“เครื่องหมายคำถามใหญ่ๆ ก็คือ แล้วพฤศจิกายนของปีนี้ ตกลงใครจะมา? ผมคิดว่า เลือกตั้งอเมริกันในช่วงหลังๆ ไม่ใช่เลือกตั้งอเมริกันอีกต่อไปแล้วล่ะ จะบอกว่าเป็น American election ผมว่าไม่ใช่ แต่มันกลาย global election เพราะอิมแพ็กต์ของโลกที่ได้รับ จากผู้นำที่เข้าสู่ทำเนียบขาว นานวันยิ่งชัดเจน”
ข้างต้นคือข้อสังเกตจาก สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และศาสตราจารย์กิตติคุณจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แน่นอนแล้วว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เราจะได้เห็นผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่หากไม่เป็นอดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ก็ต้องเป็นรองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ที่มาจากพรรคเดโมแครต นั่นคือ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris)
และไม่ว่าจะออกหัวหรือก้อย เดิมพันครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบไปทั้งโลกอย่างมีนัยสำคัญ
“ผมคิดว่า โฟกัสอยู่ที่ทรัมป์ ถ้าถามว่าเดโมแครตมา นโยบายข้างหน้า ก็เดี๋ยวเราคงพูดกันได้ประมาณหนึ่ง คำถามที่ตอบไม่ได้คือ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าทรัมป์มา? ผมว่า ไม่ใช่คำถามแค่ในไทยแล้วล่ะ แต่เป็นคำถามในระดับโลก” คืออีกหนึ่งความเห็นจากสุรชาติ
ทรัมป์และแฮร์ริสจะส่งแรงสะเทือนแตกต่างกันอย่างไร ในมุมมองระดับโลก? แล้วไทยจะได้รับผลกระทบในด้านไหนบ้าง?
The MATTER ชวนอ่านหลากหลายการวิเคราะห์ จากเวที ‘การเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024: แนวโน้มและนัยยะต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก เอเชียตะวันออก และไทย’ จัดโดยสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS Thailand) และร่วมเสวนาโดย สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รัตพล อ่อนสนิท หัวหน้าภาคภาษาไทย VOA และ พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ผู้อำนวยการ ISIS Thailand และผู้ช่วยคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
บริบทภูมิรัฐศาสตร์โลกสำหรับประธานาธิบดีคนใหม่
แน่นอนว่าการขึ้นมาของผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ย่อมมีนัยยะต่อความมั่นคงและการเมืองโลกทั้งหมด แล้วประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องเจอกับสถานการณ์อะไรที่กำลังดำเนินอยู่บ้าง?
สุรชาติเผยสมมติฐานส่วนตัวว่า “โลกวันนี้อยู่ในภาวะสงครามเย็น”
“สิ่งที่เราเห็นในเวทีโลก คือ ‘great power competition’ คือการแข่งขันของรัฐอำนาจใหญ่” เมื่อจีนเริ่มโต และรัสเซียเริ่มกลับมาเป็นรัฐอำนาจใหญ่ สุรชาติยกตัวอย่างคำพูดของอดีตนายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ผู้ล่วงลับ ที่เปรียบเทียบว่าจีนขณะนี้เสมือนเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สะท้อนว่า สงครามใหญ่มีแนวโน้มเกิดขึ้นอีกครั้งในศตวรรษที่ 21
“มีความหวังอย่างเดียวว่า ผู้นำในยุคปัจจุบันจะเรียนรู้บทเรียนจากอดีต” ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงกล่าว
แต่แล้ววันนี้ สงครามก็เกิดขึ้นแล้ว – สุรชาติอธิบายถึง 3 พื้นที่ใหญ่ที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดสงคราม นั่นคือ เอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป
วันนี้ ใน 3 พื้นที่ที่กล่าวถึง สงครามหรือวิกฤตทางด้านความมั่นคงเกิดขึ้นแล้วทั้งหมด นั่นคือ สงครามยูเครนที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 วิกฤตการปิดล้อมไต้หวันครั้งใหญ่ เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ภายหลัง แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาฯ สหรัฐฯ ในขณะนั้น บินเยือนไต้หวัน และท้ายที่สุด คือ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 เป็นต้นมา
