ช่วงดึกวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ เมืองเตโกลูกา (Tecoluca) ประเทศเอลซัลวาดอร์ ผู้ต้องขังกว่าสองพันคนถูกย้ายไปที่เรือนจำใหญ่พิเศษ (Mega Prison) ที่มีชื่อว่า ศูนย์กักกันการก่อการร้าย (The Centre for the Confinement of Terrorism หรือ CECOT) ซึ่งเป็นเรือนจำความปลอดภัยสูงสุดที่สร้างขึ้นท่ามกลางการปราบปรามแก๊งอาชญากรครั้งใหญ่ของรัฐบาล
CECOT ก่อสร้างเสร็จในเดือนมกราคม 2023 เพื่อรองรับผู้ต้องขังที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเรือนจำหลายแห่งในประเทศเกิดภาวะ ‘นักโทษล้นคุก’ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตราการกวาดล้างแก๊งค้ายาเสพติดอย่างเข้มงวดและไร้ปราณี ของประธานาธิบดี นายิบ บูเคเล (Nayib Bukele) ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2022 หลังจากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงจากแก๊งอาชญากรขึ้น และทำให้มีคนเสียชีวิตกว่า 62 คน ภายในหนึ่งวัน
“ข้อความถึงชาวแก๊ง: เพราะการกระทำของคุณ ตอนนี้เพื่อนซี้ของคุณจะไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน” ประธานาธิบดีบูเคเล กล่าวบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X หรือ Twitter เดิม) เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยหลังจากนั้นรัฐบาลได้ดำเนินการกวาดล้างอาชญากรอย่างจริงจัง จนตอนนี้ผ่านมากว่า 20 เดือน มีรายงานว่าจับกุมไปแล้วกว่า 80,000 คน และหลังจากการปราบปรามครั้งนี้ มีรายงานว่าอัตราการฆาตกรรมในเอลซัลวาดอร์ ลดลงถึง 56.8% จากปี 2022
ภายในคุกเป็นอย่างไร?
เรือนจำความปลอดภัยสูงสุดแห่งนี้ ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดและเด็ดขาด โดยในบริเวณห้องขังมีแสงไฟส่องตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ต้องขังต้องใช้มือรับประทานอาหาร เนื่องจากแม้ซ้อมพลาสติกก็อาจกลายเป็นอาวุธอันตรายได้ พวกเขาต้องนอนในที่แคบและแออัด บนเตียงสี่ชั้นซึ่งมีเพียงแผ่นโลหะรองรับ อีกทั้งในหนึ่งวันพวกเขาได้รับอนุญาตให้ออกจากห้องขังเพียง 30 นาทีเท่านั้น และเมื่อเข้าไปใน CECOT แล้ว พวกเข้าจะไม่ได้รับโอกาสให้ติดต่อกับโลกภายนอก
‘หลุมคอนกรีตและเหล็ก’ คือคำที่เจ้าหน้าที่ UN ใช้เรียกเรือนจำแห่งนี้ ซึ่งไม่นานหลังจาก CECOT เป็นที่รู้จัก หลายฝ่ายให้ความเห็นว่าเรือนจำดังกล่าวเป็นเหมือน ‘หลุมดำของสิทธิมนุษยชน’ เนื่องจากแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ข้อกำหนดเนลสันแมนเดลลา (The Nelson Mandela Rules)’ ซึ่งกำหนดให้เรือนจำปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความเคารพ ในฐานะมนุษย์ ที่มีศักดิ์ศรีและคุณค่าโดยกำเนิด
Fundación Cristosal หรือ NGO ด้านสิทธิมนุษยชน ในเอลซัลวาดอร์ เปรียบเทียบการคุมขังใน CECOT ว่าเป็นเหมือน ‘โทษประหารชีวิต’ โดยระบุว่า ในทุกๆ วันนักโทษต้องเผชิญ ‘ความทุกข์ทรมานแสนสาหัส’ ที่อาจเรียกว่าเป็นการทรมานได้ด้วยซ้ำไป
แม้ว่าอัตราการฆาตรกรรมจะลดลงจากการปราบปรามครั้งนี้ แต่ประเด็นด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน CECOT ยังเป็นที่จับตามองอย่างต่อเนื่อง และคำถามที่ว่ารัฐบาลจะสามารถปรับปรุงแนวทางการดูแลผู้ต้องขังได้อย่างไร ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป
อ้างอิงจาก
georgetownsecuritystudiesreview.org