ล่าสุดมีซีรีส์เรื่อง Fall Out ที่สร้างจากเกมในชื่อเดียวกัน ตัวเรื่องพูดถึงภัยพิบัตินิวเคลียร์และการมีอยู่ของพื้นที่หลบภัยในลักษณะชุมชนที่อยู่ใต้ดิน พื้นที่ปิดที่เชื่อว่าจะสืบทอดอเมริกันชนให้มีชีวิตรอด ก่อนจะกลับขึ้นมาสร้างอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่กันใหม่เมื่อโลกเข้าที่เข้าทาง
จินตนาการเรื่องสงครามนิวเคลียร์ และการเตรียมตัวรับมือเอาชีวิตรอดในภาวะวันสิ้นโลกเป็นจินตนาการร่วม และอันที่จริง เรื่องราวแบบใน Fall Out นับเป็นจินตนาการของมนุษย์เราที่ต่อเนื่องอยู่บนจินตนาการร่วมทางประวัติศาสตร์ การสร้างอาณาจักรหลบภัย นับเป็นจินตนาการของฝั่งอเมริกันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเมื่ออเมริกาพัฒนาอาวุธรุนแรงอย่างนิวเคลียร์ขึ้น และสามารถระเบิดเมืองทั้งเมืองของญี่ปุ่นให้ราบเป็นหน้ากลองได้ นอกเหนือแรงระเบิดที่เกิดขึ้น ยังพบผลกระทบจากรังสีที่รุนแรงจนอาจทำให้พื้นที่รอบๆ ปนเปื้อนและใช้ชีวิตไม่ได้
ถัดมาในช่วงที่เราเรียกว่าเป็นยุคสงครามเย็น อเมริกาในฐานะคู่ขัดแย้งสำคัญ เริ่มมีความกังวลถึงสงครามนิวเคลียร์และสงครามโลกที่อาจเกิดขึ้น อันที่จริงในช่วงหลังสงครามโลก ทั่วโลกมีท่าทีและเรื่องเล่าแตกต่างกันไป ญี่ปุ่นมีเรื่องเล่าเกี่ยวพันกับผลกระทบของสงคราม มีจินตนาการเช่นก็อตซิล่าในฐานะผลพวงของรังสี แต่สำหรับอเมริกาแล้ว ด้วยบริบททางสังคมทั้งในระดับชาติและแนวคิดเรื่องครอบครัวด้วยความอยากที่เอาตัวรอด การเตรียมรับมือระเบิดนิวเคลียร์เลยกลายเป็นแนวนโยบายและภาคปฏิบัติ
ในช่วงทศวรรษราว 50s-60s อเมริกาเริ่มมีแนวคิด แนวทางการสร้างหลุมหลบนิวเคลียร์จากแผนแม่บทที่วางไว้ และลงมือสร้างพื้นที่ใต้ดินเพื่อการอยู่อาศัย ในยุคนั้นอเมริกามีชุมชน มีความคิดเรื่องบ้านและครอบครัว พร้อมกันกับที่รัฐเริ่มแนะนำให้ประชาชนเตรียมหลุมหลบภัยและข้าวของพื้นฐาน การเตรียมตัวที่ดีเป็นความคิดพื้นฐานของการมีชีวิตรอด ในช่วงนี้เองที่เราจะเริ่มเห็นภาพของหลุมหลบภัยที่ป้องกันรังสีได้ มีชั้นที่เรียงรายไปด้วยอาหารกระป๋อง น้ำสะอาด และอุปกรณ์ยังชีพต่างๆ
ความกังวลและการเตรียมพร้อมของชาวอเมริกัน
ในปี 1945 นิวเคลียร์ลูกแรงลงที่ฮิโรชิม่า สงครามโลกยุติและโลกพักหายใจได้ไม่นาน 2 ปีให้หลัง สงครามเย็นก็เริ่มต้นขึ้นในปี 1947 และปี 1949 โซเวียตได้ทดลองนิวเคลียร์เซมิพาลาตินสค์ในคาซักสถาน บรรยากาศการสั่งสมวิทยาการและอาวุธโดยเฉพาะนิวเคลียร์ทำให้อเมริกาตื่นตัว ทั้งในแง่ของการพัฒนาความก้าวหน้า และสะสมแสนยานุภาพของอาวุธนิวเคลียร์ เช่น การรวบรวมแร่ยูเรเนียมในทศวรรษ 1950
