‘เวลาใครทำอะไรที่ไม่ชอบ จริงๆ เราก็โกรธมากแหละ แต่หายโกรธก่อนดีกว่า เดี๋ยวเรื่องจะไปกันใหญ่’
เคยไหมเวลาใครสักคนทำอะไรให้เราไม่พอใจ เราก็มักจะโกรธหรือแสดงท่าทีที่ไม่โอเคออกไป แต่พอคิดได้ว่า บรรยากาศระหว่าง 2 ฝ่ายเริ่มจะอึดอัด เลยรีบหายโกรธดีกว่า เพราะกลัวเรื่องมันจะบานปลายไปมากกว่านี้
ดีเลย หากเราสามารถระงับความโกรธและอารมณ์ได้ไม่ยาก แต่ว่าลึกๆ แล้ว บางเรื่องเรายังรู้สึกขุ่นเคืองใจอยู่เลยนี่นา เฮ้อ แค่เพราะไม่อยากให้ความสัมพันธ์ต้องจบลง เราเลยยอมหายโกรธ และเลือกที่จะมองข้ามมันไป
แบบนี้ มันดีกับเราและความสัมพันธ์จริงไหมนะ?
เร็วไปก็ไม่ดี ถ้ามันทำให้เรามันทันได้คิด
เวลาเราโกรธใครสักคน เราก็อยากจะหายโกรธให้ได้ทันที เพราะกลัวว่าความสัมพันธ์จะขาดสะบั้นลง ถึงตอนนั้นมันคงไม่ดีต่อใครเลย แต่ทุกครั้งต้องเป็นเราเสมอ ที่เป็นคนหายโกรธและเข้าไปคุยด้วยก่อน จนบางทีเราก็แอบคิดว่า ถ้าเราไม่หายโกรธทันทีทันใดจะเป็นอะไรหรือเปล่า?
ไม่แปลกเลยหากเราจะเป็นหายโกรธเร็ว แต่หลายครั้งที่เราให้อภัยใครก็ตาม อาจต้องย้อนกลับมาถามกับตัวเองว่า เราหายโกรธจริงๆ แล้วใช่ไหม หรือเราหายโกรธเพียงเพราะ ปัจจัยรอบตัวเร่งรุดให้เราต้องรีบหายโกรธ
แดน เบตส์ (Dan Bates) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หลายคนเลือกให้อภัยและปล่อยวางกับปัญหาหรือความขัดแย้งก่อน ส่วนหนึ่งก็เพื่อกลไกในการรักษาความรู้สึกของตัวเอง ร่วมกับการรักษาสถานะความสัมพันธ์ให้ดำเนินต่อไปได้
โดยแนวคิดดังกล่าว สอดคล้องไปกับแนวคิดของ เรเชล วูล์ฟ (Rachel Wolff) นักจิตบำบัดในเพนซิลเวเนีย ที่ให้คำอธิบายเรื่องการหายโกรธเร็วว่า มันคือการให้อภัยที่เป็นพิษ (Toxic Forgiveness) ซึ่งมักเกิดจากความกลัวว่า ถ้าเราไม่รีบปล่อยผ่านความโกรธนั้น มันจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในอนาคตได้
และวูล์ฟยังมองว่า การให้อภัยที่เป็นพิษถือเป็นการให้อภัยแบบไม่จริงใจ เนื่องจากมันทำให้เราหลงลืมความรู้สึกของตัวเอง ทั้งความโกรธ ความเศร้า หรือความโดดเดี่ยว แถมพอเราไม่ได้จัดการกับความรู้สึกดังกล่าวให้ดีพอ มันก็ยิ่งสะสมความรู้สึกนั้นไว้ภายใน และเมื่อความรู้สึกเชิงลบเพิ่มพูนขึ้น เราก็จะจัดการมันได้ยากกว่าเดิม
นอกจากนี้ หลายต่อหลายครั้งเรามักจะเป็นคนยอมถอยหลังออกมาก่อน เพราะไม่อยากมีปัญหาจนถึงขึ้นทะเลาะกันใหญ่โต แต่หารู้ไม่ว่าการให้อภัยอย่างรวดเร็วนั้น อาจไม่ได้ช่วยรักษาความสัมพันธ์ให้คงอยู่ได้เสียทีเดียว มันอาจสร้างผลกระทบในระยะยาวได้เช่นกัน
เพราะเมื่อปัญหาไม่ได้รับการสะสาง และถูกสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ มันอาจนำไปสู่การขาดความไว้วางใจ ความเข้าใจผิด หรือความไม่พอใจในความสัมพันธ์ ซ้ำร้ายในอีกมุมหนึ่ง มันยังทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกละเลยหรือถูกมองข้ามทางอารมณ์ เพราะอีกฝ่ายยังคงทำในสิ่งที่เราไม่ชอบซ้ำไปซ้ำมา
แล้วเราจะทำยังไง ไม่ให้การอภัยย้อนกลับมาทำร้ายเราได้?
