ผ่านมาถึงรอบ 10 คนสุดท้ายแล้ว กับ ‘Miss AI’ หรือเวทีประกวดนางงามเอไอระดับโลกที่เปิดแข่งขันเป็นครั้งแรกของโลก โดยผู้ที่ได้ครอบครองมุงกุฎและตำแหน่งสาวงามเอไอจะได้รับรางวัลกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 7 แสนบาท ซึ่งขณะนี้การตัดสินดำเนินมาถึงรอบสุดท้ายแล้ว และการตัดสินรอบชิงชนะเลิศจะถ่ายทอดสดออนไลน์ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2024 ที่จะถึงนี้
การประกวดนางงามเอไอมีความพิเศษอย่างไร?
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประกวดครั้งนี้ คือเหล่านางงาม AI แต่ละคนไม่ได้ใช้แค่หน้าตาและรูปร่างในการประกวด แต่ล้วนมีบุคลิกและความสนใจที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างชัดเจน พร้อมกับมีโซเชียลมีเดีย อย่างอินสตาแกรม (Instagram) เป็นของตัวเอง เพื่อให้เราได้ติดตามผลงานของเหล่าผู้เข้าประกวด เรียกได้ว่าอ้างอิงตามเวทีประกวดนางงามของคนจริงๆ เลยก็ได้ ตัวอย่างเช่น Aiyana Rainbow เป็นนักกิจกรรมผู้สนับสนุน LGBTQ+ หรือ Anne Kerdi ที่สนับสนุนการอนุรักษ์ท้องทะเล
เยี่ยมชมผู้เข้ารอบ 10 สุดท้ายได้ที่ waicas.com
เวทีประกวด ‘Miss AI’ เป็นความร่วมมือระหว่างผู้จัดการประกวด The World AI Creator Awards (WAICA) กับ Fanvue หรือแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับนักสร้างคอนเทนต์ (Content Creator) ที่มีความต้องการสร้างเวทีประกวดนางงาม AI บนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งรอบแรกมีผู้สมัครเข้าร่วมการประกวดจากทั่วโลกถึง 1,500 รายชื่อ
เกณฑ์การตัดสินมี 3 ข้อ ได้แก่ ความงาม เทคโนโลยี และอิทธิพลทางสังคม หรือความนิยมบนโลกออนไลน์
ในส่วนของเกณฑ์การตัดสินด้าน ‘ความงาม’ Miss AI ระบุว่าจะยึดเกณฑ์ตามมาตรฐานจากเวทีประกวดนางงามทั่วไป เช่น ความงาม ความสุขุม และมีคำตอบที่เป็นเอกลักษณ์
หลายฝ่ายมองว่าการประกวดนางงามที่สามารถสร้างให้ผู้เข้าประกวดมีความ ‘สมบูรณ์แบบ’ ตามใจสั่งได้ อาจสร้างมาตรฐานความงาม (beauty standard) ที่ ‘ไม่สมจริง’ โดยภาพที่เห็นล้วนเป็นผู้เข้าประกวดที่มีใบหน้าสมมาตร ไม่มีรูขุมขน และกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งดูเหมือนว่าพวกเธอไม่มีวันเหนื่อย ต่างจากมนุษย์จริงๆ ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากกว่านั้น
“AI เริ่มต้นแนวคิดเรื่องความสมบูรณ์แบบที่ไม่สมจริงโดยสิ้นเชิง จนสร้างจินตนาการมากกว่าความเป็นจริง” มาร์ค แฟรงเคิล (Mark Frankel) ผู้เชี่ยวชาญ ด้าน AI จาก The London Interdisciplinary School กล่าว
นอกจากนี้ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบการแข่งขันว่า ล้าสมัยและสะท้อนการผลิตซ้ำมาตรฐานความงามอย่างไม่สิ้นสุด พร้อมกับมองว่าการประกวดครั้งนี้ให้ความสำคัญกับมุมมองความสวยที่มาจากผู้ชาย (male gaze) หลายครั้งมีรูปแบบความงามที่คับแคบ และมักถูกทำให้เป็น ‘วัตถุทางเพศ’ (sexualized)
หลายฝ่ายยังแสดงความกังวลต่อว่าอาจสร้างภาพเหมารวม (stereotype) ทางเพศและเชื้อชาติได้ เนื่องจากภาพที่เราเห็นนั้นผ่านการปรุงแต่งให้มีบุคลิกและเอกลักษณ์ที่ชัดเจน จนอาจทำให้มองว่านี่คือลักษณะร่วมของคนที่มีเชื้อชาติหรือเพศดังกล่าว
อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงต่อไป แน่นอนว่าการแข่งขันความสามารถทางเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์เป็นจุดเด่นของการประกวดครั้งนี้ แต่เราต้องไม่ลืมตั้งคำถาม ว่าภาพและชีวิตที่สามารถปรุงแต่งให้ ‘สมบูรณ์แบบ’ จนอาจ ‘เอื้อมไม่ถึง’ นั้นสร้างผลกระทบอะไรกับสังคมได้บ้าง?
อ้างอิงจาก