ด้วยการประจักษ์ว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นเหมือนการเปิดกล่องแห่งหายนะ นอกจากการพัฒนาอาวุธเพื่อรับมือแล้ว อเมริกายังเกิดความกังวลถึงความเป็นไปได้ที่โลกจะล่มสลาย พื้นที่พื้นผิวของโลกจะถูกกวาดออกไปด้วยแรงระเบิด ทำให้ในทศวรรษเดียวกันคือช่วง 1950 นี้เองที่เริ่มมีความคิดเรื่องการสร้างพื้นที่กำบังใต้ดิน ใช้เทคโนโลยี เช่น คอนกรีตเสริมแรง ร่วมกับการเกิดขึ้นของอาหารพื้นฐาน คืออาหารแห้งและอาหารกระป๋องในฐานะเสบียงฉุกเฉิน การเตรียมตัวที่ดีอาจทำให้พลเมืองอเมริกันรอดพ้นจากสงครามโลกอันหมายถึงสงครามนิวเคลียร์ที่อาจมาถึงเร็ววันได้
ร่องรอยและแนวคิดของการขุดหลุมและสร้างพื้นที่หลบภัยถาวร เป็นแนวคิดที่มาจากรัฐบาล คือมาจากทั้งข้อแนะนำของประธานาธิบดีเคนเนดี้โดยตรง ไปจนถึงมีการเคาะงบประมาณในการสร้างโครงข่ายชุมชนฉุกเฉินไว้รองรับผู้คน ในระดับคำแนะนำจากประธานาธิบดีมีปรากฏตั้งแต่ในบทความที่เป็นข้อแนะนำในนิตยสาร Life ในปี 1961 และมีการถ่ายทอดเนื้อหาว่าด้วยการป้องกันภัยนิวเคลียร์ ซึ่งเคเนดี้กล่าวถึงความเชื่อว่า รัฐจะสามารถปกป้องผู้คนหลักล้านคนได้ถ้าอเมริกาสามารถสร้างพื้นที่หลบภัยไว้ได้อย่างเพียงพอ
ในปี 1961 เป็นปีที่หลุมหลบภัยนิวเคลียร์เกิดขึ้นในระดับรัฐ คือเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่รัฐลงทุนเริ่มปรากฏตัวขึ้น กนิตยสาร Fortune ตีพิมพ์บทความร่วมกันของบุคคลสำคัญ เช่น รองประธานาธิบดีร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ พูดถึงการสร้างโครงข่ายคอนกรีตขนาดใหญ่ที่จะกระจายตัวอยู่ทั่วสหรัฐซึ่งจะใช้เพื่อหลบภัยและพาให้พลเมืองหลักล้านคนรอดจากสงครามนิวเคลียที่อาจเกิดขึ้นได้ ในปีเดียวกันสภาคองเกรสอนุมัติงบที่คิดเป็นค่าเงินปัจจุบันที่ราว 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างพื้นที่หลบภัยส่วนกลางของประชาชน
ต่อมา ตัวโครงสร้างหรือโครงข่ายขนาดใหญ่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้น แต่สหรัฐใช้วิธีการร่วมมือและกระจายจุดหลบภัย เช่นให้อาคาร ขุดหรือก่อสร้างโครงสร้างที่เหมาะสม ในตอนนั้นคำแนะนำในการหลบให้พ้นรังสีคือการก่อคอนกรีตเสริมแรงหนา 2-3 ฟุต หรือจะให้ดีคือการขุดลึกลงไปใต้พื้นดินและสร้างคอนกรีตเพิ่มเติม
ในช่วงนี้เองที่สหรัฐเริ่มทำความตกลงและมีแผนสร้างจุดหลบภัยราว 400,000 จุดทั่วประเทศ มีการออกแบบสัญลักษณ์พื้นที่หลบภัยเป็นป้ายสีเหลือง ป้ายหลอนๆ ที่นักจิตวิทยาบอกว่าจะมองเห็นได้ในระยะ 200 ฟุต แต่แผนโครงข่ายเมืองหรือจุดหลบภัยยังไม่ทันได้เป็นรูปเป็นร่าง ก็ยุติการลงทุนสร้างไปในทศวรรษ 1970
