มองหน้าปุ๊บก็รู้ได้ทันทีว่า ฉันกับแกน่ะไปด้วยกันไม่ได้แน่นอน!
เคยไหม? เวลาเจอใครครั้งแรกแล้วรู้สึกไม่ถูกโฉลกกับคนคนนั้นเอาเสียเลย ทั้งที่เขายังไม่ทันทำอะไรให้เราไม่พอใจด้วยซ้ำ แต่ในหัวกลับตัดสินไปซะแล้วว่า คนนี้ไม่โอเค ไม่น่าคบค้าสมาคมด้วยอย่างแรง
หลายคนอาจเคยมีความรู้สึกไม่ถูกโฉลกกับใครสักคนตั้งแต่แรกเจอ แล้วพอมีใครถามถึงเหตุผลที่ไม่ชอบคนคนนั้น เรามักจะตอบว่า เพราะสัญชาตญาณเป็นคน หรือบางทีอาจไม่มีเหตุผลอะไรหรอก แค่ไม่ชอบเท่านั้นเอง แต่เชื่อไหมว่าเบื้องหลังของความรู้สึกเหล่านี้มีเหตุผลบางอย่างซ่อนอยู่
การตัดสินคนอื่นจากหน้าตามีที่มา
ถึงเราจะปฏิเสธว่าไม่มีเลย ไม่มีจริงจริ๊งงง ทว่าในทางจิตวิทยากลับมีคำอธิบายว่า ทำไมเราถึงรู้สึกไม่ชอบใครตั้งแต่แรกเจอได้ แม้จะไม่ทันได้รู้ข้อมูล หรือพูดคุยทำความรู้จักกับฝ่ายตรงข้ามอย่างจริงจัง
เวลาเราบอกว่าชอบหรือไม่ชอบสิ่งใด มันมักจะมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ หรือเหตุการณ์ที่เคยผ่านมาในอดีต เช่น ทุกวันนี้เราไม่ชอบกินผัก อาจเพราะเคยถูกบังคับให้กินผักอยู่บ่อยๆ อย่างไรก็ตาม อดีตล้วนส่งผลต่อความคิดในปัจจุบัน รวมถึงเรื่องของการชอบหรือไม่ชอบใครในครั้งแรกด้วย เราอาจมีสิ่งที่ไม่ชอบและเหตุการณ์บางอย่างซึ่งทำให้รู้สึกไม่ดี หลายครั้งเราจึงมักจะนำข้อมูลและประสบการณ์เหล่านั้นมาอนุมานและใช้เป็นตัวตัดสินคนตรงหน้า
หากจะบอกว่า ‘ความประทับใจแรก’ หรือ First Impression เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการตัดสินฝ่ายตรงข้าม คงจะไม่ผิดเท่าไหร่นัก เพราะงานศึกษาเกี่ยวกับความประทับใจแรกจากใบหน้า โดยเลสลี เอ เซโบรวิทซ์ (Leslie A Zebrowitz) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม จาก Brandeis University บอกว่า เมื่อพบเจอหรือเริ่มทำความรู้จักใครสักคน สิ่งแรกที่เราจะสามารถตัดสินได้อย่างรวดเร็วที่สุด คือ ใบหน้า ซึ่งมันจะนำพาไปสู่การตัดสินตัวตน หรืออุปนิสัยของฝ่ายตรงข้าม แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ได้แสดงออกให้เห็นผ่านหน้าตาก็ตาม
งานศึกษาดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า ส่วนหนึ่งของการตัดสินใครจากความประทับใจแรก มักเริ่มต้นขึ้นจากลักษณะทางกายภาพที่ถูกแสดงออกอยู่บนใบหน้า ตัวอย่างเช่น ผู้มีใบหน้าอ่อนเยาว์ (babyfacedness) มักทำให้คนอื่นมองว่า บุคคลเหล่านั้นไร้เดียงสา และดูน่าเชื่อถือ ส่วนผู้ที่มีโครงสร้างบนใบหน้าคมชัด หรือดูแข็งแรง อาจสื่อถึงความมั่นใจในตัวเอง อำนาจ ตลอดจนความเข้มแข็ง
นอกจากนี้ ประสบการณ์ในอดีตของเรา ยังมีผลต่อการตัดสินคนอื่นจากความประทับใจแรกด้วยเช่นกัน อย่างในกรณีของบางคนที่มีลักษณะใบหน้าคล้ายคลึงกับคนที่เราเคยมีประสบการณ์ไม่ดีร่วมในอดีต เราจึงมักจะรู้สึกถึงความไม่ประทับใจ และก่ออคติในใจไปล่วงหน้า ถึงแม้ว่าจะยังไม่ทันได้ทำความรู้จักอย่างจริงจัง
