“เป็นตัวของตัวเอง
เป็นมุสลิม
เป็นหญิงข้ามเพศ
เป็นนักปกป้องสิทธิทางเพศ
เป็นนักนโยบาย”
คือคำอธิบายตัวตนของ ‘อั๊ส – อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ’ นักแสดงผู้นำเรื่องราวชีวิตจริงมาบอกเล่าผ่านละครเวทีในชื่อเรื่อง مُخَنَّث Forgive me for I have sinned : โปรดอภัยที่ฉันเป็นคนบาป ในมุมมองของผู้กำกับอย่าง ‘แรปเตอร์ – สิรภพ อัตโตหิ’ และ Co-director ของเทศกาลศิลปการละครเพื่อความหลากหลาย H0m0Haus
จุดมุ่งหมายอะไรที่ทำให้แรปเตอร์เลือกเล่าถึงประเด็น ‘หญิงข้ามเพศมุสลิม’ ในครั้งนี้ แล้วเรื่องเพศ ศาสนา ศรัทธา และจิตวิญญาณ มีความเชื่อมโยงกันอย่างไรกันแน่
ชวนผู้อ่านสำรวจประเด็นเหล่านี้ผ่านบทสนทนาระหว่างเรากับ ‘แรปเตอร์’ ผู้กำกับไปพร้อมๆ กัน แต่เพื่อให้เห็นและเข้าใจในสิ่งที่ ‘อั๊ส’ ต้องเผชิญ เราจึงจะขอเล่าย้อนไปถึงเนื้อหาบางส่วนของละครเรื่องนี้เสียก่อน
การเป็น ‘หญิงข้ามเพศ’ และ ‘มุสลิม’ อาจฟังดู ‘ย้อนแย้ง’ ด้วยคำสอนของศาสนาอิสลามที่ถูกตีความว่ามนุษย์เกิดมามีเพียง 2 เพศ คือ ชายและหญิง นั่นหมายความว่านอกเหนือจากเพศกำเนิดนับว่าเป็น ‘บาป’ ด้วยเหตุนี้ แรปเตอร์จึงเลือกเรื่องราวนี้มานำเสนอ เพื่อสำรวจมิติของเรื่องเพศและความเชื่อไปพร้อมๆ กันกับนักแสดงและผู้ชม
ช่วงพลบค่ำของวันที่ 1 มิถุนายน 2567 หลังจากที่บริเวณสยามมีการเดินขบวนไพรด์พาเหรดเพื่อเฉลิมฉลองและเรียกร้องสิทธิทางเพศ LGBTQ+ อย่างคึกคัก อีกมุมหนึ่ง ณ โรงละครเล็กๆ ย่านอารีย์ การแสดงชุดนี้ก็เริ่มต้นขึ้นอย่างเรียบง่าย
อั๊สเริ่มต้นจากการละหมาด และถามว่าในรอบการแสดงนี้มีใครที่เป็นมุสลิมบ้าง พร้อมเล่าถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม การละหมาดทำไปทำไม จุดประสงค์ ช่วงเวลาของการละหมาด และหลักปฏิบัติพื้นฐานที่คนเป็นมุสลิมจะต้องทำในตลอดช่วงชีวิต ซึ่งตลอดเวลาที่อั๊สเล่า เราสัมผัสได้ถึงความศรัทธาอย่างยิ่งของเธอต่อศาสนาอิสลาม ที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและเครื่องนำทางให้อั๊สผ่านช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิตไปได้
แต่ในมิติทางเพศนั้น อั๊สไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีสำนึกทางเพศเป็น ‘ผู้ชาย’ และคิดเพียงแต่ว่าอยากเป็นเหมือนแม่ และอัตลักษณ์หนึ่งของแม่ ก็คือการเป็น ‘ผู้หญิง’
ตัวตนของอั๊สไม่เคยถูกปกปิดไว้ จนเมื่อคนในบ้านค้นพบ ก็พยายามที่จะถามว่าเธอเป็นอะไรกันแน่ พร้อมอ้างถึงบทบัญญัติว่าการเป็นกะเทยมันบาป และจะต้องถูกไล่ออกจากบ้านและชุมชน
