1.
เอล ซัลวาดอร์เป็นประเทศเล็กๆ ในอเมริกากลาง ในช่วง 40-50 ปีก่อน ประวัติศาสตร์ของประเทศนี้เต็มไปด้วยความรุนแรง มีการเข่นฆ่าโดยรัฐอย่างต่อเนื่อง มีการทำรัฐประหาร บทบาทกองทัพเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองมาก ในช่วงก่อนปี ค.ศ.1980 นักการเมืองฝ่ายขวาร่วมมือกับกองทัพครอบงำประเทศ โดยมีแรงหนุนจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามากอบโกยครอบงำทางเศรษฐกิจ มีคนบางส่วนได้ประโยชน์ แต่ความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนมากย่ำแย่ถึงขีดสุด
เมื่อรัฐบาลฝ่ายขวากดขี่เพื่อนร่วมชาติ นักรบฝ่ายซ้ายจึงบังเกิดด้วยแรงสนับสนุนจากโซเวียตและคิวบา กองกำลังฝ่ายซ้ายก่อตั้งตัวเองเพื่อทำสงครามกับรัฐบาล กลายเป็นสงครามกลางเมืองตั้งแต่ปี ค.ศ.1980-1992 มีการลอบสังหารบาทหลวง นักการเมือง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และแน่นอนทุกสงครามประชาชนล้วนเป็นเหยื่อเสมอ
สงครามครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน บ้านแตกสาแหรกขาด ผู้หญิงถูกข่มขืน กองทัพภายใต้การสนับสนุนของอเมริกา เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นว่าเล่น กลุ่มนักรบฝ่ายซ้ายบางส่วนตัดสินใจแยกตัวออกจากความรุนแรงมาก่อตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าชิงอำนาจในสภาด้วย
เส้นทางการเมืองกับสนามรบ ดำเนินควบคู่กัน 10 กว่าปี กว่าจะสามารถเจรจาต่อรองยุติสงครามกลางเมืองได้ ชีวิตประชาชนก็สูญเสียไปอย่างมหาศาล
ก่อนจะยุติสงครามกลางเมือง รัฐบาลฝ่ายขวาได้ออกรัฐบัญญัตินิรโทษกรรม เพื่อทำให้การก่อเหตุล้อมปราบฆ่าผู้บริสุทธิ์ไม่สามารถถูกฟ้องร้องได้
หนทางแห่งการสมานฉันท์ต้องเลือกด้วยการบังคับให้ทุกคนลืมอดีต แล้วมุ่งหน้าสู่อนาคตที่ดีกว่า แต่มันถูกต้องเหมาะสมกับประชาชนที่จะต้องปิดปากเงียบต่อการกระทำอันน่าอัปยศของรัฐหรือไม่
ฝ่ายผู้สูญเสียบอกว่า การกระทำแบบนี้ไม่อาจเรียกว่าการปรองดองได้ เพราะมันปราศจากซึ่งความยุติธรรม
2.
“มันเป็นปาฏิหาริย์ที่ทำให้ฉันรอดมาได้” หญิงสาวรายหนึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1981 ช่วงที่สงครามกลางเมืองเอล ซัลวาดอร์กำลังระอุ เมื่อกองทัพบุกเข้ามาในหมู่บ้าน เธอและคนอื่นต่างซ่อนตัวในบ้าน เมื่อทหารผ่านมา พวกเขาหยุดอยู่หน้าบ้านเธอ และคงเป็นปาฏิหาริย์จริงๆ ที่กองทัพใช้หน้าบ้านเธอเป็นจุดรวมพลเพื่อแยกกันไปทางซ้ายขวา ทำให้บ้านเธอรอดไปได้หวุดหวิด ในวันนั้น เธอได้ยินเสียงกรีดร้อง เสียงปืนดัง เสียงระเบิด เธอซ่อนตัวในบ้านจนถึงอีกวัน เมื่อออกมาจึงได้เห็นศพจำนวนมากนอนเรียงราย
“เราได้กลิ่นเนื้อไหม้ ทั้งเมืองเต็มไปด้วยควันดำและกระสุนปืน”
สงครามกลางเมืองผลาญชีวิตผู้คนจำนวนมาก แต่ความรุนแรงที่สุดถูกบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้น ณ เมือง El Mozote ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เมืองนี้และเมืองข้างเคียง อยู่ใกล้ฐานที่มั่นของกบฏฝ่ายซ้าย จึงถูกรัฐบาลเพ่งเล็งและส่งกองทัพเข้ากวาดล้างอย่างโหดเหี้ยม
