นับตั้งแต่กลุ่มตาลีบัน (Taliban) ขึ้นสู่อำนาจในปี 2021 กฎเกณฑ์มากมายที่ใช้ปกครองอัฟกานิสถานก็เปลี่ยนแปลงไป หนึ่งในนั้นคือกฎหมายที่ใช้ควบคุมชีวิต ‘ผู้หญิง’ โดยที่ผ่านมาผู้นำสูงสุด ไฮบาตุลเลาะห์ อัคคุนด์ซาดาห์ (Hibatullah Akhundzada) ได้อนุมัติกฎหมายใหม่ที่ ‘ห้ามไม่ให้ผู้หญิงพูด’ ในที่สาธารณะ
“เมื่อใดก็ตามที่ผู้หญิงต้องออกจากบ้านเพราะจำเป็น เธอจะต้องปกปิดเสียง ใบหน้า และร่างกายของเธอ” คือข้อความตามกฎหมาย ‘สิ่งเลวร้ายและคุณธรรม’ (vice and virtue) จากกระทรวงการส่งเสริมคุณธรรมและการป้องกันสิ่งเลวร้าย ซึ่งห้ามมิให้มีเสียงผู้หญิง ‘อ่านออกเสียง’ หรือ ‘ร้องเพลง’ แม้ว่าจะดังมาจากในบ้านตัวเองก็ตาม
นอกจากการห้ามไม่ให้ส่งเสียงในที่สาธารณะแล้ว กฎหมายสิ่งเลวร้ายและคุณธรรม ยังกำหนดการปฏิบัติตัวด้านอื่นๆ อย่างการแต่งกาย ที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องปกปิดใบหน้าส่วนล่าง และสวมผ้าคลุมศีรษะ พร้อมกับ ‘ห้ามมองผู้ชาย’ ที่ไม่ใช่สามีหรือญาติ ทั้งนี้สำหรับผู้ชาย กฎหมายดังกล่าวก็กำหนดให้ต้องปกปิดร่างกายตั้งแต่สะดือถึงเข่าเมื่ออยู่นอกบ้าน
ก่อนหน้าที่จะประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ อาจกล่าวได้ว่าประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิสตรี ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมา ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้เข้าเรียนในระดับมัธยมฯ ห้ามทำงานรับจ้างเกือบทุกประเภท ห้ามเดินเล่นในสวนสาธารณะ ห้ามไปยิมหรือร้านเสริมสวย และถูกสั่งให้ปฏิบัติตามกฎการแต่งกายที่เคร่งครัด
ไม่นานหลังจากการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ตามท้องถนนของอัฟกานิสถาน จะมีตำรวจศีลธรรม หรือ ‘โมฮ์ตาซะบีน’ ที่คอยตรวจตราผู้ที่ฝ่าฝืนกฎการแต่งกายตามที่สาธารณะ โดยผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามอาจถูกกักขังและลงโทษ ตามที่เจ้าหน้าที่ตาลีบันเห็นว่าเหมาะสม
“เรากลัวตอนลงจากรถ ตอนขึ้นรถเราก็กลัว เราไม่กล้าถอดผ้าคลุมหน้าออก เราไม่กล้าแม้แต่จะพูดคุยกันเอง กลัวว่าถ้ามีใครจากกลุ่มตาลีบันได้ยินเรา เราจะถูกสั่งให้หยุดเพื่อซักไซ้” ชาบานา (นามสมมุติ) บอกกับสำนักข่าวบีบีซี (BBC) พร้อมกับกล่าวว่าความว่างเปล่าเข้าครอบงำชีวิตเธอ ตั้งแต่ที่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองอัฟกานิสถาน
“ถ้าเราพูดไม่ได้ แล้วเราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร เราเหมือนร่างไร้ชีวิต ที่ขยับไปมาได้เท่านั้นเอง” เธอกล่าว
“ตามมุมมองทางกฎหมาย กฎหมายฉบับนี้มีปัญหาร้ายแรง” อับดุล วาฮิด ซาดัต (Mir Abdul Wahid Sadat) ประธานสมาคมทนายความอัฟกานิสถาน (Afghan Lawyers Association) ระบุว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อพันธกรณี ทั้งทางกฎหมายในประเทศ และระหว่างประเทศของอัฟกานิสถาน พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าข้อบังคับนี้ ขัดต่อหลักการพื้นฐานของศาสนาอิสลาม ซึ่งการส่งเสริมคุณธรรมจะไม่ถูกควบคุม โดยการใช้กำลัง การขู่บังคับ หรือการปกครองแบบทรราช
“เอกสารฉบับนี้ไม่เพียงแต่ละเมิดกฎหมายภายในประเทศของอัฟกานิสถานเท่านั้น แต่ยังฝ่าฝืนมาตราทั้ง 30 มาตราของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอีกด้วย” เขากล่าวเสริม
‘ข้อจำกัดที่ยอมรับไม่ได้’ ที่มีต่อสิทธิของสตรี คือข้อประณามที่ โรซา โอตุนบาเยวา (Roza Otunbayeva) ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ (The United Nations หรือ UN) ประจำอัฟกานิสถาน ระบุในแถลงการณ์เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งเลวร้ายและคุณธรรม พร้อมกับกล่าวว่า การที่ตำรวจศีลธรรมมีอำนาจในการคุกคามและควบคุมตัวใครก็ได้ โดยดุลยพินิจที่กว้างและคลุมเครือ เป็น ‘วิสัยทัศน์ที่น่าวิตกกังวล’ สำหรับอนาคตของอัฟกานิสถาน
อ้างอิงจาก