แม้แผนระดับรัฐอาจล้มพับลง แต่การส่งเสริมหลุมหลบภัยส่วนบุคคลและชุมชนยังดำเนินต่อไป
หลุมหลบภัยอบอุ่น ฝันอเมริกันที่ขุดอยู่ใต้ดิน
ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 สหรัฐมีการออกแนวทางสำคัญในการรับมือและเอาตัวรอดกับสงครามนิวเคลียร์หลายชิ้น ส่วนใหญ่ออกเป็นแนวทาง เป็นแผ่นพับที่เป็นระบบ และในช่วงปี 1961 มีแนวทางสำคัญที่แพร่หลายมากที่สุดชื่อ ‘Fallout Protection: What to Know and Do About Nuclear Attack’
ในแผ่นพับของรัฐก็ตามชื่อ คือเป็นหนึ่งในเจ้าพ่อดินแดนฮาวทู มีการแนะนำอย่างเป็นระบบ มีไดอะแกรมบอก ตั้งแต่การลงมือและลงทุนสร้างพื้นที่หลบภัยในครัวเรือนรูปแบบต่างๆ ในคู่มือค่อนข้างแนะนำการเอาตัวรอดเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ มีหน้าตาของที่หลบภัยที่สร้างได้ในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น การก่ออิฐและคลุมด้วยหลังคาไม้ การขุดหลุมวางโครงสร้างไม้ และใช้ถุงทรายในการสร้างที่หลบภัยชั่วคราว
ตัวแผ่นพับให้ขั้นตอนและข้อมูลที่ละเอียดมาก เช่น งบประมาณที่อาจต่ำกว่า 150 เหรียญ มีลิสต์ข้าวของที่เป็นอินโฟกราฟิก ทั้งจานชาม ช้อนส้อม ผ้าห่ม น้ำ อาหารกระป๋อง อุปกรณ์เกี่ยวกับการพยาบาล ถุงพลาสติกและอื่นๆ ภายหลังมีการออกกระทั่งแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่หลบภัยเป็นคู่มือเฉพาะ
ในมิติของพื้นที่หลบภัยและความกังวลในระดับนานาชาติ คือความวิตกกังวลต่อสงคราม ภาพการเตรียมตัวในระดับครัวเรือนค่อนข้างสะท้อนและส่งเสริมค่านิยมแบบอเมริกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนผิวขาวชนชั้นกลาง เช่น แนวทางการออกแบบที่หลบภัยมักออกแบบสำหรับ 6 คน ในการจัดการหน้าตาหลุมหลบภัยมักให้ภาพของพ่อในฐานหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ลงมือสร้าง มีภาพของสุภาพสตรีที่แต่งกายเรียบร้อย กระโปรงครึ่งแข้งทำหน้าที่ดูแลที่อยู่อาศัยให้สะอาดเป็นระเบียบ เป็นภาพของความฝันอเมริกาครอบครัวอบอุ่น ที่พร้อมจะสืบทอดทายาทต่อไป แม้ภายนอกจะเต็มไปด้วยฝุ่นจากละอองนิวเคลียร์ก็ตาม
อันที่จริง จินตนาการแบบ Fall Out หรือหนังยุคหลังนิวเคลียร์หลายเรื่องที่พูดเรื่องชุมชน พื้นที่ควบคุมที่มักกลายเป็นพื้นที่ที่ดูเป็นอุดมคติ แต่ซ่อนไว้ด้วยความแปลกประหลาด เช่น การคิดว่าตัวเองอยู่ในการสืบทอดอารยธรรมสุดท้าย การรักษากฎระเบียบ และการสืบทอดเผ่าพันธุ์
ซึ่งนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของท่าทีที่แตกต่างกันต่อสงครามแล้ว เงื่อนไขของการเอาตัวรอดเหล่านี้มักกลายเป็นเงื่อนไขที่นักเขียนจะพาเราไปทดสอบความบ้าคลั่งในความเป็นมนุษย์ของเราอีกด้วย
อ้างอิงจาก