ทำงานดี ทำงานเก่ง ทำงานไว ไว้ใจพี่คนนี้ คนดีคนเดิมได้เลย พี่คนเก่งประจำออฟฟิศที่คิดงานไม่ออกบอกไม่ถูก พี่เขาก็สามารถหาทางออกให้เรื่องนี้ได้ แต่นอกจากความเก่งกาจในเนื้องาน ก็มีสกิลปากเกินร้อยที่เป็นซิกเนเจอร์ เลเยอร์คัสตอมของพี่เขาเหมือนกัน ทำเอาเพื่อนร่วมงานอกสั่นขวัญแขวนกันมานักต่อนัก หากวันหนึ่งจะต้องร่วมงานกัน สกิลงานน่ะไม่เท่าไหร่ เราจะเผชิญหน้ากับสกิลปากของพี่เขายังไงดีนะ
หลายออฟฟิศมักจะมีพี่คนนั้นเป็นของตัวเองกันทั้งนั้นแหละ คนที่ทำงานดีเลิศ ผลงานประจักษ์ไม่มีค้านสายตา ไม่มีใครตั้งคำถามกับความเก่งของเขาเลยแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่คนอยากถาม คงจะเป็นเรื่องสกิลปากมากกว่า ว่าทำไมกันนะ คนทำงานเก่งต้องปากไม่ค่อยดีแบบนี้ด้วย หรือนี่จะเป็นเคล็ดลับการทำงานอันเป็นเลิศ
แน่นอนว่าความเก่งของเขาน่ะ ไม่ใช่ปัญหาหรอก แต่ปัญหาคือ พอเก่งแล้วปากไม่ดีเนี่ย คนที่ทำงานด้วยมันก็ลำบากใจ อยากจะคุยเรื่องงานกันดีๆ ไม่ต้องพินอบพิเทาก็ได้ แค่ไม่อยากเจอคำผรุสวาทปะทะเข้าหน้า แล้วมาบอกว่านี่เป็นบุคลิกของพี่เอง โปรดช่วยมองข้ามไป มันก็อาจจะมองข้ามได้หากโดนแค่สะกิด แผลถลอก แต่หลายครั้งก็เหมือนโดนมีดจ้วงซ้ำๆ ทั้งคำด่า เสียดสี เหน็บแนม ขึ้นเสียง สารพัดสิ่งที่ไม่อยากได้ยินได้มารวมอยู่ที่พี่เขาหมดแล้ว
“อันนี้เอามือทำใช่มั้ย”
“คิดได้แค่นี้ไม่ต้องทำหรอก เสียเวลา”
“งานไม่แย่ แต่นึกว่าเด็กฝึกงานทำ”
แม้บางครั้งเรารู้ดีว่า พี่เขาไม่มีเจตนาร้ายอะไรหรอก แต่ด้วยวิธีการสื่อสารที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้ผลลัพธ์มันออกมาเจ็บจี๊ดถึงใจ อย่างนี้แล้วใครจะทำงานด้วยก็ต้องเตรียมใจมาไม่น้อยเลย แต่ในมุมหนึ่งการที่พี่เขาเป็นคนปากไม่ดีแบบนี้ แต่ผลงานเขาทำได้ดีไม่มีปัญหา นั่นแปลว่ามันไม่มีปัญหาหรือเปล่า เพียงแค่เราไม่ชอบใจในวิธีการพูดของเขาแค่นั้นใช่ไหม?
