เมื่อประมาณสามปีก่อน ผมเคยเขียนบทความตามหา ‘คนไทยมัธยฐาน’ ซึ่งนับเป็นคนไทยส่วนใหญ่ที่อาจให้ภาพซึ่งแตกต่างจากชนชั้นกลางที่นั่งทำงานในออฟฟิศอย่างสิ้นเชิง มาคราวนี้ผมได้รับโจทย์ใหม่จากท่านบรรณาธิการว่าให้ตามหา ‘ชนชั้นนำ’ ทางเศรษฐกิจของไทยว่าพวกเขาหน้าตาเป็นอย่างไรกันนะ
โจทย์นี้ไม่ง่ายนัก เพราะรายงานสถิติส่วนใหญ่มักจะบอกแค่ค่ากลางไม่ว่าจะเป็นค่าเฉลี่ยหรือค่ามัธยฐาน หรืออาจตีแผ่รายได้และรายจ่ายของคนยากจน แต่เท่าที่ผมค้นคว้าดูกลับไม่พบว่ามีงานวิจัยชิ้นไหนที่โฟกัสไปที่ ‘คนรวย’ อย่างมากก็แค่บทความตามหน้านิตยสารที่จัดอันดับมหาเศรษฐีชาวไทยจำนวนหลักสิบ ซึ่งก็ยังไม่ให้ภาพที่ชัดเจนอยู่ดีว่าเหล่าประชากรไทยที่อยู่บนยอดปิรามิดนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร
และแล้วผมก็เจอทางสว่าง นั่นคือฐานข้อมูลที่ฉายภาพอย่างละเอียดมากขึ้นอย่าง เช่น World Inequality Database มาผสมผสานกับงานวิจัยและตัวเลขสถิติต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อร่างภาพคร่าวๆ ของเหล่า ‘ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ’
แต่อันดับแรก เราต้องมากำหนดนิยามกันเสียก่อนว่า
รวยแค่ไหนถึงควรเรียกว่าชนชั้นนำ
รวยแค่ไหนถึงเรียกได้ว่าชนชั้นนำ?
เวลาพูดถึง ‘ชนชั้นนำ’ งานศึกษาส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่ในแวดวงการเมืองการปกครอง แต่หากเป็นฝั่งเศรษฐกิจ ชนชั้นนำที่ว่าย่อมสามารถวัดเป็นตัวเลขได้จากรายได้ความมั่งคั่งซึ่งเราสามารถจำแนกเป็น ‘ชั้น’ ตั้งแต่ยากจนถึงร่ำรวยด้วยเครื่องมือทางสถิติอย่างเปอร์เซ็นต์ไทล์ (Percentile)
ลองนึกตามว่าเรานำประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมดในประเทศไทยราว 50 ล้านคนมาเรียงแถวต่อกันจากคนที่ยากจนที่สุดไปจนถึงคนที่ร่ำรวยที่สุด แล้วจับคนเหล่านั้นแบ่งเป็น 100 กลุ่ม กลุ่มละ 500,000 คน ไล่เรียงไปเรื่อยๆ เราจะได้กลุ่มคนที่จนที่สุด 500,000 คนแรกเรียกว่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 1 และคนที่ร่ำรวยที่สุด 500,000 คน เรียกว่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 99 หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น ‘คนที่ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์’
สำหรับบทความชิ้นนี้จึงจะนิยามชาวไทย 500,000 คนที่ร่ำรวยที่สุด หรือเหล่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 99 ว่าเป็น ‘ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ’ หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่าเหล่าเศรษฐีชาวไทยแล้วกัน แต่อาจจะต้องขยับขยายขอบเขตบ้างตามข้อจำกัดของข้อมูล
รายได้และความมั่งคั่งของเหล่าเศรษฐีไทย
เมื่อคลิกเข้าฐานข้อมูล World Inequality Database ปี 2022 ด้วยใจระทึกว่านักเขียนนักวิจัยไส้แห้งที่ทำงานงุดๆ อย่างผมจะติดโผเป็นหนึ่งในเศรษฐีเมืองไทยกับเขาบ้างหรือเปล่า หลังจากกรอกเงื่อนไขเสร็จสิ้น เว็บไซต์ก็ผลิตกราฟออกมากระแทกหน้าให้ตื่นจากความฝันว่า ถ้าจะเข้าคลับคนที่ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์แล้วละก็… ต้องมีรายได้ก่อนภาษีอย่างน้อย 4.5 ล้านบาทต่อปี หรือตกราวๆ เดือนละ 3.7 แสนบาท และความมั่งคั่งสะสมอย่างน้อย 13.8 ล้านบาท!