โจทย์ใหญ่ถัดไปจึงเป็นคำถามที่ว่า สงครามจะขยายตัวตรงไหนหรือไม่
“ ปีหน้ามีสงครามใหญ่ไหม? ตกลง พูดกันแบบหนักๆ สงครามในเอเชียจะเกิดเมื่อไหร่?” คือคำถามจากสุรชาติ
สำหรับเขา คำแนะนำสำหรับคนไทยที่เฝ้ามองสถานการณ์โลกก็คือ “เตรียมใจเผื่อไว้”
ซึ่งสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออก นักวิเคราะห์มองว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ต่อไปไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี
พงศ์พิสุทธิ์วิเคราะห์ว่า “เราจะเห็นความต่อเนื่องของประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้นำในครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องจีน เป็นจุดวาบไฟ (flash point) ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นทะเลจีนใต้หรือไต้หวัน”
ความคาดเดาได้ (Predictability) ในเชิงนโยบาย อาจทำให้หลายประเทศอยากได้แฮร์ริสมากกว่าทรัมป์
การขึ้นมาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ย่อมส่งผลการเมืองโลก แต่รายละเอียดในเชิงนโยบาย รวมถึงแนวโน้มที่จะมีต่อการเมืองระหว่างประเทศ จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างทรัมป์และแฮร์ริส
“เกือบทุกประเทศ ถ้าเกิดจะให้ตัดสินตอนนี้ ทุกคนก็น่าจะอยากได้แฮร์ริสในเหตุผลเดียวกัน ก็คือ ความคาดเดาได้ (predictability) ความต่อเนื่องของนโยบาย ความมียุทธศาสตร์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง” พงศ์พิสุทธิ์ระบุ
“แม้แต่ตัวผู้นำที่ปักกิ่งเองก็อยากเห็นแฮร์ริสขึ้นมา มีการวิเคราะห์จากหลายคนว่า จีนอาจจะชอบความต่อเนื่องมากกว่าการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน (abrupt change) ที่เกิดขึ้นจากการที่ทรัมป์ ซึ่งอาจจะเดายาก ผลีผลาม และดูว่าเป็นศัตรูกับจีนมากกว่า”
พงศ์พิสุทธิ์อธิบายต่อว่า การดำเนินนโยบายของทรัมป์ในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คือเมื่อปี 2017-2021 ที่ผ่านมานั้น มีลักษณะ ‘หมูไปไก่มา’ หรือ ‘transactional’ หลายประเทศต้องควักเงินหากต้องการความช่วยเหลือของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ทรัมป์มักจะดำเนินนโยบายแบบฝ่ายเดียว (unilateral) ไม่สนใจความร่วมมือแบบหลายฝ่าย หรือระบบแบบพหุภาคี (multilateralism) รวมถึงระบบพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคต่างๆ
ส่วนแฮร์ริส หากดูแนวโน้มของรัฐบาลเดโมแครต เช่น รัฐบาล โจ ไบเดน (Joe Biden) ก็จะมียุทธศาสตร์ที่เน้นการทูต (diplomatic) สูง และอาจโอนอ่อนผ่อนตามบ้างในบางกรณี โดยเฉพาะกับจีน ที่มีท่าทีเจรจาและร่วมมือ ในประเด็นที่อาจมีผลประโยชน์ร่วมกันได้ และแฮร์ริสน่าจะมีแนวโน้มที่เห็นความสำคัญของระบบพันธมิตรมากกว่า โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก
“กรณีของไต้หวันเอง ก็น่าจะอยากได้แฮร์ริสมากกว่าด้วยซ้ำ อันนี้ผมอาจจะลองประเมินดู ในเหตุผลที่ว่า ถึงแม้ว่า ทั้งทรัมป์และไบเดน หรือแฮร์ริสเอง จะมองจีนเป็นภัยคุกคามแต่อย่างน้อยถ้าเกิดดูแนวนโยบายของไบเดน มีความร่วมมือกับไต้หวันค่อนข้างใกล้ชิด
“อาเซียน (ASEAN) ก็น่าจะชอบแฮร์ริสมากกว่า อาเซียนมักจะชอบบ่นว่า ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ค่อยให้ความสำคัญอาเซียน ตอนนั้น ไบเดนก็มีการส่งผู้แทนมาร่วมประชุมในอาเซียน ในระดับสูง ถี่กว่า ในขณะที่ตอนช่วงทรัมป์ ส่งผู้แทนระดับล่างๆ มา ดังนั้น มันก็จะทำให้มีความรู้สึกว่า อาเซียนมีความสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ
“แนวนโยบายแฮร์ริสโดยทั่วไปอาจจะเอื้อต่อเสถียรภาพของภูมิภาคนี้มากกว่าทรัมป์” พงศ์พิสุทธิ์วิเคราะห์
แน่นอนว่าตัวบุคคลเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศ
รัตพลเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนทรัมป์ที่ทำเนียบขาว เมื่อเดือนตุลาคม 2017 ว่า “ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณประยุทธ์ ความสัมพันธ์เชิงบุคคลเห็นได้ชัดเลยว่า มีความเป็น ‘บัดดี้’ กันแบบอัตโนมัติ
“และหลังจากที่ออกมาจากทำเนียบขาว คุณประยุทธ์ก็เล่าให้เราฟังว่า เขามีความคล้ายกับ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำที่ถูกเข้าใจผิด และเป็นผู้นำที่ตกเป็นเหยื่อของเฟกนิวส์
“ถ้าเราได้ผู้นำที่มองประชาธิปไตยในรูปแบบ transactional ก็อาจจะหลับตาข้างหนึ่งกับประชาธิปไตยที่เตี้ยอุ้มค่อม เทียบกับประธานาธิบดีที่เชื่อในประชาธิปไตย ในเสียงของคน แบบอุดมคติ รูปแบบการเข้าหา (engage) กับประเทศในเอเชีย กับประเทศไทยก็คงจะไม่เหมือนกัน
“ดังนั้น การคุยกันในระดับบุคคลก็มีความสำคัญมากกับนโยบายต่างประเทศ”
เราอาจกินอาหารไทยมากขึ้นเพราะ Trade War?
ในทางเศรษฐกิจ ทั้งสุรชาติและพงศ์พิสุทธิ์เห็นตรงกันว่า หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง สงครามการค้า (trade war) ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะรุนแรงมากขึ้น
สุรชาติเล่าว่า “พอเริ่มเห็นทรัมป์ปรากฏตัว ผมเตือนในทุกเวทีเวลาบรรยายว่า รัฐบาลไทยต้องเริ่มคิดรองรับเรื่อง trade war เพราะเป็นอะไรที่หนีไม่พ้น ถามว่าหนักเบา ผมว่า ตอบไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้าดูจากรอบนี้ ถ้าทรัมป์ชนะ ทรัมป์จะชนะด้วยความมั่นใจกว่ารอบที่แล้ว คิดในมิติทางจิตวิทยา เพราะฉะนั้น จุดยืนบางอย่างเขาจะแสดงชัดเจนขึ้น trade war จะเป็นโจทย์ใหญ่แน่ๆ
“รอบนี้ผมมีคำถามเล็กคำถามเดียว ‘กำแพงภาษี’ ทรัมป์จะเอาเท่าไหร่? ถ้ากำแพงภาษีขึ้นมากๆ อันหนึ่งที่กระทบกับคนที่ยังทานอาหารเช้าแบบอเมริกัน คือ เนยถั่ว (peanut butter)
“ถ้าทรัมป์ยกระดับกำแพงภาษีพวกนี้ เราจะเจอทั้งราคาขนมปังที่ขึ้นจากสงครามยูเครน และเนยถั่วจาก trade war แปลว่า เราจะทานอาหารไทยมากขึ้น”
ในมิติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม สุรชาติมองว่า “เรื่องคาร์บอน ผมว่าตอบง่าย ทรัมป์ไม่เอา ต้องตอบว่า เป็นตายร้ายดี ผู้นำที่เป็นนักประชานิยม (populist) ไม่ตอบรับเรื่องพวกนี้”
ส่วนประเด็นอย่างรถยนต์ EVs เขาอธิบายว่า “ทรัมป์พูดชัด ไม่เอา EVs และกลับไปสู่ยุคของการใช้รถพลังงานฟอสซิล อาจจะถูกใจกับคนในสังคมอเมริกัน คือคนงานในโรงงานรถยนต์ กรณีของยุโรป เราเห็นชัดคือการทะลักของรถ EVs จีน ก็ประมาณเดียวกับบ้านเรา”
สอดคล้องกับรัตพล ซึ่งใช้ชีวิตและทำงานในสหรัฐฯ เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่เล่าว่า รถ EVs ที่คนอเมริกันใช้ตอนนี้แทบไม่มีของจีนให้เห็น ถ้าจีนจะมองหาตลาด อเมริกาก็คงไม่ใช่คำตอบ และก็คงจะต้องเทมาแถวเอเชียด้วยกัน
โจทย์เรื่องการระบายสินค้าจากจีนมายังไทยทำให้พงศ์พิสุทธิ์มองต่อเนื่องว่า “ในที่สุดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจของไทยกับจีน มันก็จะมีมากขึ้น ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่เคยอยู่กับตะวันตก กับญี่ปุ่น ก็จะมีที่มาจากจีนมากขึ้น
“ดังนั้น ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยอาจจะต้องตระหนักในเรื่องนี้ว่า การโปรโมตอุตสาหกรรม โอเค มันมีข้อดีในระยะสั้นต่อนโยบายเศรษฐกิจของไทย แต่ในระยะยาว มันทำให้เรายิ่งขยับเข้าใกล้จีนทางด้านเศรษฐกิจหรือเปล่า?”