แม้จะไม่เกิดการปะทะกันตรงๆ แต่หากถามถึงความเบื่อหน่ายลึกๆ ในใจ ยังไงก็ต้องมีกันบ้าง ผลสำรวจจาก Kickresume บอกว่า พนักงานกว่า 85% รู้สึกเบื่อหน่ายเพื่อนร่วมงานของตัวเอง เรียกได้ว่าจิ้มมา 10 คน ก็เบื่อคนที่ต้องทำงานด้วยกันไปแล้วเกือบหมดตี้ และ 58% บอกว่า เพื่อนร่วมงานที่น่าเบื่อพวกนี้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประสิทธิภาพการทำงาน ดูเหมือนจะไม่ใช่แอบเบื่อ แอบนอย แต่ออกจะเบื่อจริง
นั่นเพราะการเข้าออฟฟิศมานั่งทำงานด้วยกัน แม้จะอยากตั้งตนเป็นเอกเทศ ไม่ปะทะกับใครขนาดไหน เราก็เลี่ยงปัญหาจากการทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้อยู่ดี งานวิจัยจาก Fear Factors: A 2024 Employee Survey Report on Workplace Violence, Harassment and Mental Health ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงในที่ทำงานที่ส่งผลกับสุขภาพใจ โดยรวมพูดถึงปัญหาสุขภาพใจในที่ทำงาน ว่าควรใส่ใจมากขึ้นนะ แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้คือ หลายคนรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเริ่มไม่น่าอยู่อีกต่อไป ต้นเหตุมาจากเรื่องเล็กๆ ที่หลายคนมองข้าม (แต่มันเกิดขึ้นอยู่เสมอ) อย่าง การอวดเบ่งเรื่องความเครียด ฉันเครียดกว่าอีก เธอจะเครียดอะไร การคุกคามบนไซเบอร์ รวมถึงความก้าวร้าวรุนแรง อะไรเหล่านี้คอยรุมทึ้งจิตใจพนักงานอยู่เสมอ
พี่ปากไม่ดีคนนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งในความก้าวร้าว รุนแรง ที่เกิดขึ้นในที่ทำงานเหมือนกัน หากไปปะทะแบบไม่ระวังก็อาจบาดเจ็บทางใจกลับมาได้ และจากงานวิจัยเดียวกัน เมื่อถามถึงวิธีการรับมือกับความก้าวร้าวรุนแรงในที่ทำงาน 11% อยากให้ตัวต้นเรื่องถูกไล่ออก เพื่อชดเชยกับผลของการกระทำ และอีก 5% อยากปะทะตอบกลับด้วยความรุนแรงในแบบเดียวกัน
ใจเย็นก่อน หายใจลึกๆ แล้วลองมาหาทางที่มันง่ายขึ้นกว่านี้หน่อย เมื่อเราเปลี่ยนงานไม่ได้ เปลี่ยนเขาไม่ได้ งั้นลองมาหาวิธีรับมือกับสกิลปากเกินร้อยของพี่คนนี้กัน หากเราต้องทำงานร่วมกับคนปากไม่ดี เราจะรับมือพี่เขายังไงได้บ้าง
- เข้าใจแต่ไม่เข้าไปแก้ไข บางครั้งเราก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนแบบนั้นเอง ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ เพราะไม่ชอบหน้าเราเป็นพิเศษหรอก เราอาจจะมองว่าเขาพูดไม่คิด หยาบคาย อะไรทำนองนั้นก็ได้ เพราะเขามักจะทำแบบนี้กับคนอื่นด้วยเสมอ หากเกิดขึ้นกับเราแค่คนเดียว โอเค สิ่งนี้เราสามารถตั้งธงได้แล้วว่า เกิดปัญหาขึ้นระหว่างเรากับเขาแล้ว แต่นี่พี่แกเล่นแจกสกิลปากไปทั่ว ใครทำงานด้วยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน หากเราเองก็ไม่ได้อยากเข้าปะทะ และไม่ได้ถือสาอะไร (แม้จะหงุดหงิดใจก็ตาม) การทำความเข้าใจ แต่ไม่เลือกจะเข้าไปแก้ไขนิสัยส่วนตัว ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่ปล่อยวางได้
- สะกิดเตือนให้รู้ว่าข้ามเส้น สำหรับใครที่ไม่อยากทนกับคนอย่างเธออีกต่อไป โดนมาแล้วนักต่อนัก ลองตอบโต้สกิลปากของเขาด้วยปากของเราเองนี่แหละ ไม่ใช่หวังผลให้ใครต้องแพ้หรือชนะ แต่เพื่อให้พี่คนนั้นรู้ตัวว่า คำพูดของเขากำลังข้ามเส้นความอดทนของเราแล้ว เช่น “ผมรู้ว่าพี่ไม่พอใจถึงได้พูดแบบนี้ งั้นเรามาหาทางออกอย่างใจเย็นขึ้นอีกนิดกันนะครับ” “หนูยอมรับว่างานนี้ยังไม่ดีพอจริงๆ แต่เราสามารถฟีดแบ็กกันดีกว่านี้ได้นะคะ”
