‘ถูกคุกคามทางเพศ บังคับให้เปลือย ไม่มีอำนาจต่อรอง’ หลายปัญหาที่นักแสดงหญิงต้องเผชิญเมื่ออยากเข้าสู่วงการบันเทิง แต่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติจริงไหม หรือเกิดจากอะไรกันแน่?
เมื่อวานนี้ (22 พฤษภาคม 2567) นักแสดงหญิง 3 คน และกัน จอมพลัง เข้าแจ้งความดำเนินคดี กรณีนักแสดงหญิงถูกอดีตผู้จัดการคุกคามทางเพศ ทั้งขอจับมือ ดึงไปกอด จูบ และลูบต้นขา พร้อมอ้างว่านี่คือ ‘การสอนการแสดง เวลาออกกล้องจะได้ไม่เขิน’ และยังแสดงอาการหึงหวงเวลาอยู่กับนักแสดงชาย โดยกัน จอมพลัง ระบุว่า ตอนนี้พบผู้เสียหายอย่างน้อย 7 คน
จากประเด็นนี้ ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ใต้โพสต์ข่าวจำนวนมาก ฝั่งหนึ่งมองว่าพฤติกรรมของผู้จัดการนั้นไม่สมควรกระทำ และควรได้รับโทษทางกฎหมาย แต่อีกส่วนหนึ่งตั้งคำถามกับผู้เสียหายว่าทำไมถึงเพิ่งมาแจ้งความ บ้างบอกว่า “ถ้าผู้จัดการหน้าตาดีก็คงยอมเล่นด้วย”
นอกจากนั้น ยังมีผู้แสดงความเห็นว่า การให้ผู้จัดการถึงเนื้อถึงตัวแทบจะกลายเป็น ‘ขั้นตอนปกติ’ ที่คนอยากเข้าวงการบันเทิงต้องทำใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสื่อบันเทิงปัจจุบันมีฉากทางเพศจำนวนมาก จึงยิ่งเป็นข้ออ้างว่าจะเป็นนักแสดงก็ต้องรับเรื่องพวกนี้นอกกล้องได้
แต่เรื่องเหล่านี้ เป็น ‘เรื่องปกติ’ ของวงการบันเทิงจริงหรือ?
ย้อนกลับไปในปี 2017 The New York Times รายงานข่าวใหญ่ กรณี ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) โปรดิวเซอร์ผู้ทรงอิทธิพลของฮอลลีวูด คุกคามทางเพศนักแสดง นางแบบ ผู้ช่วยงาน และใช้เงินปิดปาก หรือใช้กฎหมายขู่ ให้ผู้เสียหายอยู่เงียบๆ หลังจากเรื่องแดงขึ้นมา ก็มีนักแสดงหญิงที่เป็นผู้เสียหายอีกหลายคนออกมาเปิดเผยเรื่องของตนเอง จนเกิดการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญอย่าง #MeToo
สอดคล้องกับผลสำรวจในปี 2018 โดย USA Today จากการสำรวจผู้หญิง 843 คนที่ทำงานในฮอลลีวูด ทั้งนักแสดง ผู้กำกับ และตำแหน่งอื่นๆ พบว่า 94% เคยถูกคุกคามทางเพศระหว่างทำงานในฮอลลีวูด โดยมีพฤติกรรมหลายรูปแบบ เช่น ถูกสัมผัส 69% เจอคำพูดกับท่าทางไม่เหมาะสม มองเป็นเรื่องตลก 87% และถูกสั่งให้เปลือยตอนไปออดิชัน 10%
เหล่านี้จึงสะท้อนว่าการที่นักแสดงใหม่จะถูกกดขี่ทางเพศนั้นเกิดขึ้นมานาน ไม่ว่าจะเป็นในไทย หรือในต่างประเทศก็ตาม
แล้วทำไมเรื่องเหล่านี้ ถึงยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า?
แม้จะไม่อยากเป็นเหยื่อของการถูกคุกคามทางเพศ แต่การจะปฏิเสธหรือหนีออกมาจากวังวนนั้น สำหรับบางคน บางความสัมพันธ์ อาจไม่สามารถทำได้โดยง่ายและมีหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง เพราะมีสิ่งที่ครอบอยู่อย่าง ‘Power Dynamic’
Power Dynamic หมายถึง ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสองฝ่าย’ ซึ่งความต่างนี้ จะถูกนำมาใช้เพื่อกดขี่ฝั่งที่มีอำนาจน้อยกว่า
จากกรณีของผู้จัดการกับดาราหน้าใหม่ ผู้จัดการคือฝั่งที่มีอำนาจมากกว่า ทั้งชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือในวงการ ไปจนถึงอำนาจที่จะให้หรือไม่ให้งานกับดาราหน้าใหม่ การอ้างว่าผู้ถูกกระทำ ‘ยินยอม’ จึงต้องพิจารณาว่าเป็นการยินยอมให้กระทำจริง หรือเป็นการ ‘จำยอม’ เพราะไม่มีอำนาจต่อรองกันแน่
หลังโดนกระทำ หากดาราใหม่ลุกขึ้นมาส่งเสียง ความน่าเชื่อถือก็ยังน้อยกว่าผู้จัดการที่เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว จนผู้ที่ถูกกระทำยิ่งเสียหายหนักกว่าเดิม ซึ่งอาจทำให้เหยื่อเลือกที่จะเก็บเงียบมากกว่าเปิดเผยเรื่องนี้ออกมา
เมื่อปี 2021 คาย่า สโคเดลาริโอ (Kaya Scodelario) นักแสดงชาวอังกฤษ เล่าถึงตอนไปออดิชันภาพยนตร์กับผู้กำกับชื่อดังคนหนึ่ง ว่าผู้กำกับส่งอีเมลมาหาว่า “ใครก็ตามที่ยอมเปลือยกายก่อน จะได้งานนี้ไป” ทั้งที่ในบทไม่มีฉากเปลือยแต่อย่างใด
คาย่าอธิบายว่า “นักแสดงหน้าใหม่จำนวนมากถูกปลูกฝังว่าเป็นเรื่องปกติที่คุณค่าของพวกเราจะถูกวัดจากความเต็มใจในการโชว์เนื้อหนังของเรา” ดังนั้นคนที่อยากเข้าสู่วงการบันเทิงก็อาจต้องยอมแลกกับการโดนกดขี่เหล่านี้
เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (Jennifer Lawrence) ก็เช่นกัน หลังได้รับรางวัลออสการ์ไม่นาน เธอเล่าถึงประสบการณ์ตอนเด็กที่เพิ่งเข้าวงการ ว่าเธอถูกบังคับให้ลดน้ำหนัก โดยโปรดิวเซอร์ให้เปลือยและยืนเรียงแถวกับเด็กผู้หญิงอีก 5 คน “ตอนนั้นฉันติดกับดัก ฉันไม่อยากให้มันเป็นเรื่องน่าอายที่ถูกเล่าในนิตยสาร ฉันก็แค่อยากทำอาชีพนี้” เธอกล่าว
ลอว์เรนซ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “ภาพฝันของฉัน คือการที่ทุกคนได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียมกัน และจนกว่าจะถึงตอนนั้น ฉันจะใช้เสียงของฉันเพื่อเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชาย หรือใครก็ตามที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองจากเรื่องเหล่านี้ได้ … เราจะหยุดสถานการณ์เลวร้ายเหล่านี้ ไม่ให้มันเป็นเรื่องปกติอีกต่อไป”
อ้างอิงจาก