ไทยต้องทำอย่างไรต่อไป?
“ในความท้าทายทั้งหมด ผมว่า เหลือโจทย์เดียว กลับมาที่บ้านเรา แล้วตกลงรัฐบาลที่กรุงเทพฯ คิดอย่างไร หรือในอีกมุมหนึ่ง แล้วตัวเราล่ะ คิดอย่างไร?” สุรชาติตั้งคำถาม
เขาวิเคราะห์ถึงการต่างประเทศของไทยต่อเรื่องราวทั้งหมดนี้ว่า “ชุดความคิด ในการรับมือ (handle) ปัญหาความขัดแย้งใหญ่ในเวทีระหว่างประเทศ ผมว่าเราไม่มีมานาน ถ้าถามความเห็นผมนะ นี่คือจุดอ่อนของไทย”
เขามองว่า มุมมองเรื่องการต่างประเทศของไทยยังคงได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบ ‘isolationism’ ที่ไม่ต้องการเข้าไปข้องเกี่ยวกับปประเด็นต่างๆ ในเวทีโลก
“วันนี้สังเกตไหมครับ เวลามีความขัดแย้งในเวทีโลก คนไทยเรียกร้องอะไร คนไทยเรียกร้องว่า อย่าไปยุ่งกับเขา อย่าชักศึกเข้าบ้าน กระแสนี้ต่างหากที่น่ากลัว กระแสนี้รั้งคนในบ้าน ด้วยชุดวิธีความคิดเดียวคือ เชื่ออย่างเดียวว่า อย่ายุ่งกับโลกภายนอก อย่าไปยุ่งกับเขานะ เดี๋ยวจะเกิดสงครามพัวพันเข้ามาถึงเรา
“พอเป็นอย่างนี้ ในมิติของนโยบาย อะไรก็ขยับไม่ได้ ต่อให้อยากอยู่กับอเมริกา ก็ไปไม่ได้”
สุรชาติให้ความเห็นต่อมาว่า “สมมติในภาพใหญ่ๆ พอต้องตัดสิน หรือขับเคลื่อนนโยบาย ผมว่ามันท้าทายขึ้น วันนี้นั่งมองเรื่องใกล้ตัวมาก ไม่เอาปัญหาไต้หวันก็ได้ เอาแค่ปัญหาเมียนมา ที่เราเห็น ผมยังคาใจอยู่เลย แล้วจะเอายังไง? ไทยจะเอาอย่างไร? ไทยต้องตอบแล้วนะ เพราะสงครามในเมียนมาขยายตัวไม่หยุด
“ผมคิดว่านี่คือภาพสะท้อนว่า ต่อให้เจอปัญหาใหญ่ๆ เราก็จะอยู่กับวาทกรรมเดียว อย่าชักศึกเข้าบ้าน หรืออย่ายุ่งกับปัญหาของคนอื่น แล้วสุดท้าย เราก็ขังตัวเราอยู่ในบ้าน ที่ชื่อ ‘ประเทศไทย’
“ทั้งๆ ที่เราขังไม่ได้ เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ทำลายกำแพงของรัฐไทยทุกอย่างหมดแล้ว”