอกจากนี้ ฮีธระบุว่า สหรัฐฯ สนับสนุนการทำงานของผู้แทนพิเศษอาเซียนและสหประชาชาติ และอยากจะเห็นความร่วมมือของผู้แทนของทั้งสองฝ่ายนี้ รวมถึงประเทศต่างๆ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ในการหาหนทางแก้วิกฤตครั้งนี้ด้วย
วิกฤตในเมียนมานี้ถือเป็นประเด็นที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ ฐิตินันท์วิเคราะห์ว่า “ชาติอาเซียนต้องการให้ [สหรัฐฯ] สนใจและให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้ถามถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย” ขณะที่สหรัฐฯ ก็อยากจะเห็นอาเซียนทำอะไรบางอย่างกับรัฐบาลทหารเมียนมา
สำหรับประเทศไทย ก็มีการถามถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีนี้ ฮีธเปิดเผยว่า สหรัฐฯ ได้ “พูดคุยกับไทยหลายครั้งแล้วในอดีต ถึงการเคารพในสิทธิมนุษยชนและความสำคัญของการยึดมั่นในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน”
ในมุมมองของฮีธ เขาคิดว่า ประเทศไทยเห็นด้วยกับทั้งการเคารพในสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติตามปฏิญญาสากลฯ “ผมคิดว่าประเทศไทยจะเป็นหุ้นส่วนที่ร่วมยึดถือปฏิบัติตามในแบบเดียวกับที่เราทำ” เขากล่าว