“เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดี” คำพูดสุดคลาสสิกที่มองเผินๆ เหมือนจะดี แต่คำเหล่านี้กลับทำร้าย LGBTQ เมื่อพวกเขาต้องมาพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้ได้รับการยอมรับ แทนที่การเป็น LGBTQ ถือเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล และเป็นสิ่งที่ตัวเราสามารถเลือกเองได้โดยไม่ต้องมาพิสูจน์หรือกดดันกัน
เมื่อสังคมเรามักสร้างกรอบมาจองจำความเป็นคน และหลงลืมความหลากหลายซึ่งเป็นสิ่งสวยงาม ทำให้ LGBTQ ต้องเจ็บปวดกับการใช้ชีวิตในสังคมที่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับ แม้กระทั่งกฎหมายก็ยังมองไม่เห็นพวกเขา เพราะทุกวันนี้การสมรสเท่าเทียมของคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็ยังคงเงียบงัน ราวกับว่าชีวิตของพวกเขาไร้ตัวตน
เพราะอยากส่งเสียงว่า LGBTQ ก็เป็นคนคนหนึ่งที่เท่ากับคนอื่นๆ และการ stereotype ก็สร้างบาดแผลให้กับคนที่ไม่เข้ากรอบ เราไปคุยกับ ลูกอี๊ด – ปิ่นปินัทธ์ แท่งทอง Transgender ที่อยากบอกทุกคนว่าการ stereotype และกรอบของการต้องพิสูจน์ตัเองให้ได้รับการยอมรับนั้นเจ็บปวด และสิ่งที่เธอได้เรียนรู้และเติบโตว่าเธอจะ don’t give a sh*t กับคนที่พยายามดันเธอให้อยู่ในกรอบเดิมๆ
เริ่มเข้าใจตัวตนของตัวเองตั้งแต่ตอนไหน แล้วที่บ้านโอเคกับเราไหม
เราแค่รู้สึกว่า เราไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ในสังคมสักเท่าไร และเราก็จะโดนล้อจากเพื่อนๆ ทุกคนในโรงเรียนอย่างนี้ เราก็เลยบอกกับคุณแม่ตอนป.3 เริ่มกับคุณแม่ก่อน ก็ขับรถไปข้างนอกแล้วก็บอกให้คุณแม่ฟัง มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอะ สุดท้ายแม่ก็บอกว่ารู้ตั้งนานแล้ว ไม่ต้องมาบอกก็ได้ เราเลยรู้สึกว่าด่านของครอบครัวเรามันไม่มีตั้งแต่แรก แถมแม่ก็บอกว่ามีใครด่าเราบ้าง ไม่ต้องสนใจ มันก็เลยเซอร์ไพรส์เรามากเหมือนกันว่า แม่เขาก็เป็นห่วงความรู้สึกของเราเหมือนกัน
เป็นเราเสียมากกว่า ที่จะพยายามทำทุกอย่างให้มันดี เพื่อให้มันมากลบส่วนตรงนี้ แต่เขาก็ไม่ได้มาคาดหวังอะไรกับเราเท่าไรนะ แต่ว่าถ้าจะมาเริ่มเป็นทรานส์ ตอนที่เราแต่งหญิงก็คือตอนปีสองค่ะ มหาวิทยาลัย ซึ่งระหว่างทางมันก็หลายอย่าง ทั้งสังคมทั้งรอบข้าง มันก็ question กับเราเสมอ แต่ตอนปีสองเราเพิ่งเข้าใจว่า เออ มันไม่ต้องแคร์อะไรแล้ว
ระหว่างการเติบโตเราต้องเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง
เราเป็นคนตัวใหญ่มากๆ เรามักจะไม่ได้รับการยอมรับ หรือถูกพูดถึงด้วยคำพูดที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไร พอเราขึ้นมัธยม เราก็พยายามที่จะผลักดันตัวเองให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เหมือนกับว่าถ้าเราอยู่ในสังคมนี้มันต้องเก่ง แต่จริงๆ อาจไม่มีใครคาดหวังกับเรา มีแต่เราคาดหวังกับตัวเราเองว่าเราต้องพิสูจน์ทุกอย่างอะ ให้เราได้รับการยอมรับ
