“เรื่องทรัพย์อิงสิทธิ 99 ปี ที่ท่านนายกฯ สั่งให้ทำ ผมก็กำลังศึกษากันอยู่ ไม่ทราบว่าท่านเข้าใจที่ผมตอบไหมครับ เพราะผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจตัวเองเหมือนกัน” ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567
คำตอบอันน่ามึนงงนี้ นำมาสู่คำถามที่ว่า จริงๆ แล้ว ‘ทรัพย์อิงสิทธิ’ นี่มันคืออะไรกันนะ? แตกต่างจากการเช่าอย่างไร และประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้ The MATTER ชวนไปทำความเข้าใจด้วยกัน!
‘ทรัพย์อิงสิทธิ’ มาจากพระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. 2562 ที่ว่าด้วยสิทธิการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ว่านี้ ครบคลุมถึง ที่ดินที่มีฉโนดที่ดิน สิ่งปลูกสร้างมีฉโนดที่ดิน และห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
กรมที่ดินให้คำอธิบายว่า การให้จดทะเบียนทรัพย์อิงสิทธิ จะเป็นกระบวนการที่เหมาะแก่ผู้ที่มีอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์หรือไม่ก่อเกิดผลกำไร แต่ก็อยากจะสร้างมูลค่าให้ทรัพย์สินของตนเอง โดยไม่อยากขายให้เสียความเป็นเจ้าของทรัพย์ (กรรมสิทธิ์) ไป เพราะอาจอยากเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน
แต่ถ้าจะปล่อยเช่า ก็มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น การใช้ประโยชน์ในอสังหาฯ ได้ไม่เต็มที่ การมาถึงของกฎหมาย ‘ทรัพย์อิงสิทธิ’ จึงจะมาช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับทั้งสองฝ่ายมากยิ่งขึ้น โดยผู้รับโอน (คล้ายๆ กับผู้เช่า) จะสามารถใช้ประโยชน์จากอสังหาฯ ได้เต็มที่ เสมือนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
ข้อแตกต่างจากการเช่า จึงสรุปได้ดังนี้
- ผู้รับโอนสามารถปรับปรุงแก้ไข ดัดแปลงทรัพย์อิงสิทธิได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ถ้าเป็นการเช่าต้องรอได้รับการยินยอมก่อน
- ผู้รับโอนนำทรัพย์อิงสิทธิไปใช้จำนองได้
- ผู้รับโอนนำทรัพย์อิงสิทธิไปใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
- ผู้รับโอนส่งต่อทรัพย์อิงสิทธิเป็นมรดกได้ในระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี
กรมที่ดินระบุว่า การจดทะเบียนทรัพย์อิงสิทธินี้ จะให้ประโยชน์ทั้งเจ้าของอสังหาฯ ที่ได้สร้างมูลค่าให้ทรัพย์สินของตนเอง นักลงทุนก็มีโอกาสสร้างผลกำไรทางธุรกิจ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ดีกว่าทิ้งอสังหาฯ เดิมไว้เฉยๆ
ประเด็นล่าสุดที่มีการพูดถึงเกี่ยวกับ ‘ทรัพย์อิงสิทธิ’ คือการที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎหมายอาคารชุดให้ต่างด้าวถือครองอสังหาริมทรัพย์ โดยขยายเวลาการถือครองสิทธิทรัพย์อิงสิทธิเป็น 99 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายยังมีข้อจำกัดหลายประการในการให้ชาวต่างชาติซื้ออสังหาฯ ในไทย โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลดี-ผลเสีย ของการแก้ไขกฎหมาย
เมื่อมี สส. ตั้งคำถามถึงความเสี่ยงของประเทศที่จะมีต่างชาติเข้ามาลงทุนมากเกินไป ชาดาชี้แจงว่าเป็นแนวคิดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และอยู่ระหว่างการศึกษา ถ้ามีผลเสียมากก็คงไม่ฝืน “แผ่นดินนี้เป็นของคนไทยทุกคน จะทำอะไรต้องถามประชาชนก่อน” ชาดาตอบ
อ้างอิงจาก