เกิดอะไรขึ้นบน X (Twitter) ทำไมมีแต่ ‘บอทแขก’ รัวข้อความเต็มไปหมด?
นับตั้งแต่กลางปี 2023 โซเชียลมีเดียอย่าง ‘ทวิตเตอร์’ ที่คนไทยใช้จำนวนมาก ทั้งการบ่นชีวิตประจำวัน ไปจนถึงถกเถียงประเด็นปัญหาสังคมโลก ก็ได้กลายร่างเปลี่ยนไปเป็น ‘X’ ภายใต้การคุมบังเหียนของเจ้าของใหม่อย่าง อีลอน มัสก์
ถ้าสิ่งที่เปลี่ยนไปมีแค่ชื่อก็คงดี แต่ในความเป็นจริง มันกลับไม่ใช่เพียงเท่านั้น เพราะสังคมทวิตเตอร์ได้เปลี่ยนไปแล้ว
เพราะช่วงระยะหลังมานี้ เมื่อไรที่มีทวีต ‘แมส’ (มีคนเห็นจำนวนมาก มียอดรีทวิตสูง ฯลฯ) สิ่งที่จะเห็นได้จนกลายเป็นปกติ คือการที่มีแอคเคานต์ของคนแขก โดยเฉพาะจากชาวปากีสถาน และชาวอินเดียจำนวนมากเข้ามารัวข้อความ ทั้งเป็นอีโมจิ ก๊อปปี้ข้อความของคนไทยมาเมนชัน (คอมเมนต์) ใหม่ หรือแม้กระทั่งใช้ AI ในการสร้าง (generate) ข้อความภาษาไทยมาโต้ตอบ จนผู้ใช้ X ไทยบ่นกันระงมว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ X น่าเบื่อ เพราะไม่มีพื้นที่ให้ได้อ่านความคิดเห็นของคนไทยจริงๆ
แล้ว ‘บอทแขก’ เหล่านี้ ทำแบบนี้ไปทำไม?
หนึ่งในฟีเจอร์ใหม่ที่เป็นที่ฮือฮาในช่วงเปิดตัว คือการมาถึงของ ‘X Premium’ ซึ่งเป็นการเสียเงินเพื่อสมัครสมาชิก โดยจะได้รับฟีเจอร์พิเศษๆ เช่น มี ‘ติ๊กฟ้า’ หรือเครื่องหมายถูกสีน้ำเงินตามหลังชื่อ แก้ไขโพสต์ได้ โพสต์ได้ยาวขึ้น อัปโหลดวิดีโอยาวขึ้น และอีกมากมาย แต่ที่สำคัญ คือสามารถ ‘รับรายได้’ จากการเล่น X ได้ด้วย!
รายละเอียดในนโยบายการแบ่งรายได้ให้กับคนมีติ๊กฟ้าของ X กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะสร้างรายได้ได้ไว้ เช่น ต้องอยู่ในประเทศที่เข้าร่วมโปรแกรมนี้ มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีบัญชีที่ใช้มาแล้วเกิน 3 เดือน และเป็นผู้ใช้ที่ไม่ได้ละเมิดกฎของ X บ่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเป็นเนื้อหาที่ละเมิดกฎของ X ก็จะหมดสิทธิรับรายได้ไป เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับเพศ ยาเสพติด การพนัน ความรุนแรง ความเกลียดชัง
การจะได้รับเงินนั้นก็ง่ายแสนง่าย เพราะเพียงแค่เล่น X ไปตามปกติเท่านั้น โดยทวีต (โพสต์) เนื้อหาต่างๆ แล้วถ้าหากมีผู้ใช้ที่มีติ๊กฟ้าเหมือนกันเข้ามามี impression (เนื้อหาของเรามีการไปแสดงผลบนให้คนอื่นเห็น) ก็จะได้รับส่วนแบ่งจาก X ไป
แต่กว่าจะถึงจุดที่จะได้รับรายได้ ก็จะต้องเป็นชาวติ๊กฟ้าที่มียอด impression สะสมอย่างน้อย 5 ล้านครั้งภายใน 3 เดือน มีผู้ติดตามอย่างน้อย 500 คน และต้องยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว และเมื่อสร้างรายได้มากกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐ X ก็จะจ่ายเงินผ่านทาง Stripe อย่างสม่ำเสมอ
ฟังดูเหมือนจะดี เพราะคนที่สร้างคอนเทนต์สร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อให้แพลตฟอร์มครึกครื้นก็จะได้ค่าขนมตอบแทนไปบ้าง แต่เมื่อย้อนกลับมาที่ปรากฏการณ์ ‘บอทแขก’ ลง ฟีเจอร์นี้จึงกลายเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะคนสันนิษฐานว่า เหตุผลหลักที่คนแขกรัวข้อความ ก็เพราะต้องการจะได้รายได้พิเศษตรงนี้ไปนั่นเอง
แต่ในเมื่อเข้ามาปั่นป่วนเสียจนคุยอะไรกันไม่รู้เรื่องขนาดนี้ แต่เจ้าของแพลตฟอร์มอย่างอีลอน มัสก์ กลับไม่กระดิกกับปัญหาที่เกิดขึ้น คนไทยก็เลยต้องเริ่มหาวิธี ‘สู้กับระบบ’ ด้วยตัวเอง
ตั้งแต่ช่วงวันที่ 7 กันยายน 2024 จนถึงตอนนี้ ผู้ใช้ X ชาวไทยพากันออกมาแชร์วิธีสู้บอท ทั้งการแนะนำคำสำคัญ (keyword) ให้คนไทยเอาไปตั้งค่าเพื่อปิดการมองเห็นคำเหล่านี้ เช่น อีโมจิธงชาติประเทศแขก ตัวอักษรภาษาอาหรับ ตัวอักษรภาษาอินเดีย รวมถึงยังแนะนำเทคนิคการบล็อกให้มีประสิทธิภาพ โดยก่อนที่จะบล็อกให้เข้าไปดูหน้าโปรไฟล์ก่อน เพื่อกดบล็อกผู้ติดตาม (followers) ของแอคเคานต์นั้นไปด้วย ซึ่งมักจะเป็นพวกเดียวกัน
นอกจากการสู้กับระบบ ยังมีวิธีสู้กับบอทแขกโดยตรงด้วยเลือดนักสู้ของคนไทย โดยการ ‘ด่า’ ไปตรงๆ เสียเลย ซึ่งก็ทำให้เกิคความบันเทิงใหม่ เพราะแทนที่บอทแขกจะขอโทษ หรือมองข้ามไปเฉยๆ พวกเขากลับก๊อปปี้คำด่านี้ไปทวีตใหม่เพื่อหารายได้เพิ่มเสียอย่างนั้
ทั้งหมดนี้ ทำให้คนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า อีลอนตั้งใจจะทำอะไรกันแน่ ทำไมถึงไม่จัดการกับปัญหานี้เสียที ซึ่งหลังจากนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อคนไทยเริ่มสู้กลับ บอทแขกจะมีลูกเล่นใหม่ๆ ในการหารายได้อย่างไรบ้าง และเราจะหาวิธีพาสังคมทวิตเตอร์อย่างที่เคยเป็นกลับมาได้หรือไม่
อ้างอิงจาก