“การผ่าตัดแปลงเพศควรเป็นสวัสดิการรัฐ”
ประโยคดังกล่าวเป็นประเด็นเรื่องเพศที่ถกเถียงตลอดมาตั้งแต่ต้นในการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เนื่องจากมันคือข้อถกเถียงที่วางอยู่บนจุดตัดระหว่างเพศสภาพ เพศวิถี เพศกำเนิด สิทธิทางเพศ สิทธิมนุษยชน ฯลฯ เป็นเรื่องที่ในแง่มุมหนึ่งอาจไม่ต้องถกกันอีกต่อไปแล้ว แต่ระบอบซึ่งครอบเราทุกคนอยู่กลับปลูกฝังระบบคิดที่ทำให้เรายังต้องเถียงเรื่องนี้กันต่อไป ราวกับว่านี่คือปราการสุดท้ายของการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ โดยไม่กีดกันใครออกไป
ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องดังกล่าวเป็นปราการแรกที่หลายๆ ก้าวผ่านไปแล้ว เพื่อที่จะเดินต่อไปยังประเด็นอื่นๆ ที่มีปัญหาและต้องการแก้ไข
ข้อมูลจากไทม์ไลน์ข้างต้นมาจากรายงาน Countries supporting gender affirmation related procedures for transgender community members โดยองค์กรอิสระ Alliance India รวบรวมวิธีการที่ประเทศต่างๆ สนับสนุนการเปลี่ยนและยืนยันเพศสำหรับคนข้ามเพศ ซึ่งวาดภาพให้เราเห็นว่าการผ่าตัดนั้นเป็นเพียงหนึ่งในประเด็นที่ต้องพูดคุยเท่านั้น ไม่ใช่ประเด็นสุดท้าย
ตัวอย่างแรกคือ สวีเดน หนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่นับรวมการผ่าตัดแปลงเพศให้อยู่ในสวัสดิการรัฐตั้งแต่ปี 1960 แต่เมื่อเวลาผ่านไปในปี 2022 สวีเดนกลับเดินถอยหลังก้าวใหญ่ในประเด็นดังกล่าว โดยไม่อนุญาตให้ผู้เยาว์รับการบำบัดด้วยฮอร์โมนกับเหตุผลว่า “ความไม่แน่นอนในความรู้ต่อการเรียกร้องความระมัดระวัง” ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วย
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่เกิดการเรียกร้องเกี่ยวกับการผ่าตัดเปลี่ยนเพศคือ Gender Dysphoria หรือความทุกข์จากความไม่ลงรอยกันระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ กับเพศกำเนิด ในชุมชนคนข้ามเพศนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพูดถึง เนื่องจากภาวะดังกล่าวส่งผลเสียต่อคนหนึ่งคนได้หลากหลายแง่มุม เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และการตัดขาดจากสังคม ในงานวิจัยเกี่ยวข้องกับความต้องการจบชีวิตตัวเอง โดยมหาวิทยาลัยการแพทย์เบย์เลอร์ ฮิวสตัน สหรัฐอเมริกา พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอาการ Gender Dysphoria มีโอกาสที่จะมีความคิดจบชีวิตตัวเองลงสูงกว่าคนอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ
งานวิจัยชื่อ Gender identity development, expression and affirmation in youth who access gender affirming medical care โดยองค์กรนักวิชาการ แพทย์ และนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานศึกษา รวมทั้งให้ความรู้เพื่อสนับสนุนคนข้ามเพศในวัยเยาว์ Trans Youths CAN! จากประเทศแคนาดา บอกว่า Gender Dysphoria สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี ฉะนั้นการจะบอกว่าการแปลงเพศนั้นรอได้ อาจไม่เป็นจริงเสมอไป
ส่วนกรณีของอิหร่าน ประเทศที่ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติเดียวที่อนุญาตให้สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้ พร้อมทั้งภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในบางส่วน มองแวบแรกอาจดูก้าวหน้า แต่เมื่อมองไปในเชิงปฏิบัติพบว่ายังมีส่วนที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย ในขณะที่การผ่าตัดและการแปลงเพศนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ ทว่ากลับให้สิทธิทางกฎหมายตามเพศที่ต้องการเป็นในเฉพาะคนข้ามเพศจากการผ่าตัดเท่านั้น ซึ่งในโลกของเรา คนข้ามเพศไม่ใช่เพียงคนที่ผ่าตัดแล้วเท่านั้น
สิทธิทางกฎหมาย คืออีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เราต้องคำนึงถึงมากไปกว่าศัลยกรรม ตัวอย่างของผู้นำในแง่มุมนี้คือประเทศอาร์เจนตินาและเดนมาร์ก ซึ่งให้สิทธิทางกฎหมายแก่คนข้ามเพศที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการผ่าตัด และไม่จำเป็นต้องผ่านการได้รับการตรวจสอบทางจิตวิทยาใดๆ
การตีความเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น ในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ที่ตีความการผ่าตัดแปลงเพศเป็นเพียงการผ่าตัดอวัยวะเพศและการบำบัดโดยฮอร์โมน แต่การปรับรูปลักษณ์ของใบหน้าให้เหมือนเพศใดเพศหนึ่ง นับเป็นการผ่าตัดเพื่อความงาม ซึ่งหน้าตาเองในบางครั้งก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกถึงความเป็นเพศของคนคนหนึ่งได้เช่นกัน
ประเด็นสุดท้ายคือความสามารถต่อการเข้าถึงการแพทย์ ในประเทศออสเตรเลีย มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการแปลงเพศเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น และเนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรที่สามารถผ่าตัดได้ รวมถึงการแปลงเพศต้องทำผ่านโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น คนข้ามเพศจำนวนมากจึงมีราคาจ่ายที่สูงมากๆ หรือในบางกรณีที่มีประกันสุขภาพรองรับการผ่าตัดดังกล่าวก็ต้องไปผ่าตัดที่ต่างประเทศที่ราคาค่าทำถูกกว่า หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างประเทศที่อยู่ในรายงานข้างต้น ยังมีประเด็นอีกมากมายที่เราควรพูดคุยกัน และก้าวแรกที่เราต้องผ่านไปให้ได้นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสนทนาที่นำไปสู่ความเท่าเทียมที่แท้จริง
อ้างอิงจาก