เราใช้เวลาประมาณสามปีในช่วงมัธยมปลายเพื่อให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักในโรงเรียน เพื่อจะให้ไม่มีใครมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเป็น และมองข้ามสิ่งที่เราเป็น ให้ไปโฟกัสกับตัวตนของเรา กิจกรรมที่เราทำ งานที่เราทำ หรือว่าผลตอบรับของงานที่เราทำ แต่มันก็มีช่วงที่เรารับฮอร์โมนตอนม.4-ม.5 มันก็จะมีครูคนหนึ่งที่มาชี้หน้าด่าเราว่า เป็นทำไม แต่งหญิงทำไม เธอน่ะแต่งหญิงไม่ได้หรอก ดูสารรูปเธอสิ
มีครั้งหนึ่งในมีวิชาพระพุทธศาสนาค่ะ เขาเป็นอาจารย์ผู้ชายที่ค่อนข้างจะมีอายุ ก็ด่าเราในชั้นเรียนเลยว่า มึงไม่ต้องพูดค่ะ ทำไมต้องพูด เราก็พยายามพูดครับให้เขาสบายใจ แต่หลังๆ เราก็จะไม่ใส่คำลงท้ายกับเขาอะค่ะ เพราะเราก็เริ่มรำคาญที่เขามาอะไรอย่างนี้กับเรา
แล้วมีปัญหาไหนที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในการใช้ชีวิตของเรา ที่เราเป็นเราแบบนี้
ปัญหาหลักของเราในการใช้ชีวิตในโรงเรียนคือเราไม่กล้าเข้าห้องน้ำชาย เราไม่เข้าห้องน้ำในโรงเรียนเลย จนขึ้นมัธยมเราก็แอบเข้าห้องน้ำหญิงในตึกบนอาคารค่ะ รู้สึกว่าเราไม่สามารถไปอยู่กับผู้ชายได้ ไม่สามารถไปฉี่โถฉี่กับผู้ชายได้ เรากลัวมากๆ แล้วก็มีครูที่มาจับได้ แต่เราก็ไม่แคร์อะไรเลย แล้วเพื่อนก็ปกป้องเรา ให้เราเข้าได้ ทุกคนเข้าใจเราว่าเราต้องเข้าห้องน้ำหญิงนะ
แต่จุดหนึ่งที่ทำให้เราเลิกที่จะแคร์ว่า เราจะเข้าห้องน้ำหญิงได้ไหม คือพอเข้าสังคมมหาวิทยาลัย สังคมมันก็จะกว้างขึ้น เราก็จะเห็นคนที่หลากหลายประเภท เราก็เลยรู้สึกว่า เออ เราพร้อมแล้วแหละ เราจะไม่แคร์อะไรแล้วนะ แล้วเราก็เห็นความหลากหลายที่มันอยู่บนสังคมโลกใบนี้แล้วอะ ก็เลยตัดสินใจโทรไปหาแม่ว่าหนูขอซื้อกระโปรงนะ จะแต่งหญิงไปเรียน เราก็คิดว่าเขาอาจยังไม่เก็ตนะ แต่เขาก็บอกว่า ให้โอนเงินไปให้ไหม เราก็โอเค
คิดว่าห้องน้ำควรออกแบบยังไงให้เข้าใจความหลากหลายทางเพศ
การแบ่งห้องน้ำตอนนี้ มันเป็นการผลักคนที่มีความหลากหลายออกไปจากชาย-หญิง ถ้าจะมีห้องน้ำก็คือห้องน้ำสำหรับทุกคนไหม คงจะโอเคมากกว่าการสร้างชาย-หญิง-ทรานส์ หรือนู่นนี่นั่น คือโอเค หลายๆ คนอาจกลัวว่าจะมีคนเข้าใจผิดว่าเราแอบมาทำอนาจารในห้องน้ำหญิงหรือเปล่า เพราะก็เข้าใจว่าด้วยประเทศเราไม่ได้ให้ความปลอดภัยกับผู้หญิงสักเท่าไหร่ การที่เขาจะกลัวการกระทำอนาจารมันก็ไม่ผิดที่เขา เพราะประเทศไทยไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิงจริง ๆ ค่ะ ทั้งการโทษเหยื่อต่างๆ
แต่เรารู้สึกว่ามันก็ใจร้ายกับคนโดนกดทับในสังคมอยู่เหมือนกัน การที่บอกว่าก็ไปเข้าห้องน้ำของกะเทย ของทอมสิ มาเข้าห้องหญิง ห้องน้ำชายทำไม มันก็เป็นการ exclude เราออกจากสังคมไปอีก