หญิงสาวรายหนึ่งรำลึกความหลังอันโหดร้ายว่า เหตุการณ์ตอนนั้นเธออยู่บ้านแฟนหนุ่ม กำลังทำอาหาร เมื่อทหาร 5 นายบุกเข้ามา พวกเขาลากเธอซึ่งมีอายุเพียง 19 ปีไปที่ห้องนอนแล้วลงมือข่มขืน ไม่นานหลังจากนั้นเธอจึงรีบหนีออกจากเมืองนี้
“ฉันกลัวว่าพวกเขาจะกลับมาแล้วทำแบบนี้กับฉันอีกเรื่อยๆ พวกเขาชอบทำแบบนี้กับผู้หญิงอายุน้อยๆ เป็นประจำ”
การข่มขืนเป็นเครื่องมือสำคัญของกองทัพเอลซัลวาดอร์ เหยื่อหลายคนถูกข่มขืนซ้ำจากสภาพสังคมทำให้ไม่อาจพูดหรือระบายออกมาได้ เพราะจะถูกประณามจากคนรู้จัก
จากการสอบสวนของคณะกรรมการค้นหาความจริงพบว่า ระหว่างวันที 11-13 ธันวาคม ค.ศ.1981 มีการสังหารหมู่ประชาชน 1,000 คน แบ่งเป็นเด็ก 533 คน ผู้ชาย 220 คน ผู้หญิง 200 คน หลายคนถูกยิงที่โบสถ์ ที่กำแพงบ้าน กองทัพบอกว่าเหตุการณ์นี้เป็นการปะทะกับกลุ่มกบฏต่างหาก
ผู้รอดชีวิตหลายคน สูญเสียครอบครัวจากการสังหารโหดครั้งนั้น ร่องรอยโศกนาฏกรรมของเมืองยังคงอยู่
แม้กองทัพและรัฐพยายามจะบอกให้คนในสังคมก้าวต่อไป การพูดถึงสงครามกลางเมืองเต็มไปด้วยความสูญเสีย ความพยายามรื้อฟื้นเรื่องราวในอดีต จะทำให้การปรองดองของชาติเป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ดีผู้รอดชีวิตและเหยื่อจากการถูกทารุณกรรมในเหตุการณ์ครั้งนั้น ไม่เคยลืม พวกเธอพยายามรวมตัวบอกเล่าเรื่องราวในเมืองที่หลายคนถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยม ไม่ว่ารัฐจะอ้างว่าได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมไปแล้ว แต่เหล่าผู้สูญเสียต่างรวมตัวเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุดังกล่าว
ตลอดเวลาที่พวกเธอเรียกร้องความยุติธรรม รัฐบาลของเอลซัลวาดอร์ก็ดำรงความสืบเนื่องแห่งกติกา การเลือกตั้งมีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แม้จะมีปัญหาจากเหตุภัยธรรมชาติ สงครามระหว่างแก๊งที่เป็นผลจากยาเสพติด การคอรัปชั่นของนักการเมือง และข้าราชการ
แต่เมื่อกลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายที่ได้ตกลงเจรจาวางอาวุธและเข้าสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัว พวกเขาค่อยๆ สร้างความนิยม ขณะที่ประเทศก็มีรัฐบาลที่มาจากฝ่ายขวาบ้าง ฝ่ายซ้ายบ้างสลับกันไปมา ความรุนแรงจากการเข่นฆ่ายังมีอยู่ให้เห็น แต่ในที่สุด เมื่อเสียงเรียกร้องของประชาชนโดยเฉพาะเหยื่อจากสงครามกลางเมืองดังมากขึ้นเรื่อยๆ ฉันทามติในสังคมจึงเกิดขึ้น
ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.2016 เป็นเวลาหลายสิบปีหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง ท่ามกลางแรงกดดันเสียงเรียกร้องจากประชาชน จนเกิดฉันทามติที่นำไปสู่การยื่นตีความรัฐบัญญัตินิรโทษกรรมนี้ใหม่ เรื่องถูกส่งไปยังศาลสูงสุดเพื่อตีความว่ามันชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศาลสูงแห่งเอลซัลวาดอร์พิจารณาและลงคะแนนเสียง 4 ต่อ 1 ประกาศว่ารัฐบัญญัตินิรโทษกรรมต่อเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในสงครามกลางเมืองของประเทศนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