ตลอดเรื่องราวหลังจากนั้น เธอเล่าถึงบาดแผลที่ต้องเผชิญเพียงเพราะเป็นหญิงข้ามเพศมุสลิม ทั้งการกีดกันออกจากศาสนา บ้างก็ว่าทำไมไม่เลิกนับถืออิสลามไปเลย จนถึงความรุนแรงทางเพศที่ทำให้อั๊สหันหน้าเข้าหาพระเจ้า เพื่อขอให้พระเจ้าชี้ทางว่าเธอควรจะทำอย่างไรต่อไปดี ซึ่งเธอตัดสินใจคลุมฮิญาบ แต่ก็ไม่แคล้วถูกตัดสินอีกว่าเธอไม่เหมาะสมที่จะสวมใส่มัน
“ให้เราเอาบาปไปคุยกับพระเจ้าเอง” คือสารสำคัญที่ละคร (เรื่องจริง) เรื่องนี้พยายามจะบอกกับเรา หรือจะพูดให้ถูก คือบอกกับสังคมว่าเธอเพียงแค่ต้องการเป็นตัวของตัวเองที่ไม่ได้เดือดร้อนใครเท่านั้น และหากพระเจ้าจะตัดสินว่าสิ่งนี้เป็นบาปจริง ก็ไม่มีใครมีสิทธิตัดสินแทนพระเจ้าทั้งสิ้น
ทั้งระหว่างที่ละครกำลังเล่นไปจนถึงหลังละครจบลงสักพักหนึ่ง หลากความรู้สึกแวะเวียนกันเข้ามาทำงานในจิตใจของเรา ทั้งประทับใจกับความกล้าหาญที่ผ่านเรื่องต่างๆ มาได้แล้วปัจจุบันยังทำงานเป็นนักสิทธิฯ ให้กับคนอื่นๆ และสะเทือนใจกับความรุนแรงที่อั๊สเผชิญ พร้อมประหลาดใจว่า ทำไมมนุษย์คนหนึ่งถึงกระทำความรุนแรงกับมนุษย์อีกคนในลักษณะนี้ได้
และต้องขอยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่าก็ยังมีชั่วครู่หนึ่ง ที่เราเกิดความสงสัยว่า อะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งยังมีศาสนาที่คนรอบตัวใช้เป็นเครื่องมือมากดขี่เขาอยู่
เราจึงนัดแรปเตอร์มาพูดคุยกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านอารีย์ ที่ยิ่งใกล้เวลานัดหมาย เราก็ยิ่งตื่นเต้นที่จะได้สำรวจแนวคิดเบื้องหลังของสิ่งที่เราเพิ่งได้รับชมเป็นประจักษ์พยานไปเมื่อไม่กี่วันก่อน
ในขณะที่แก้วกาแฟเย็นค่อยๆ จืดชืดจากน้ำแข็งที่เริ่มละลาย แต่ ณ ขณะเดียวกันบทสนทนาที่เต็มไปด้วยรสชาติกลับเริ่มต้นขึ้น
“ทำไมถึงหยิบเรื่องหญิงข้ามเพศมุสลิมมาทำ?” เรารู้อยู่แล้วว่าแรปเตอร์เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิทางเพศของเพศหลากหลาย หรือ LGBTQ+ ในนามของกลุ่ม ‘เสรีเทยพลัส’ แต่ก็เพราะอย่างนั้น แรปเตอร์น่าจะมีประเด็นอะไรมากมายที่อยากสื่อสารออกมา เราจึงอยากเข้าใจให้มากขึ้นว่าทำไมเรื่องนี้จึงต้องถูกสื่อสารในเทศการละคร H0m0Haus เป็นครั้งแรก
แรปเตอร์เริ่มต้นตอบโดยนิยามว่าตัวเองเป็น ‘เฟมินิสต์’ ที่สมาทานแนวคิดแบบ ‘Intersectional Feminism’ หรือเฟมินิสต์ที่สนใจประเด็นความซับซ้อนของอัตลักษณ์ “เพศมันไม่ได้อยู่ด้วยตัวของมันเองโดดๆ […] คนมีความทับซ้อนกันอยู่มากมาย เช่น ‘ผู้ชาย’ เอเชียนชนชั้นล่าง จะมีอำนาจมากกว่า ‘ผู้หญิง’ ผิวขาวชนชั้นบนในอเมริกาได้อย่างไร ใช่ไหม [… ] การมองเรื่องเพศ จึงต้องมองถึงความทับซ้อนของอำนาจอื่นด้วย” แรปเตอร์อธิบายแบบนั้น