แล้วหลังจากได้อยู่ในสังคมที่เปิดรับมากขึ้นทำให้เรารู้สึกเป็นตัวเองมากขึ้นใช่ไหม
ใช่ แต่เราก็ลืมมองข้ามไปในระดับสังคมประเทศไทยขนาดใหญ่ เพราะเราก็เจอแต่สังคมมัธยมหรือมหาวิทยาลัย แต่เราลืมสังคมภายนอกที่มันครอบคลุมอีกกรอบหนึ่ง อย่างเราเป็นคนที่สนุกกับการแต่งตัว โดยไม่สนใจ body type ของเราเหมือนกัน แต่เราก็รู้กาลเทศะว่าสถานที่นี้ควรแต่งตัวอย่างไร แล้วเราชอบใส่ชุดที่คนเขามักจะมองหรือไม่เก็ตว่าเป็นคนอ้วนแล้วใส่ได้ไง เลยโดนการมองด้วยสายตาเหยียดหยามตั้งแต่หัวจรดเท้า
อย่างเวลาเราไปซื้อข้าวในห้าง เราเดินผ่านโต๊ะ เขาก็จะมองแบบหัวจรดเท้า ซึ่งบางทีก็เป็นแค่ชุดนักศึกษาผู้หญิงด้วยซ้ำ แบบกระโปรงทรงเอ เราก็จะโดนมองตั้งแต่หัวจรดเท้า แล้วเพื่อนมาเล่าให้ฟัง เราก็แบบทำอะไรไม่ได้อะ เพราะเราก็ไม่รู้จะตอบคำถามตรงนี้อย่างไร เพราะมันไม่มีพื้นที่ให้เราบอกว่าเฮ้ย แก ทุกคนมันสามารถทำอะไรก็ได้ เราสามารถเป็นอะไรก็ได้นะ เราไม่มีพื้นที่ที่จะบอก และเราไม่มี power ที่จะบอกว่า มึงขา ฟังค่ะ อะไรอย่างนี้
คิดว่าอะไรคือสาเหตุทำให้การเป็น Transgender หรือ LGBTQ ไม่ได้รับการยอมรับในสังคมจริงๆ
เรารู้สึกว่าหลายๆ ครั้งที่ทรานส์หรือว่าเกย์หรือว่า LGBTQ อื่นๆ จะโดนไม่เข้าใจหลายๆ อย่างเพราะกฎหมายไม่รองรับ มันจะมีคำพูดหนึ่งที่เป็น quotation ที่แทบทุกคนจะต้องเคยได้ยินเลยก็คือ ‘เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดี’ ประมาณนั้น คือเป็นอะไรก็ได้แต่ต้องทำดี เป็นคนเก่งนะ มันจะมีกรอบว่าถ้าคุณเป็น LGBTQ คุณจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ได้รับการยอมรับ เพราะกฎหมายมันไม่มีการรองรับกลุ่มของพวกเรา อย่างถ้ากฎหมายสมรสเท่าเทียมมันมี ก็จะไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่า พวกทรานส์มันไม่มีความรักที่มั่นคง หรือเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เพราะถ้ากฎหมายมันรองรับ คนจะเริ่มเข้าใจเรามากยิ่งขึ้น
การไม่ยอมรับหรือเข้าใจในตัวตนของเรา สิ่งเหล่านี้ทำร้ายคนที่มีความหลากหลายทางเพศแค่ไหน
มันไม่มีอะไรที่มา support ความเป็นคนของเราเลย เราเป็นชนชั้นที่สอง เหมือนคำว่าสาวประเภทสองอะค่ะ คือผลักเราให้ต่ำกว่า คือเป็นการผลักให้เราไปอยู่ชนชั้นที่สองจากมุมมองของ sexual มากกว่า gender การมองบุคคลแบบ sexual คือการมองแบบชาย-หญิง คือทำไมเราต้องยอมการไม่ได้รับความเท่าเทียมจากสังคม
หรืออย่างเรื่อง pride month ก็มี LGBTQ บางกลุ่มที่บอกว่าเรียกร้องสิ่งนี้ทำไม ไปเดินพาเหรดที่ทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นตัวประหลาดทำไม เราอยากบอกตรงนี้ว่า มันคือการต่อยอดจากการต่อสู้ที่คนอื่นต่อสู้มาให้เราอะ มันคือการเฉลิมฉลอง มันไม่ใช่การที่เราพยายามจะโดดเด่น มันคือการเฉลิมฉลอง คือการแชร์มากกว่า