ยิ่งเมื่อนำตัวเลขดังกล่าวไปคิดเป็นสัดส่วนรายได้และความมั่งคั่งทั้งหมดภายในประเทศแล้วยิ่งน่าหดหู่ใจ เพราะรายได้ของประชากรจำนวนราวห้าแสนคนนี้คิดเป็นสัดส่วนราว 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดภายในประเทศ แต่ถ้ามองในแง่ความมั่งคั่งยิ่งแล้วใหญ่ เพราะพวกเขาครอบครองความมั่งคั่งเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ
อยากจะย้ำอีกสักครั้งให้เห็นภาพชัดๆ สมมติว่าประชากรไทยมีทั้งหมด 100 คน ทั้งประเทศสร้างรายได้ 1,000 บาทต่อปี และมีความมั่งคั่งทั้งหมด 10,000 บาท เศรษฐี ก. ผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศจะมีรายได้ประมาณ 200 บาทและครอบครองความมั่งคั่งประมาณ 5,000 บาท ส่วนอีก 99 คนก็แบ่งๆ ส่วนที่เหลือกันเอาเอง นี่แหละครับคือภาพจำลองประเทศไทยในปัจจุบัน
เอาล่ะครับเหล่าฐานปิรามิดทั้งหลาย มายืนรวมตัวด้วยกันตรงนี้ ส่วนใครอยากลุ้นต่อว่าจะตัวเองยืนอยู่ตรงไหน ผมขอแง้มว่าหากคุณต้องการติดอยู่ใน 10 เปอร์เซ็นต์แรกของคนที่มีรายได้สูงที่สุดในไทยจะต้องมีรายได้อย่างน้อยปีละ 1.2 ล้านบาท หรือราวเดือนละ 100,000 บาท แต่หากต้องการติดอยู่ในกลุ่มคนมีรายได้มากที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์แรกของไทย ก็ต้องมีรายได้ราว 315,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 26,000 บาทต่อเดือน
เหล่าเศรษฐีเอาเงินไปเก็บไว้ที่ไหนกันนะ?
พอมาเป็นเรื่องของความมั่งคั่ง ข้อมูลที่เจอก็ค่อนข้างกระจัดกระจาย ข้อมูลที่น่าสนใจชิ้นแรกคืองานวิจัยคลาสสิคของผู้ช่วยศาสตราจารย์ดวงมณี เลาวกุล ว่าด้วยเรื่องการถือครองที่ดินซึ่งพบว่าในปี 2556 ที่ดินซึ่งมีโฉนดส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ในมือของคนไทยราว 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อพิจารณาดูในรายละเอียดแล้วยิ่งน่าตกใจเพราะหากคัดกรองเฉพาะบุคคล 500,000 คนแรกที่ถือครองที่ดินมากที่สุด คนเหล่านั้นจะต้องมีที่ดินอย่างน้อย 30 ไร่ขึ้นไป โดยมีมหาเศรษฐีบนสุดยอดปิรามิดราว 1,300 คนที่มีที่ดินมากกว่า 500 ไร่ ในประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินแม้แต่หนึ่งงาน
หันมาดูทางสินทรัพย์ทางการเงินกันบ้าง งานวิจัยชิ้นเดียวกันก็พบว่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของไทยกระจุกอยู่ในมือบุคคลไม่กี่คน หรือตระกูลนักธุรกิจไม่กี่ตระกูล นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจยังมีความกระจุกตัวสูงโดยบริษัทขนาดใหญ่เป็นกลุ่มทุนที่มีความสัมพันธ์ทั้งในแง่ธุรกิจและครัวเรือน อย่างไรก็ตาม การศึกษาชิ้นดังกล่าวนับว่าค่อนข้างเก่าแล้วจึงอาจไม่ได้ฉายภาพที่เป็นปัจจุบันมากนัก