‘ศาสนา’ จึงเป็นอีกมิติหนึ่งของอัตลักษณ์ที่มาทับซ้อนกับเรื่องเพศ เพราะศาสนาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำงานกับวิธีคิดของมนุษย์มาเป็นพันๆ ปี โลกถูกสร้างขึ้นด้วยกรอบความเชื่อของศาสนา และระบบเพศสองขั้ว (Gender Binary) ที่บอกว่าเพศมีเพียงชายและหญิง ก็เป็นแนวคิดที่เกิดจากศาสนา ความเป็นเพศจึงถูกกำกับโดยศาสนาไปด้วยเช่นกัน ผ่านโครงสร้างของสถาบันความเชื่ออันแข็งแกร่ง
ประจวบกับในเวลานี้ ยังมีสถานการณ์ความรุนแรงในกาซา จากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ดำเนินมาต่อเนื่องกว่า 8 เดือน ซึ่งส่งผลให้กระแส อิสลาโมโฟเบีย (Islamophobia) หรือ ความเกลียดกลัวอิสลามนั้นแพร่ออกไป ซึ่งเดิมก็เป็นแนวคิดที่ฝังลึกในสังคมไทยจากประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว ในขณะเดียวกัน สังคมก็ยังมีภาวะทรานส์โฟเบีย (Transphobia) หรือความเกลียดกลัวคนข้ามเพศอยู่ด้วย
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีมุสลิมที่เป็นคนข้ามเพศ หรือเป็น LGBTQ+ สังคมก็จะบอกว่า ‘ทำไมต้องไปทนอยู่กับสิ่งที่ด้อยค่าเรา ทำไมไม่ออกมาจากศาสนา’ บ้างก็วิจารณ์ ด่าทอว่า ‘เป็นกะเทยมันบาปหนัก หวังว่าจะกลับใจได้ไวๆ หรือไม่ก็ไม่ควรมานับถือศาสนานี้อีกต่อไป’ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้แรปเตอร์อยากนำเสนอว่า ไม่ว่าจะเพศ หรือศาสนา ก็ล้วนเป็น ‘อัตลักษณ์’ เป็นส่วนหนึ่งของตัวตน ช่วยชุบชูจิตใจของมนุษย์ และที่สำคัญคือเป็นเสรีภาพ ที่คนสามารถเลือกสิ่งที่จะเป็น หรือเลือกนับถืออะไรก็ได้
“หญิงข้ามเพศมุสลิม เป็นอัตลักษณ์ที่มันมีความย้อนแย้งกันบางอย่างในเชิงความเชื่อ แต่ทำไมเขาถึงยังนับถือหรือยังศรัทธากับศาสนาที่มีภาพจำว่ามันกดขี่เขา เราก็เลยอยากจะไปสำรวจตรงนี้ เพราะว่ามันไม่ใช่เขาคนเดียวที่เป็น LGBTQ+ ที่เป็นมุสลิม ยังมีอีกเยอะมากในสังคม”
ถึงอย่างนั้น แรปเตอร์ก็เน้นย้ำจุดยืนที่ต้องการจะวิพากษ์ศาสนา เพื่อถอดรื้อโครงสร้างชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) แต่ก็ใช่ว่าจะต้องการลิดรอนเสรีภาพในการนับถือศาสนาของใคร กลับกันคือส่งเสริมให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของอัตลักษณ์เหล่านี้ และส่งเสริมให้เคารพถึงเสรีภาพของกันและกันต่างหาก
แน่นอนว่าการพูดถึงเรื่องนี้ในพื้นที่สาธารณะอย่างการจัดแสดงละครเวทีที่เปิดให้ใครจองบัตรเข้ามาชมก็ได้ และประชาสัมพันธ์ทางโซเชียลมีเดียที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ทำให้ละครเรื่องนี้ ถูก ‘เจิม’ ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มแสดง
แรปเตอร์เล่าว่า คนที่เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ มีทั้งกลุ่มมุสลิมที่เป็น Islamic fundamentalism (มุสลิมที่ยึดความเชื่อตามคัมภีร์ และตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด) และมีคนที่มองว่าตัวเองหัวก้าวหน้า ที่เข้ามาแนะนำว่าทำไมถึงไม่ออกจากศาสนาไปเลย เพื่อที่จะได้เป็นเพศอะไรก็ได้แบบที่ตนเองต้องการ และยังมีกลุ่มที่ไม่ชอบศาสนาอิสลามอยู่แล้วเข้ามาผสมโรงด้วย