แล้วเราต้องเจอกับการ stereotype ยังไงบ้าง
สังคมของ LGBTQ ด้วยกันเอง มันก็มักมีกรอบของ stereotype เป็น standard ว่าถ้ามึงจะเป็นกะเทย เป็นทรานส์เนี่ย มึงต้องเนียนนีนะ มึงต้องรับฮอร์โมนกันหนักหน่วง มึงต้องซอฟต์ เหมือนพี่ปอย อันนี้ก็เป็นบาดแผลที่กะเทยหลายๆ คนต้องเจอ ถ้าเราไม่เป็นไปตามที่มาตรฐานเหล่านี้
กรอบของ beauty standard ทำร้ายเรายังไง
จะมีช่วงหนึ่งที่มีวลีฮิตอะค่ะ ที่คุณฟิล์ม ทิฟฟานี่พูด คือมันเป็นอดีตเนอะ แต่มันถูกนำมารีรันฉายซ้ำว่า มีบ้าน มีรถ เป็นกะเทยเหมือนกันไม่ได้ และก็ลูกกระเดือกก็ไม่ได้เท่าลูกกำปั้นแบบนั้น คือโอเค มันเป็นระดับบุคคลที่เขาทะเลาะกัน แต่ว่ามันกลายเป็นหอกหนึ่งที่กลับมาทำร้ายเราอะ มันเป็นคำพูดแบบว่า ก็มึงไม่สวยอะ มาเป็นกะเทยเหมือนกันไม่ได้ คือเราแทบจะถูกลืมหรือไม่ถูกมองเห็นในฐานะของใครสักคนในสังคมอะ เรามักถูกมองว่า มึงเป็นกะเทยอะ มึงก็ต้องดูแลตัวเองหน่อยสิวะ มึงเป็นกะเทยอะ มึงก็ต้องสวย มึงเลือกที่จะเป็นกะเทยแล้ว มึงก็ต้องเป็นแบบนี้ๆ ซึ่งมันแบบว่า แล้วทำไมชาย-หญิงจะเป็นแบบไหนก็ได้ แต่การเป็นกะเทยต้องเป็นแบบนี้
หรือในแง่ของการเป็นเกย์เนี่ย ทำไมต้องมองในเรื่องของสาวไม่สาว หลายอย่างมาก ที่ชวนปวดหัวมากๆ แต่เราก็พยายามพูดเรื่องนี้ว่า ต่อให้ beauty standard มันมีในสังคมนี้ ฉันก็เป็นคนหนึ่งที่จะไม่ยอมเห็นค่าของมันนะ ฉันก็จะแต่งตัวแบบไหนก็ได้ อย่างไรก็ได้ ถ้าเธอไม่เข้าใจฉัน เธอก็ไม่ต้องเข้าใจก็ได้ แต่ว่าอย่ามาดูถูกหรือตำหนิติเตียนฉันที่ฉันไม่ได้เป็นไปตามกรอบที่เธอคิดไว้อย่างนี้ค่ะ
เวลาคนบอกว่าสังคมไทยยอมรับความหลากหลาย ลูกอี๊ดมองว่ายังไง
ตอนทำธีสิส เราอยากทำเรื่องการยอมรับและเข้าใจ LGBTQ เราเคยทะเลาะกับอาจารย์ที่ปรึกษาว่าถึงแม้ว่าผลตัวเลขงานวิจัยจากนิด้าโพลจะบอกว่าสังคมมีการยอมรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีคนที่ถูกผลักไม่ให้ถูกยอมรับอยู่นะ ตอนนั้นเราก็เลยพูดว่า เอางี้ดีกว่า เราจะไม่ใช่คำว่าการยอมรับ แต่เราจะใช้คำว่าการเข้าใจ เพราะว่าสุดท้ายแล้ว การที่บอกว่ายอมรับแต่เขาไม่เข้าใจเนี่ย มันก็ยากนะคะ บวกกับประโยคที่ว่า ‘เป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เป็นคนดี’ มันก็เป็นการยอมรับ แต่ไม่ใช่การเข้าใจเลยค่ะ คือไม่เข้าใจว่าตัวตนการเป็นทรานส์ การเป็นบุคคลคนหนึ่งเนี่ย มันมีอะไรบ้าง เขาไม่เข้าใจเลยว่าธรรมชาติของคนมันคืออะไร เขาแค่บอกเงื่อนไขว่า ถ้าเธอต้องการให้ฉันยอมรับ เธอต้องเป็นคนดี แต่มันไม่ได้พูดว่าฉันเข้าใจเธอนะที่เธอเป็นแบบนี้ รวมไปถึงบางครอบครัวด้วยที่เราก็อยากสื่อสารไปว่า ถ้าครอบครัวเข้าใจเรา และเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยของเรา เราจะเติบโตไปอย่างดีค่ะ
แปลว่าสวรรค์ของ LGBTQ ในไทยไม่มีอยู่จริง?