หากขยับมาดูตัวเลขที่เป็นปัจจุบันขึ้นหน่อยอย่างเงินฝาก สถิติล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ถ้าคุณอยากไต่อยู่ในกลุ่มยอดปิรามิดของคนที่รวยที่สุด 150,000 คนแรกของไทย จะต้องมีเงินฝากตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนใครที่มีเงินเก็บหอมรอมริบไว้ในบัญชีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท ก็จะติดอยู่ในกลุ่มร่ำรวยที่สุด 5 เปอร์เซ็นต์แรก
ส่วนมหาเศรษฐีบนยอดสูงสุดของปิรามิดซึ่งมีเงินฝาก 500 ล้านบาทขึ้นไปนั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 1,531 บัญชีเท่านั้น ขณะที่บัญชีธนาคารส่วนใหญ่กว่า 9 ใน 10 มียอดเงินเฉลี่ยเพียง 3,700 บาทเท่านั้น
แต่แน่นอนครับว่าเหล่าเศรษฐีคนไทยไม่ได้ลงทุนเฉพาะในเงินฝาก รายงานการสำรวจลูกค้าความมั่งคั่งสูงของ SCB Julius Baer เมื่อปี 2019 พบว่าหากมีสินทรัพย์ทั้งหมด 100 ล้านบาท คนรวยจะจัดสรรพอร์ตฟอร์ลิโอโดยถือเป็นเงินสด 20 ล้านบาท ตราสารหนี้อย่างเช่นพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ 20 ล้านบาท หุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์อีก 20 ล้านบาท กองทุนรวม 15 ล้านบาท ประกันภัยและประกันชีวิต 8 ล้านบาท และลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 7 ล้านบาท คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าบัญชีเงินฝากมูลค่ามหาศาลนั้นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง
เหล่าเศรษฐีไทยใช้จ่ายไปกับอะไร?
น่าเสียดายที่ข้อมูลที่ละเอียดที่สุดเท่าที่มีในด้านการใช้จ่ายนั้นมีเพียงของคนที่ร่ำรวยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์แรกของไทย ซึ่งย่อมแตกต่างจากการฉายภาพเหล่าเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ แต่หากพิจารณาจากแนวโน้มเราก็จะพอเห็นได้ว่ายิ่งครัวเรือนร่ำรวยขึ้นเท่าไร สัดส่วนรายได้ก็จะสูงกว่ารายจ่ายมากขึ้นเท่านั้น หรือก็คือมีเงินเหลือพอเก็บออมมากขึ้นนั่นเอง ส่งผลให้เหล่าเศรษฐีมักมีรายได้จากการลงทุนในสัดส่วนที่สูงกว่าคนที่ยากจน
นอกจากนี้ การวิเคราะห์ของ อ. เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และคณะ ยังพบแนวโน้มที่น่าสนใจว่า ยิ่งครัวเรือนมีรายได้มากขึ้นเท่าไร สัดส่วนรายจ่ายที่หมดไปกับค่าอาหารก็จะน้อยลง โดยเปลี่ยนเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ รวมถึงรายจ่ายค่านันทนาการที่เพิ่มขึ้น
แนวโน้มหนึ่งที่น่ากังวลคือตัวเลขรายจ่ายด้านการศึกษาบุตรหลานที่ครัวเรือนร่ำรวยจ่ายมากกว่าครัวเรือนมัธยฐานถึง 7 เท่าตัว และมากกว่าครัวเรือนยากจนถึง 14 เท่าตัว เมื่อผนวกกับข้อค้นพบที่ว่าระดับการศึกษาส่งผลอย่างยิ่งต่อรายได้ในอนาคต โดยคนไทยที่จบปริญญาตรีจะมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าคนที่จบการศึกษาต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เท่ากับว่าความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะในแง่รายได้มีโอกาสสูงที่จะส่งผ่านจากพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูกหลาน
แล้วการจ่ายภาษีล่ะ?
