‘ไม่ใช่ทรานส์ ในเอกสารราชการเป็นเพศหญิงตั้งแต่เกิด เพียงแต่มีโครโมโซมเป็น XY’ คือข้อมูลที่ปรากฏ ของ ‘อิมาน เคลิฟ’ นักมวยแอลจีเรีย ที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2024 อิมาน เคลิฟ (Imane Khelif) นักมวยทีมชาติแอลจีเรีย ชนะการแข่งขันโอลิมปิก ปารีส เกมส์ 2024 รอบคัดเลือก โดยใช้เวลาในการแข่งขันเพียง 46 วินาทีเท่านั้น หลังจากคู่แข่งอย่าง แองเจล่า คารินี่ (Angela Carini) นักมวยทีมชาติอิตาลี ขอยอมแพ้เพื่อยุติการแข่งขัน พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ‘ไม่เคยเจอหมัดที่หนักขนาดนี้มาก่อน’
นี่จึงนำมาสู่ข้อถกเถียงกันบนโลกออนไลน์ โดยมีผู้จุดประเด็นว่าเคลิฟเป็นหญิงข้ามเพศ (Transwoman) โดยมีลักษณะทางพันธุกรรมเป็นผู้ชาย การมาลงแข่งขันประเภทหญิงนั้นจึงไม่ยุติธรรม แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า?
“ทุกคนที่เข้าแข่งขันในประเภทหญิง ล้วนเป็นไปตามกฎเกณฑ์ และมีสิทธิในการเข้าแข่งขันทุกประการ โดยเพศและอายุของนักกีฬาจะพิจารณาจากหนังสือเดินทาง” มาร์ก อดัมส์ (Mark Adams) โฆษกของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) กล่าว
ดังนั้นในข้อถกเถียงเรื่องเพศของ อิมาน เคลิฟ การจะบอกว่าเธอเป็นหญิงข้ามเพศ ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะเคลิฟได้รับการระบุเพศแต่กำเนิดเป็นหญิง (Female assigned at birth) และในเอกสารราชการของเธอทุกชิ้นก็ระบุเพศเป็นหญิงทั้งหมด ที่สำคัญ เธอเป็นชาวแอลจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่การเป็นเพศหลากหลาย (LGBTQ+) นั้นไม่ถูกยอมรับ
จากประวัติการแข่งขันของเคลิฟหลากหลายรายการ ก็พบว่าเธอมีทั้งประวัติชนะ และแพ้ สลับกันไป โดยไม่ได้มีสถิติการชนะมากเกินปกติแต่อย่างใด เช่น ในโอลิมปิก โตเกียว เกมส์ 2020 เคลิฟก็ได้แพ้ให้กับนักกีฬาไอร์แลนด์ และไปไม่ถึงรอบสุดท้าย
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดประเด็นในเรื่องเพศของเธอ ย้อนกลับไปในปี 2023 เคลิฟเคยถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันชิงแชมป์โลกโดยสมาคมมวลสากลนานาชาติ (IBA) เพราะจากการตรวจเพศ พบว่ามีระดับฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเทอโรนสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 5 nmol ต่อลิตร และนอกจากเคลิฟ ยังมีหลิน ยู่ติง นักมวยทีมชาติไต้หวัน ที่ถูกตัดสิทธิ์ในกรณีเดียวกัน
อูมาร์ เครมเลฟ (Umar Kremlev) ประธาน IBA ยังกล่าวถึงผลการทดสอบ DNA ว่าพวกเธอมีโครโมโซม XY ซึ่งตามความเข้าใจของคนทั่วไป XY ถือเป็นโครโมโซมเพศชาย และสำหรับโครโมโซมเพศหญิง จะต้องเป็น XX หลายคนจึงอาจสรุปว่าเคลิฟเป็นผู้ชายจากโครโมโซมของเธอ
แต่จากคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ พบว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจมีผู้ที่มีความผิดปกติทางโครโมโซม มีความผิดปกติของการพัฒนาอวัยวะเพศ เช่น ภาวะ Testicular Feminization Syndrome เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้ฮอร์โมนเพศชายที่มีในร่างกายไม่ถูกนำมาพัฒนาต่อจนกลายเป็นอวัยวะเพศชายนั่นเอง