“ก่อนการเล่นมันก็มี feedback (ผลตอบรับ) มาตั้งแต่ต้นนะ มันก็เห็นเลยว่า จริงๆ ประเด็นนี้มันเป็นประเด็นทาบู (taboo; ข้อห้ามตามพื้นฐานเชิงวัฒนธรรม) มากในสังคม” แต่ก็ยังน่าชื่นใจที่หลังจากละครเริ่มเล่นแล้ว ก็ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมที่บอกว่าเข้าใจถึงความเชื่อมโยงของอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนกันมากขึ้น หรือคนที่เคยเกลียดกลัวศาสนาอิสลาม ก็เริ่มได้ทบทวนตัวเองว่า อาจจะมองอิสลามแบบสุดโต่งเกินไปหรือเปล่า จนถึงที่สุด คือเกิดความเห็นอกเห็นใจกัน และเห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองต่อประเด็นนี้ และต่อสังคม
เราไม่แปลกใจที่เสียงตอบรับเป็นไปในทิศทางนั้น และกล้าพูดอย่างมั่นใจว่าผู้ที่ได้มาชมด้วยตัวเอง เรื่องราวของอั๊สจะต้องทำงานกับความรู้สึกไม่ว่าในทางใดทางหนึ่งแน่นอน เพราะแม้จะบอกว่าเป็นละคร แต่เรื่องที่อั๊สเล่า คือเรื่องของชีวิตที่ผ่านมาของอั๊สจริงๆ ทั้งการค้นพบตัวเอง ความเจ็บปวด แผลในใจ และทุกองค์ประกอบที่ประกอบสร้างจนกลายเป็นอั๊สในทุกวันนี้
แต่ก็เพราะว่าเรื่องที่เล่าออกมานั้นดูมี ‘ความเป็นส่วนตัว’ เหลือเกิน และคงต้องใช้ความกล้าหาญ การเปิดใจ และความไว้ใจอย่างมากทั้งในการเล่า และตลอดกระบวนการกว่าจะมาเป็นละครเรื่องนี้ คำถามต่อมาเราจึงอยากรู้ว่า แล้วแรปเตอร์มีวิธีการทำงานกับนักแสดงยังไง
“ก็ต้องสร้างความไว้ใจในการที่จะเล่าเรื่องให้ฟัง ก็ล้มลุกคลุกคลานกันมาประมาณหนึ่ง เพราะมีหลายๆ อันก็เป็นแผลสดนะคะ หรือหลายอันก็เป็นแผลเก่า แล้วเราก็ไปกรีดซ้ำ” แรปเตอร์ย้ำว่า เพราะเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมากๆ ต่อตัวนักแสดงเอง ทุกขั้นตอนจึงจะต้องผ่านความยินยอม (consent) ของอั๊ส และเป็นไปในบรรยากาศที่สบายใจ เล่าเท่าที่ต้องการ หยุดเมื่อต้องการ และขอให้ตัดในจุดที่ต้องการได้ ด้วยเครื่องมือทางการละครที่จะทำให้นักแสดงปลอดภัยมากที่สุด จนออกมาเป็นเรื่องราวเวอร์ชันที่ทุกคนได้เห็นบนเวที
แต่ไม่เพียงแค่จะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่ออั๊ส เพราะการจะพูดเรื่องศาสนาก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากพอแล้ว เพราะเป็นการพูดถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างเรื่องความเชื่อและศรัทธาของคนในสังคม แต่ในครั้งนี้ แรปเตอร์เลือกที่จะเล่าเรื่อง ‘เพศหลากหลาย’ ที่นับถือ ‘ศาสนาที่มีภาพจำในเชิงลบต่อเพศหลากหลาย’
เช่นนี้แล้ว แรปเตอร์มองว่า เรื่องที่ควรระวังในการสื่อสารประเด็นนี้คืออะไรบ้าง?
‘Power Danymics’ หรือความแตกต่างของสถานะเชิงอำนาจ คือสิ่งสำคัญที่แรปเตอร์ย้ำแล้วย้ำอีก ว่าจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าในการทำงานสื่อสารเรื่องเหล่านี้ ตัวเราในฐานะผู้สื่อสารนั้นมีอำนาจอะไรบ้าง และอำนาจของเราทำงานอย่างไรกับสังคม
ซึ่งในที่นี้ แรปเตอร์นิยามว่าตนเองเป็นเควียร์ เป็น LGBTQ+ เป็นคนที่สนใจและศึกษาเรื่องจิตวิญญาณกับศาสนา แต่ก็ไม่ใช่มุสลิม เมื่อเลือกที่จะเล่าเรื่องหญิงข้ามเพศมุสลิม จึงต้องทบทวนถึงอำนาจและจุดยืนที่ต้องการเล่าเรื่องราวนี้อยู่เสมอ
“เราทำอะไร เรากำลังเอาแว่นของตัวเองไปใส่ให้เขาไหม เรากำลังพูดแทนเขาหรือเปล่า แล้วเราต้องการจะสื่อสารอะไร แล้วพอเราคิดได้ว่าอยากสื่อสารอะไร ก็ต้องกลับมาดูที่อำนาจของตัวเองว่า อำนาจของเราคืออะไร เรายืนอยู่บนจุดยืนแบบไหน เรากำลังหาผลประโยชน์จากเขาหรือเปล่า”
แรปเตอร์อธิบายเสริมว่า ยิ่งทำงานเรื่องการเมือง เรื่องเพศ เรื่องชนชั้น เรื่องการกดขี่ ถ้าไม่มีจุดยืน หรือไม่เห็นอำนาจที่ทำงานกับตัวเราเองและสังคม ไม่เห็นถึงอัตลักษณ์และอำนาจที่ทับซ้อน (intersectionality) ของตัวเองกับประเด็น และมองไม่เห็นถึงเรื่องในลักษณะเดียวกันของตัว subject ที่นำมาใช้เล่าเรื่อง ก็จะทำให้ประเด็นนั้นลอย หรือกลายเป็นการคิดแทนทำแทน และไม่ได้นำเสนอ ‘เสียง’ ของพวกเขาออกมาจริงๆ
“พอเป็นงานศิลปะมันก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่มีเสียงของตัวเอง เวลาทำงานแบบนี้คือเราก็สามารถที่จะมีเสียงของตัวเราเองได้” แรปเตอร์ย้ำอย่างนั้น เพียงแต่เมื่อต้องการจะเล่าเรื่องของตัว subject ก็จะต้องระมัดระวังและหาจุดที่มีความยินยอมร่วมกัน
อย่างที่ได้เกริ่นไปในตอนแรก ว่าปีนี้เป็นครั้งแรกที่เทศกาลศิลปการแสดงเพื่อความหลากหลาย ‘H0m0Haus’ ได้ถือกำเนิดขึ้น อันมาจากความตั้งใจของแรปเตอร์และเพื่อนๆ ที่ต้องการสร้างพื้นที่ และคอมมูนิตี้สำหรับศิลปินเควียร์ คือการแหกออกจากขนบธรรมเนียมเดิมๆ ท้ังในแง่เนื้อหา และในแง่วิธีการสร้างชิ้นงาน จากการที่พื้นที่ของศิลปการแสดงในปัจจุบันนั้นมีความเป็น ‘ชายเป็นใหญ่’ หรือปิตาธิปไตยอย่างไม่รู้ตัว
ภารกิจสำคัญในช่วงแรกนี้ จึงเป็นการทำให้คอมมูนิตี้นี้แข็งแกร่ง ทำให้คนรับรู้ว่ามีช่องทางนี้เพื่อศิลปินเควียร์และเพื่อ LGBTQ+ เกิดขึ้นแล้ว ที่พร้อมคอยสนับสนุนประเด็นเหล่านี้ และสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ให้สังคมได้ทำความเข้าใจเพิ่มเติม
โดยเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของ H0m0Haus ในตอนนี้ คือการได้เติบโตไปเป็นเทศกาลระดับนานาชาติ
“เรื่องที่คุยกัน จริงๆ มันเป็นเรื่องที่เจอกันทุกประเทศ เราว่ามันสำคัญที่เราจะมีบทสนทนาข้ามกันระหว่างวัฒนธรรม ข้ามกันระหว่างพื้นที่ต่างๆ เพื่อที่ว่าเราจะได้เห็นถึงความเป็นภราดรภาพ (solidarity) และได้พยายามหาทางออกร่วมกัน” แรปเตอร์กล่าวอย่างมุ่งมั่น ซึ่งทำให้เราเชื่อสุดหัวใจว่าวันหนึ่ง H0m0Haus จะกลายเป็นพื้นที่นั้นได้อย่างแน่นอน
ในปีนี้ H0m0haus มีกิจกรรมถึง 3 ส่วน คือ ละครเวที 3 เรื่อง เวิร์กช็อป 2 หัวข้อ และวงเสวนาถึง 6 วง ที่ครอบคลุมทุกรสชาติ สะท้อนประเด็นเรื่องเพศ จิตวิญญาณ การแหกออกจากขนบของสังคม ไปจนถึงการเรียนรู้วิธีเป็นผู้สนับสนุนที่ดีให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสำหรับผู้ที่สนใจ กิจกรรมต่างๆ รวมถึงรอบการแสดงละครเวทียังคงมีจนถึงวันที่ 9 มิถุนายนนี้
ก่อนจะจบการสนทนา เราขอกลับไปพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ อย่างละครเรื่อง Forgive me for I have sinned อีกสักนิด เราได้ขอให้แรปเตอร์ช่วยสรุปสารที่ต้องการจะสื่อกับสังคมอีกสักครั้ง ว่าตกลงแล้วเราควรทำความเข้าใจอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องเพศ ศาสนา และจิตวิญญาณบ้าง
“LGBTQ+ ก็สามารถมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาอะไรก็ได้ เลือกความเชื่อของตัวเองที่ตัวเองรู้สึกว่าฉันสมาทาน และในขณะเดียวกัน ก็พยายามจะหาด้วยว่าในพื้นที่ศาสนาที่เกือบทุกศาสนากดทับ LGBTQ+ หรือมีวิธีคิดบางอย่างที่มันกดขี่ผู้หญิง เราจะหาวิธีการอย่างไรที่จะอยู่ร่วมกันบนโลกได้”
“ไม่ใช่ว่าพอเป็น LGBTQ+ ปุ๊บ ก็ไล่ออกไปว่าไม่ต้องมานับถือศาสนาใช่ไหม”เราถามแบบรู้คำตอบอยู่แล้ว ซึ่งแรปเตอร์ทิ้งท้ายว่า “ศาสนามันเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ แล้วคําว่าเสรีภาพก็คือเรื่องส่วนตัว ถูกหรือเปล่า เพราะฉะนั้นถ้าตราบใดที่เขาใช้เสรีภาพ แบบจะนับถืออะไรก็เป็นของเขา มันไม่ได้ไปลิดรอนใครนี่ เราว่ามันก็ fine”
Photographer: Wichaya Artamat, Phatthara Lertsukittipongsa
Graphic Designer: Manita Boonyong
Editor: Phafan Nokaeo