ขอแถมก่อนปิดท้ายเพราะอาจเป็นประเด็นที่หลายคนรวมถึงผมสงสัยว่าเหล่าคนรวยเสียภาษี ‘แบก’ ทุกคนในสังคมหรือเปล่า เพราะประเทศไทยใช้ระบบจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลแบบอัตราก้าวหน้า ดังนั้นเหล่าผู้มีรายได้สูงกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไปย่อมต้องเสียภาษีแบบหนักๆ จุกๆ ที่อัตราเพดาน 35 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นกลไกที่รัฐบาลออกแบบไว้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
อย่างไรก็ตาม กลไกดังกล่าวทำงานได้ไม่เต็มที่นัก เพราะรัฐบาลไทยเอื้อประโยชน์มหาศาลให้กับกลุ่มผู้มีรายได้สูง เช่น สัดส่วนการหักค่าใช้จ่ายต่อเงินได้ของกลุ่มธุรกิจและวิชาชีพเฉพาะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60 แบบไม่มีเพดาน ขณะที่มนุษย์เงินเดือนและเหล่าฟรีแลนซ์หักได้ไม่เกิน 100,000 บาทเท่านั้น
หรือสิทธิลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่มีลักษณะ ‘ถอยหลัง’ คือยิ่งคนมีรายได้มากเท่าไร ก็จะใช้ลดภาษีได้มากขึ้นเท่านั้น ทั้งการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) มาตรการอย่าง Easy E-Receipt ยังไม่นับว่ารายได้บางส่วนของคนรวยมาจากตลาดทุนซึ่งมีการยกเว้นภาษีบางส่วน
ผลการศึกษาพบว่ารัฐบาลสูญเสียรายได้ภาษีราว 8 เปอร์เซ็นต์ให้กับคนที่ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์จากมาตรการเหล่านั้น แต่หากขยายขอบเขตเป็นเหล่าคนรวย 5 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนรายได้ที่รัฐสูญเสียอาจสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
นอกจากนี้ ภาระภาษีที่เหล่าคนรวยต้องแบกรับส่วนมากจะเป็นภาษีทางตรง แต่ในขณะเดียวกันรายได้หลักของรัฐบาลคือภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภค แบบจำลองภาระภาษีโดย รศ.ดร.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์ พบว่าภาระภาษีเมื่อเทียบอัตราส่วนกับรายได้ของคนรวยหรือคนจนนั้นแทบไม่ต่างกัน โดยกลุ่มคนรายได้ต่ำจะต้องเสียภาษีราว 21 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ โดยหมดไปกับภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต ส่วนคนรายได้สูงจะเสียภาษีราว 26 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นภาษีทางตรง เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
บทความนี้เป็นความพยายามเล็กๆ ที่จะปะติดปะต่อภาพ ‘ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ’ ในสังคมไทยจากข้อมูลหลากหลายแหล่ง แน่นอนว่าย่อมมีความผิดพลาดและไม่ครบถ้วนอยู่บ้าง น่าเสียดายที่ผมรวยไม่พอจะบอกว่าข้อมูลทางสถิติข้างต้นฉายภาพให้อย่างครบถ้วนถูกต้องหรือไม่
สำหรับผู้อ่านคนไหนที่ติดโผร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ ก็ฝากแบ่งปันความเห็นหน่อยนะครับว่าชีวิต ‘คนรวยๆ’ ในประเทศไทยนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร
อ้างอิงจาก
โอกาส กับ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