แต่ในเมื่อกฎของการเข้าแข่งขันโอลิมปิก IOC ได้กำหนดว่าจะดูเพศจากหนังสือเดินทาง ประกอบกับการตรวจฮอร์โมนเพศ ว่าต้องมีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนไม่เกิน 10 nmol ต่อลิตร ทั้งเคลิฟและหลินก็ผ่านเกณฑ์ไปได้ และสามารถเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ได้ ซึ่งทั้ง 2 คนก็เคยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก โตเกียว เกมส์ 2020 ด้วยเช่นกัน
“นักกีฬา 2 คนนี้ตกเป็นเหยื่อของการตัดสินใจที่ฉับพลันและตามอำเภอใจของ IBA เมื่อใกล้สิ้นสุดการแข่งชิงแชมป์โลกในปี 2023 พวกเธอกลับถูกตัดสิทธิ์โดยไม่มีกระบวนการใดๆ ที่ชัดเจน” แถลงการณ์จาก IOC อธิบายถึงประเด็นที่เป็นข้อถกเถียง
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ประเด็นหนึ่งที่คนหยิบยกมาถกเถียงบนโลกออนไลน์ก็คือ งั้นต่อไปควรจะใช้
‘โครโมโซม’ เป็นเกณฑ์วัดในการเข้าแข่งขันกีฬา ว่าควรเข้าแข่งขันในประเภทหญิงหรือชาย หรือเปล่า? ซึ่งดังที่เห็นว่าการพัฒนาของร่างกายแต่ละคนมีความซับซ้อน และคนส่วนใหญ่ ถ้าไม่มีความำจำเป็นอะไรก็ไม่เคยตรวจโครโมโซมกันด้วยซ้ำ วิธีการนี้จึงคงจะไม่ใช่คำตอบ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผู้เสนอว่า หากมีความผิดปกติทางเพศกำเนิด หรือแม้กระทั่งเพศสภาพ ก็ไม่ควรได้สิทธิในการเข้าแข่งขันกีฬาไปเลย ซึ่งทำให้อีกฝ่ายออกมาตอบโต้ว่าไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร ทุกคนก็ควรได้สิทธิเท่าเทียมกันในการแข่งขันกีฬา
ในเมื่อประเด็นสำคัญของการแข่งกีฬา คือความเท่าเทียม และความยุติธรรม คนส่วนหนึ่งจึงแสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาหลักประการหนึ่งของวงการกีฬาทั่วโลกขณะนี้คือการยังใช้ระบบสองเพศ (binary system) มาเป็นข้อกำหนดหลักในการแบ่งประเภทการแข่งขัน ทั้งที่มนุษย์มีความหลากหลายทางเพศ อย่างเพศกำเนิดก็ไม่ได้มีเพียงหญิง ชาย แต่ยังมี intersex คือมีอวัยวะเพศหรือลักษณะทางเพศที่ระบุชัเจนไม่ได้ว่าเป็นชาย หรือหญิง
นอกจากนั้น ยังมีความหลากหลายทางกายภาพ ไม่ว่าจะมาจากระดับฮอร์โมน หรือแม้แต่เชื้อชาติที่ส่งผลให้แต่ละคนมีลักษณะร่างกายที่แตกต่างกัน ทั้งส่วนสูง หรือมวลกล้ามเนื้อ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความยุติธรรมในการแข่งขันได้ทั้งนั้น
ดังนั้น ในโลกยุคใหม่ที่มีองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้น และค่านิยมเรื่องการยอมรับความหลากหลายถือเป็นคุณค่าที่ควรยึดถือ จึงน่าติดตามต่อไปว่าในการแข่งขันกีฬา ไม่ว่าจะเป็นระดับโอลิมปิก หรือการแข่งขันทั่วไป ที่ลักษณะทางกายภาพเป็นประเด็นสำคัญ จะมีการปรับกฎเกณฑ์อย่างไรต่อไปหรือไม่ เพื่อให้ ‘กีฬา’ เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ และไม่กีดกันใครจนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
อ้างอิงจาก