เลสลียังได้ยกตัวอย่างเพื่ออธิบายหลักคิดดังกล่าวไว้ในงานศึกษาของเธอ สำหรับการสร้างความชัดเจนในแนวคิดดังกล่าวมากขึ้น เช่น เราอาจเคยชินว่า คนที่มีลักษณะคิ้วต่ำมีโอกาสจะแสดงอารมณ์โกรธ หรือโมโหคนอื่นได้ง่ายกว่าคนคิ้วสูง ทำให้เมื่อเจอคนที่มีลักษณะใบหน้าเชื่อมโยงกับการรับรู้ในอดีต เราจะพยายามหลีกเลี่ยง ไม่เข้าไปทำความรู้จัก เพราะเราเชื่อไปแล้วว่าลักษณะใบหน้าแบบนี้อาจทำให้เรารู้สึกไม่ดีได้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเปรียบเสมือนกลไกในการปกป้องตัวเอง จากความเชื่อมโยงกับประสบการณ์ในอดีตนั่นเอง
ทำไมเราถึงพิจารณาหน้าตา?
ในแง่ของความเชื่อ เมื่อพูดถึงการตัดสินและคาดเดานิสัยใครสักคนจากใบหน้า แม้เพียงครั้งแรกก็ตอบได้เลยว่า คนนี้นิสัยดีน่าคบหา คนนี้เมื่อดูจากหน้าตา การตีตัวออกห่างคงจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ใช่แล้ว! เรากำลังพูดถึง ‘โหงวเฮ้ง’ (Physiognomic) หรือศาสตร์ที่ว่าด้วยการเชื่อมโยงพื้นฐานใบหน้ากับลักษณะนิสัย
โหงวเฮ้ง หรือนรลักษณ์ศาสตร์ เป็นศาสตร์เกี่ยวกับการนำเอาข้อมูลบนใบหน้ามาวิเคราะห์อุปนิสัยและลักษณะอารมณ์ของแต่ละบุคคล โดยคำว่า โหงว ในภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่า 5 ดังนั้น หากจะพิจารณาหน้าตาจะต้องดูทั้งหมด 5 ส่วน ได้แก่ หูซ้าย หูขวา หน้าผาก จมูก และปาก ตามความเชื่อเรื่องโหงวเฮ้ง อวัยวะเหล่านี้สามารถบ่งบอกได้ถึงอุปลักษนิสัยของแต่ละบุคคล อย่างใบหู ตามหลักของโหงวเฮ้งจะบ่งบอกถึงความเป็นมา ชาติตระกูล วัยเด็ก และความสุขุม เช่น คนมีหูอยู่ต่ำกว่าคิ้วจะเป็นผู้มีความคิดอ่านน้อย แต่มีทรัพย์สินมาก
ความเชื่อเรื่องโหงวเฮ้งจึงมีบางอย่างที่ความเชื่อมโยง และสอดคล้องกับงานศึกษาของเลสลี ในแง่ของการตัดสินใครสักคนผ่านการพิจารณาลักษณะทางกายภาพของแต่ละบุคคลจากการเจอกันครั้งแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ใบหน้ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพิจารณากันในครั้งแรก โดยอเล็กซานเดอร์ โทโดรอฟ (Alexander Todorov) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและหัวหน้าภาควิชาจิตวิทยา จาก Princeton University ก็ได้กล่าวว่า มนุษย์เกือบทุกคนมีการพัฒนาทางเครือข่าย และการเชื่อมโยงในสมองสำหรับการประมวลผลบนใบหน้าโดยเฉพาะ
โดยทดลองด้วยการติดกล้องไว้บนศีรษะของเด็กทารกอายุ 1-3 เดือน เพื่อเฝ้าสังเกต จนพบว่าเด็กเหล่านี้จะมองหน้าผู้เข้ามาอุ้มพวกเขาเป็นอันดับแรก เมื่ออายุได้ 4 เดือนขึ้นไป พวกเขาจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ดูแลผ่านการสบตาพร้อมทั้งจ้องหน้าพวกเขาไปด้วย สะท้อนให้เห็นว่าใบหน้ามีความสำคัญต่อพัฒนาการทางปัญญาและสังคมของเด็ก
นั่นนำมาสู่คำตอบว่า ทำไมเรามักจะพิจารณาหน้าตาผู้อื่นก่อนเสมอเมื่อเจอกันครั้งแรก? แถมบางครั้ง ความประทับใจแรกจากลักษณะภายนอก ดันมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในระดับสังคมด้วยเช่นกัน และงานวิจัยของเลสลีเองยังชี้ให้เห็นว่า หลายต่อหลายครั้ง การพิจารณาการจ้างงาน การตัดสินในชั้นศาล หรือการตัดสินความน่าเชื่อถือทางการเมือง ล้วนมีลักษณะใบหน้าเป็นตัวแปรในการตัดสินใจ ดังจะเห็นได้จากบริษัทบางแห่งที่คัดเลือกพนักงานเข้าทำงานตามหลักโหงวเฮ้ง เป็นต้น
หนีไม่พ้น ก็ต้องเผชิญหน้ากันอย่างมืออาชีพ
คงไม่เป็นไรหากเจอกับเขาคนนั้นแค่ครั้งเดียวแล้วดันรู้สึกไม่ถูกชะตาเมื่อแรกพบสบตา แต่ถ้าเราและเขาต้องร่วมงานกัน หรืออยู่ทีมเดียวกันขึ้นมา จะรับมือยังไงดี?
อาจเป็นเรื่องท้าทาย เมื่อเรามีอคติกับใครสักคนและมีความจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ Charlie Health องค์กรด้านสุขภาวะทางจิตของสหรัฐอเมริกา จึงได้เสนอวิธีน่าสนใจที่จะช่วยให้เรารับมือ และจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นได้อย่างมืออาชีพมากขึ้น ดังนี้
- ยอมรับกับตัวเอง – ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า เราไม่จำเป็นว่าต้องชอบทุกคน หรือทุกคนจะต้องชอบเรา ทุกคนต่างมีอคติเป็นของตัวเองเป็นเรื่องธรรมดา หากมองหน้าเขาคนนั้นแล้วรู้สึกไม่อยากคุยด้วย เราอาจลองควรทบทวนถึงสาเหตุ และยอมรับว่าบางทีเราอาจกำลังปล่อยให้ประสบการณ์ในอดีตมีอิทธิพลเหนือความคิดอยู่ เพราะถ้าเรายิ่งเข้าใจตัวเองดีเท่าไหร่ เราจะยิ่งพร้อมในก้าวต่อไปกับคนที่ไม่ชอบได้อย่างสบายใจมากขึ้น
- เปิดใจให้คนอื่น – สิ่งสำคัญระหว่างการร่วมงานกับคนที่ไม่ชอบคือ การมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) ถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเคารพซึ่งกันและกัน เพราะเราเองคงไม่อยากถูกปฏิบัติด้วยการไม่ให้เกียรติกันเช่นกัน ดังนั้น หากคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะต้องปฏิบัติกับเราแบบไหน เราก็ควรทำอย่างนั้นกับอีกฝ่ายเช่นกัน
- มองข้ามและหาจุดร่วมใหม่ๆ – เมื่อจำเป็นต้องร่วมงานกัน การถอนตัวออกเพียงเพราะอคติส่วนตัวคงไม่ดีเท่าไหร่นัก ถ้าปรับความคิด ลองมองข้ามอคติ และหาจุดร่วมระหว่างกันได้ อาจทำให้เราค้นพบว่า อีกฝ่ายมีอะไรน่าสนใจมากกว่าแค่ลักษณะภายนอกที่เราไม่ชอบได้ ยิ่งไปกว่านั้น มันยังช่วยเปลี่ยนจุดโฟกัสในความสัมพันธ์ ตลอดจนทำให้เราสามารถร่วมงานกับอีกฝ่ายได้อย่างมืออาชีพมากขึ้นด้วย
แม้บางครั้งเราจะรู้สึกไม่ชอบใครสักคนเพียงแค่แรกมองหน้า แต่การด่วนตัดสินใครด้วยรูปลักษณ์ภายนอกและอคติในใจ อาจทำให้เราพลาดมิตรภาพใหม่ๆ ในชีวิตไป เพราะยังไม่ทันลองพูดคุยหรือทำความรู้จักอีกฝ่ายก็ได้
อ้างอิงจาก