เอมิลี่ เวสต์ (Emily West) นักบำบัดสุขภาพจิต จาก Self Space Therapy และเรเชล วูล์ฟ ได้แบ่งปันวิธีการการป้องกันไม่ให้การให้อภัยวกกลับมาทำร้ายความรู้สึกและความสัมพันธ์ของเราได้ ดังนี้
- ขอเวลาเข้าใจความรู้สึกตัวเองสักนิด
ไม่ผิดเลยหากเราจะรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจใครถ้าเขาคนนั้นมาทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่ก็ต้องไม่ลืมยอมรับและทำความเข้าใจความรู้สึกของตนเองให้ถี่ถ้วนว่า เราโกรธเพราะอะไร หรือเราไม่พอใจในเรื่องไหน
โดยวูล์ฟมองว่า การมีให้เวลาตัวเองสักนิด ถือเป็นขั้นตอนแรกที่จะทำให้เราได้สำรวจตัวเอง และนำไปสู่การให้อภัยอย่างแท้จริงได้ อีกทั้งการมีเวลาเพิ่ม ยังทำให้เราได้ทบทวนเกี่ยวกับผลกระทบต่อความสัมพันธ์ รวมถึงวิธีการจัดการปัญหาในความสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
เช่น ถ้าเราไม่ชอบคนไม่ตรงต่อเวลา และรู้สึกไม่พอใจที่เพื่อนมักจะมาสายเวลานัดเจอกัน แทนที่จะบอกว่าไม่เป็นไรตั้งแต่แรกเจอ เราอาจต้องยอมรับในความรู้สึกตัวเองว่า เราไม่ชอบที่เพื่อนทำแบบนี้กับเรา ก่อนจะเอ่ยคำว่าไม่เป็นไร ลองคิดให้เท่าทันความรู้สึกตัวเองสักนิด ว่าเราไม่เป็นไรเหมือนที่ปากเอ่ยไป หรือไม่เป็นไรเพราะกลัวกระทบถึงความสัมพันธ์ของเรากันแน่
- สื่อสารออกไปบ้างก็ดีเหมือนกัน
การสื่อสารออกไปให้รู้เลยว่าเราไม่พอใจ ก็เป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ดี หลายครั้งเวลาเราไม่พูด หรือไม่แสดงความรู้สึกออกไปตรงๆ อาจทำให้อีกฝ่ายไม่รู้ว่าเรายังคงโกรธอยู่ ซึ่งเวสต์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การได้สื่อสารให้อีกฝ่ายรับรู้นั้น เป็นทางที่จะทำให้เราได้แสดงความรู้สึกแท้จริง แถมยังทำให้เราได้สื่อสารกับอีกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งช่วยให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันและกันมากขึ้น
เช่น เวลาที่เพื่อนแซวเรา แล้วเรารู้สึกไม่โอเคกับคำแซวเหล่านั้น การพูดออกไปตรงๆ ว่าเราไม่ชอบคำแซวเหล่านี้ เพราะอะไร หรือพูดคุยกันถึงความรู้สึกไม่พอใจที่เกิดขึ้น อาจเป็นวิธีที่ดีที่จะทำให้เพื่อนเข้าใจและไม่ทำแบบเดิมซ้ำ บางครั้งแค่เพียงเราเริ่มพูดคุยกัน ก็ช่วยต่ออายุความสัมพันธ์ระหว่างเราออกไปได้ เราไม่ต้องข่มเก็บความไม่พอใจไว้ และเพื่อนได้รับรู้ว่าทำสิ่งนี้แล้วเราไม่โอเค
- ไม่จำเป็นต้องให้อภัยใครง่ายๆ ก็ได้
แม้จะสนิทกันแค่ไหนก็ตาม หากอีกฝ่ายมาทำให้เราโกรธหรือไม่สบายใจ เราเองก็ไม่จำเป็นต้องให้อภัยง่ายๆ ก็ได้ เพราะความรู้สึกของเราก็สำคัญไม่แพ้ความสัมพันธ์ตรงหน้า
ดังนั้นเพื่อจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง ทางด้านวูล์ฟแนะนำว่า หากเรื่องไหนเรารู้สึกไม่โอเคจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องให้อภัยในทันที เพราะหลายเรื่องอาจสร้างผลกระทบต่อความรู้สึกเราอย่างรุนแรง ซึ่งการไม่ให้อภัยโดยง่ายนั้น จะช่วยให้อีกฝ่ายได้เรียนรู้ว่าไม่ควรทำสิ่งที่เราไม่โอเคซ้ำอีกครั้ง
เช่น หากเพื่อนเอาเรานินทาลับหลังอย่างสนุกปาก พอเรื่องมาถึงหูเข้า เราเองก็มีสิทธิ์ที่จะโกรธ และไม่จำเป็นต้องปั้นยิ้มว่าตัวเองโอเคในเร็ววัน หากเพื่อนคนนั้นเรียนรู้ว่าการทำสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะแฮปปี้ด้วย และเขายังอยากสานต่อมิตรภาพกับเราในอนาคต เมื่อถึงเวลานั้นคำขอโทษที่จริงใจ พร้อมเวลาที่ผันผ่านไปก็อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ของเรากลับมาดีด้วยได้
ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่เป็นไรเลย ถ้าเราจะเป็นหายโกรธไว เพียงแต่ในบางครั้ง ถ้าเราลองหยุดชั่งน้ำหนักความรู้สึกของตัวเองสักนิด ให้โอกาสความไม่พอใจของเราได้ทำงานสักหน่อย ก่อนจะปล่อยให้ความโกรธนั้นมลายหายไป อาจจะได้ดีกับตัวเราและความสัมพันธ์ตรงหน้ามากขึ้นก็ได้นะ
อ้างอิงจาก