คำตัดสินสั้นๆ ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองและประวัติศาสตร์บาดแผลเอลซัลวาดอร์เสียใหม่ เพราะมันเป็นการยกเลิกกฎหมายคุ้มครองผู้กระทำผิด เมื่อเอกสิทธิ์ทางกฎหมายนี้ยกเลิก เส้นทางแห่งความยุติธรรมก็บังเกิดขึ้น
รัฐบาลได้ติดต่อไปยังคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติภาคพื้นอเมริกากลาง ให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือคำแนะนำแก่เอลซัลวาดอร์ในช่วงเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมนี้ โดยเป็นการให้คำแนะนำทางกฎหมาย และเทคนิคเพื่อสนับสนุนกระทรวงยุติธรรม รวมถึงอัยการเจ้าหน้าที่ในการสืบสวนและดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุที่ตอนนี้ถือว่ามีความผิดในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและเป็นอาชญากรสงครามแล้ว
“มันเป็นเหมือนแสงสว่างต่อความยุติธรรมและความฝันที่จะได้รู้ความจริงที่ควรรู้นานแล้ว”
สงครามกลางเมืองถูกพูดกันเป็นวงกว้างในสังคม โรงเรียนมีการบรรจุหลักสูตรบอกเล่าเรื่องราวให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ บทเรียนจากอดีตต้องถูกพูดถึงเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีกในอนาคต
เหล่านายพลที่ก่อกรรมทำเข็ญ ถูกจับกุม ถูกดำเนินคดี บางคนที่หนีไปอยู่อเมริกา ถูกศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายที่ก่อกรรมทำเข็ญกับเพื่อนร่วมชาติ ไม่กี่ปีต่อมา สหรัฐอเมริกา ชาติที่สนับสนุนการล้อมปราบได้ส่งตัวนายพลกลับไปดำเนินคดีในเอลซัลวาดอร์ด้วย
อย่างไรก็ดีเส้นทางแห่งความยุติธรรม แม้จะเปิดกว้าง แต่ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
3.
ในอดีตก่อนศาลสูงจะพลิกคำตัดสินเรื่องรัฐบัญญัตินิรโทษกรรม กองทัพเคยขู่ว่าจะทำรัฐประหารหากมีการเผยแพร่รายงานของคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงในช่วงสงครามกลางเมืองด้วย ดีที่ระบอบรัฐสภาของเอลซัลวาดอร์เข้มแข็งมากพอจะขจัดบทบาทของกองทัพออกจากการเมืองได้สำเร็จ จนสามารถค้นหาหลักฐานความจริงในยุคนี้ได้แล้ว
แต่อุปสรรคสำคัญกลับไปอยู่ที่เหยื่อ หลายคนเลือกที่จะปิดปากเงียบ หลายปีหลังผ่านความรุนแรง หลายคนไม่กล้าพูด บางคนไม่อยากจะกล่าวถึง ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการให้พวกเขากล้าออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง
การขยับความยุติธรรมให้กระจ่างแจ้งนั้น ต้องใช้พลังทางสังคม ไม่ใช่เพียงนักการเมืองเท่านั้น ประชาชน ศาล ภาคส่วนต่างๆ ต้องร่วมมือกันขยับให้เกิดการย้อนมองอดีต มองบาดแผล เพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ เพื่อเข้าใจปัจจุบัน และเพื่อให้ความยุติธรรมทางกฎหมายเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงม่านหมอกแห่งอุดมการณ์ ล่องลอยเป็นความคิดแต่ยากจะเป็นความจริง
การต่อต้านเพื่อจะปิดบังความจริงในอดีตยังคงมีให้เห็น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐสภาเอลซัลวาดอร์ได้ผ่านกฎหมายปรองดองแห่งชาติ โดยจะลดโทษให้กับผู้ก่อเหตุ โดยชี้ว่าผู้ก่อเหตุบางคนที่อายุมาก ไม่ควรจะถูกคุมขังในคุก แต่ควรเอามาคุมตัวไว้ที่บ้าน โดยอ้างหลักมนุษยธรรมต่างๆ นานา แม้จะพยายามอ้างเหตุผลมาปกปิดเพียงใด แต่กฎหมายฉบับนี้คือความพยายามประวิงเวลาการเอาผิดผู้มีส่วนรับผิดชอบในการฆาตกรรมประชาชน
เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในประเทศเป็นอย่างยิ่ง เหยื่อในสงครามกลางเมืองต่างออกมาประท้วงการผ่านกฎหมายฉบับนี้
ทั้งนี้รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายนี้มาด้วยคะแนนเสียง 44-11 เสียง จากเสียงของผู้แทนราษฎรทั้งหมด 84 เสียง โดยพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นกบฏจำนวน 23 คนกลับงดออกเสียง แถมผู้แทนราษฎร 5 คนยังขาดการประชุมในวันนั้นไปเฉยๆ ด้วย
ยังดีที่ประธานาธิบดีวัยไม่ถึง 40 ปี อย่าง Nayib Bukele ใช้อำนาจประธานาธิบดีคัดค้านวีโต้กฎหมายฉบับนี้ โดยให้เหตุผลว่านี่คือกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองอภิสิทธิ์การกระทำผิดของผู้เกี่ยวข้องในอดีต อย่างไรก็ดีตัวประธานาธิบดีก็มีพฤติกรรมไปทางอำนาจนิยม เคยส่งทหารในเครื่องแบบไปกดดันรัฐสภาให้ออกกฎหมายอนุมัติกฎหมายกู้ยืมเงินจากต่างชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศ แม้ต่อมาจะเจรจาตกลงกันได้ด้วยดี แต่ก็เห็นว่าบทบาทของกองทัพไม่เคยหายไปจากการเมืองเอลซัลวาดอร์เลย
เหยื่อหลายคนเมื่อทราบข่าวอุปสรรคมากมายในการเอาคนผิดมาลงโทษ ได้บอกกับสื่อมวลชนว่า การต่อสู้ในเรื่องนี้ ไม่ใช่เป็นการต่อสู้กับรัฐบาล แต่คือการต่อสู้กับเวลาต่างหาก
เพราะผู้ประสบเหตุบางคนอายุไม่น้อยแล้ว เช่นเดียวกับผู้ก่อเหตุ หลายคนสูญเสียครอบครัวและญาติมิตร และไม่ค่อยมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม และไม่ค่อยคาดหวังจะได้มีอายุยืนยาวนานพอที่จะได้เห็นการดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ
“ผมสงสัยในเรื่องความโปร่งใสของการดำเนินคดี ผมมองไม่ค่อยเห็นแง่บวกในเรื่องนี้เท่าไหร่นัก”
เหยื่อหลายคนเผยว่าทุกครั้งที่เล่าเรื่องนี้ มันมีแต่ความเศร้าเกาะกุมจิตใจเสมอ เรื่องเล่ารื้อฟื้นบาดแผลในใจของพวกเขา ไม่ใช่เพียงการถูกกระทำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความพยายามที่จะปิดปากพวกเขาด้วย
“รัฐบาลและคนอื่นๆ พยายามบอกให้เราหุบปาก แต่ฉันไม่ยอม พวกเราพยายามอย่างต่อเนื่อง ให้สังคมรำลึกพวกเราในฐานะเหยื่อ สิ่งที่พวกเราอยากได้ยิน คือมีคนกำลังจะตาย โดยที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ดังนั้นจงบอกเล่าเรื่องราวนี้ สู่สังคม ให้สหประชาชาติได้ยิน ให้โลกได้ยินว่าพวกเราต้องการความช่วยเหลือ”
ดังนั้นขอให้โปรดฟังความทุกข์ทนของพวกเราด้วย
บทสรุป
หนทางแห่งความยุติธรรมในการเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษของเอลซัลวาดอร์นั้น ค่อนข้างล่าช้าและมากด้วยอุปสรรค หลายประเทศในอเมริกากลางและในอเมริกาใต้ที่ล้วนเคยเจอเหตุการณ์ล้อมปราบความรุนแรงได้นำผู้กระทำผิดมาลงโทษแล้ว แต่เอลซัลวาดอร์ยังดำเนินการไปได้น้อยมาก มีผู้ก่อเหตุจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เคยถูกไต่สวนหรือถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด