สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคเหนือ กำลังเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ ความรุนแรงของสถานการณ์ ส่งให้ผลชีวิตของประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตร บ้านเรือน และทรัพย์สินเสียหาย
ไม่เพียงแต่จังหวัดที่ภาคเหนือเท่านั้นที่ประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ล่าสุดมีรายงานว่าที่จังหวัดภูเก็ต เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากและเกิดดินสไลด์จนมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 รายเช่นกัน
สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อจากนี้คือ วิกฤตการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีปัจจัยสำคัญอะไรบ้าง ที่ทำให้สถานการณ์มันดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ในรายงานของ World Bank ที่ประเมินความเสี่ยงด้านสภาพอากาศประเทศไทยระบุว่า ปัญหา Climate Change ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ปัญหาอุถกภัยในไทยรุนแรงขึ้น และถือเป็น หนึ่งในภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุด ที่ไทยต้องเผชิญในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจและมนุษย์
รายงานจาก World Bank ยังวิเคราะห์ด้วยว่า ไทยนับเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากที่สุดในโลก ซึ่งอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นได้อีกในอนาคต
นอกจากนี้ ข้อมูลจากรายงานยังชี้ให้เห็นว่า ภาคการเกษตรของประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นซึ่งผลผลิตทางการเกษตรมีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นพิเศษ
ปัจจัยต่อมาคือเรื่องลานีญา
สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘ลานีญา’ ซึ่งระบุว่า อากาศสุดขั้ว ลานีญาส่งผลให้ฝนตกน้ำท่วม และฤดูหนาวปีนี้จะมีฝนตกและอากาศหนาวเย็นลง
“ปรากฎการณ์ที่ฝนตกหนักในพื้นที่บางแห่งได้เริ่มเกิดขึ้นให้เห็นเป็นประจำ โดยเฉพาะจังหวัดที่ใกล้กับทะเลและใกล้ภูเขา เช่นชลบุรี ระยอง เชียงราย แม่ฮ่องสอน เป็นต้น สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัย 3 ประ การ คือโลกร้อนขึ้น+ปรากฎการณ์ลานิญา+ฤดูของลมมรสุม”
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมยังได้อ้างอิง ข้อมูลจากอุตุนิยมวิทยาโลกที่คาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2024 นี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นหนึ่งในพื้นที่จะมีฝนตกหนักมาก โดยจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม2024 จนถึงเดือนสิงหาคม2025
นอกเหนือจากลานีญาแล้ว ยังมีปัจจัยในเรื่องของ ‘การขยายเมืองอย่างรวดเร็ว’ ที่เคยมีผลวิจัยที่เผยแพร่บน CNN ที่ระบุว่า การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมก็เพิ่มขึ้นไปด้วย โดยพื้นที่การตั้งถิ่นฐานตั้งแต่หมู่บ้านเล็กๆ ไปจนถึงเมืองใหญ่ เสี่ยงเผชิญภัยอันตรายจากน้ำท่วมสูงระหว่างปี 2528 และปี 2558 เพิ่มขึ้น 122%
สอดคล้องกับงานวิจัยจากธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง URBANIZATION การขยายตัวของเมือง ชี้ให้เห็นว่า ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ความเป็นเมือง โดยคนไทยกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเมือง สอดคล้องกับผู้ทำงานในภาคเกษตรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวของเมือง ยังถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การจัดการปัญหาอุทกภัยเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น
ไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยข้างต้นเท่านั้น แต่ยังมีข้อสังเกตถึงเรื่องการระบายน้ำในแม่น้ำโขง ที่มีส่วนเกี่ยวพันไปถึงเขื่อนของประเทศจีน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ภูมิภาคนี้เผชิญมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก
climateknowledgeportal.worldbank.org