เป็นสวรรค์อะไรเอ่ย มันไม่จริง คุณยอมรับในฐานะของกะเทยสวย ว่าประเทศไทยมีกะเทยสวย ยอมรับในแง่นั้น ยอมรับว่าคุณเดินออกไปข้างนอก คุณไม่โดนตีตายเหมือนในต่างประเทศ มันถูกพูดถึงในแง่นั้น แต่ถ้าพูดถึงในแง่กฎหมาย มันเป็นสวรรค์ของเราจริงๆ หรอ มันไม่มีกฎหมายอะไรมารองรับคนอย่างพวกเราเลย คือเราไม่ต้องการกฎหมายที่เหนือกว่าหรือพิเศษกว่า เราต้องการกฎหมายที่เท่ากับคนอื่น
รู้สึกว่าถ้ากฎหมายเปลี่ยนได้ คนก็จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติมากยิ่งขึ้น มันอาจมีแบ่งออกเป็นสองฝั่งก็ได้ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เป็นกติกาสากลที่เขายอมรับเราแล้วอะ เราว่าคนที่เติบโตต่อไปเขาจะเข้าใจมากยิ่งขึ้น มันก็จะกลับกลายมาเป็นว่า ถ้ามีการรองรับ หลักสูตรการศึกษามันก็จะต้องเปลี่ยน เพื่อ serve กับชุดความคิดที่เปลี่ยนไปของ LGBTQ มันก็จะกลายเป็นอาจถูกเซตระบบไปเรื่อยๆ เพราะทุกอย่างมันคือการเปลี่ยนแปลง เรารู้สึกว่าสังคมมันก็คงน่าอยู่มากขึ้น เริ่มต้นได้ที่กฎหมาย
อยากบอกอะไรกับคนที่ยังไม่มั่นใจในการเป็นตัวเอง
เราก็เป็นคนหนึ่งที่เคยอ่อนแอมาก่อน เพราะงั้นเราสามารถอ่อนแอได้นะในวันนี้ แต่ปลายทางสุดท้ายแล้ว เราอะต้องเป็นคนใจดีต่อตัวเอง ต่อให้แบบว่า โลกภายนอกมันจะใจร้ายกับเรา ไม่มีใครเข้าใจเรา แต่ถ้าเราเชื่อมั่น เราใจดีกับตัวเอง เราให้อภัยกับความผิดของตัว เรารู้สึกว่ามันน่าจะช่วยให้ self-esteem ของเขาเพิ่มขึ้นได้ เราว่าหลายๆ คำอย่างนี้ self-esteem ต่ำ มันคือการที่สังคมพูดออกมา แล้วเราก็ใจร้ายกับตัวเองที่เก็บสิ่งพวกนั้นอะมาคิด คือเป็นการทำร้ายตัวเองสองรอบ คือรับมาจากสังคม แล้วเราก็เอามาคิดต่อเองอีกรอบ เพราะงั้น ถ้าเราใจดีกับตัวเองสักนิด มันก็จะทำให้เรามีกำลังใจที่จะเติบโตในตัวตนของเราในอนาคตได้
คิดว่าสังคมไทยมีความหวังกับการเป็นสังคมที่ยอมรับและเข้าใจความหลากหลายทางเพศไหม
มันมีความหวัง ถ้าผู้ใหญ่ให้โอกาสคนทำงานที่เขาเข้าใจความหลากหลายทางเพศ มันมีความหวังแน่นอนค่ะ ถ้าคนที่เป็นยอดสูงสุดของประเทศ คือเป็นผู้กุมอำนาจบริหารของประเทศเนี่ยเข้าใจ การเปลี่ยนสมัยของการปกครองเนี่ย การเปลี่ยนรัฐบาล หรือการเลือกตั้งครั้งใหม่เนี่ย หรือว่ามีคนที่ทำงานด้านการเมืองที่มีความเข้าใจในด้านนี้ ตอนนี้เราเห็นหัวเชื้อของคนที่มีความเข้าใจแนวคิดนี้มากขึ้น แต่เขายังไม่ได้โอกาสเข้าไปอยู่ตรงนั้น ตรงที่สร้างความเปลี่ยนแปลง
แต่อนาคตมันก็มีโอกาสที่เป็นไปได้ เพราะมันไม่ใช่นับ 1 2 3 แล้วได้เลย มันมีการเดินทาง