เชื่อไหมว่า บางครั้งพี่ปากไม่ดีคนนั้น อาจทำพฤติกรรมนี้บ่อยเสียจนไม่สนใจแล้วว่าตอนนี้เขาข้ามเส้นหรือเปล่า เพราะปกติก็ไม่มีใครเถียง แต่ถ้าหากเรารู้สึกไม่สบายใจที่จะรับฟังอะไรเหล่านี้จริงๆ เราสามารถสะกิดเตือนเขาได้เช่นกัน โดยที่ยังคงยืนอยู่บนพื้นฐานของการทำงานนี่แหละ แต่เป็นวิธีที่ไม่ต้องเจ็บช้ำน้ำใจกันแค่นั้นเอง - แจ้งผู้บังคับบัญชาและฝ่ายทรัพยากรบุคคล หากวัฒนธรรมองค์กรของเราไม่ได้สนับสนุนให้ใครทำบรรยากาศการทำงานเละเทะได้ตามใจ (ซึ่งก็ไม่ควรสนับสนุนอยู่แล้ว) การแจ้งปัญหาความรุนแรงทางคำพูดที่ส่งผลกระทบต่อวงกว้างก็ไม่ถือว่าทำเกินไป เมื่อเรารู้แล้วว่าเราเองก็ไม่อยากปะทะ หรือมีอำนาจไม่มากพอที่จะจัดการด้วยตัวเอง งั้นก็ให้คนที่ทำได้เขาจัดการได้เลย สิ่งสำคัญ ควรแจ้งให้ชัดเจนว่านี่ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว แต่เป็นปัญหาที่เจอกันถ้วนหน้า
ชี้ทางออก แล้วลองมองทางเข้า หากเป็นในทางกลับกัน เรานี่แหละที่มักเผลอปากไม่ดีใส่คนอื่นอยู่เสมอ จากงานวิจัยเดิมเช่นกัน พนักงานกว่า 9% ยอมรับว่าตัวเองก็เผลอใช้ความรุนแรงในที่ทำงานเสียเอง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เราจะยับยั้งความปากไวของเราได้ยังไงบ้าง
- จดประเด็นก่อนพูด หากเห็นงานแล้วมันอารมณ์เสีย เลยเผลอคอมเมนต์ไปด้วยอารมณ์ที่ไหลไปตามกัน ยิ่งคอมเมนต์ก็ยิ่งมัวเมาในอารมณ์ จนกลายเป็นคอมเมนต์ครึ่งหนึ่ง ด่าครึ่งหนึ่ง งั้นก่อนจะปล่อยให้ตัวเองเป็นพี่ปากไม่ดีด่าไปเรื่อยจนกว่าจะพอใจ ลองจัดระเบียบความคิดตัวเองให้ถี่ถ้วน ว่าเราต้องการบอกอะไรอีกฝ่ายบ้าง ลิสต์มาไว้เป็นข้อๆ พร้อมเตือนใจตัวเองเสมอว่าเราจะสื่อสารออกไปแค่ในใจความนี้เท่านั้น เพื่อไม่ให้เราออกทะเลอารมณ์ไปไกลนั่นเอง
- บุคคลที่สามมาช่วยไกล่เกลี่ย หากรู้ตัวแล้วว่าสกิลปากมาแน่ ลองหาคนที่มีวาทศิลป์ (มากกว่าเรา) สักคน ที่เข้าใจในเนื้องานด้วย มาช่วยเปลี่ยนก้อนหินให้เป็นดอกไม้ และคอยเบรกเมื่อเรามีท่าทีจะแผลงฤทธิ์ แต่ก็ต้องทำใจไว้ด้วยว่า ยิ่งเกิดการเปรียบเทียบแบบนี้ อีกฝ่ายอาจจะเทคะแนนไปที่คนกลางมากกว่า หากไม่อยากดูแย่เข้าไปใหญ่ เราเองก็ต้องปรับอารมณ์ตัวเองลง เพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราก็อยากจะหมายความว่าแบบนี้แหละ แต่ปากมันไม่รักดีเฉยๆ
เมื่อการเป็นพี่ปากไม่ดีคนนั้นก็เป็นอีกหนึ่งในความก้าวร้าว รุนแรง ที่เกิดขึ้นในที่ทำงานเหมือนกัน จะบอกว่าต่อให้เป็นคนปากไม่ดี แต่งานดีก็ใช้ได้แล้วไหม เพราะเรามาทำงานนี่นา แต่หากมันสร้างความลำบากใจให้คนอื่น และอาจลามไปถึงบรรยากาศโดยรวมในออฟฟิศด้วย เราจะยังคิดว่ามันเป็นสิ่งที่พึงกระทำต่อเพื่อนร่วมงานอยู่อีกหรือเปล่า
แม้เราจะเปลี่ยนใครไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเองได้ อาจเป็นประโยคที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องยึดเอาไว้ในใจ แล้วถอยกันคนละก้าว เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น แทนที่จะต้องมาเสียอารมณ์เพราะมีดโกนอาบน้ำผึ้งอยู่อย่างนี้
อ้างอิงจาก