นำเพลงของคนอื่นมา Cover และเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ หรือนำไปเล่นบนเวที ถ้าทำฟรี คงพอทำเนา แต่ถ้าเปิดรับรายได้ก็คงผิดกฎหมาย … จริงหรือเปล่า?
หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ในช่วงนี้ ก็คือเรื่อง ‘ลิขสิทธิ์’ เพลง โดยเฉพาะเมื่อปัจจุบันอยู่ในยุคที่มีคอนเทนต์ต่างๆ บนโลกออนไลน์เต็มไปหมด อย่างการดัดแปลงดนตรี นำเพลงต้นฉบับมาทำเป็นเวอร์ชันอคูสติก หรืออาจเป็นการดัดแปลงเนื้อเพลง โดยแปลจากภาษาหนึ่ง มาเป็นอีกภาษาหนึ่ง
ซึ่งทำให้เกิดคำถามที่ว่า การกระทำเหล่านี้ ที่ในบางแง่มุมอาจเป็นการช่วยศิลปินต้นฉบับโปรโมทเพลงให้ดังยิ่งขึ้น แต่ในทางกลับกัน ก็อาจเบียดบังผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่นนี้แล้ว มันถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายจริงหรือเปล่า?
The MATTER เคยได้พูดคุยกับ ธนากร ธรรมวัฒน์วิมล Head of Distribution ประจำ Believe Distribution Services ที่ดูแลลิขสิทธิ์ให้กับศิลปินมากมายในประเทศ โดยธนากรระบุว่า เพียงแค่เริ่มแต่งเพลง ก็ถือว่าผลงานนั้นมี ‘ลิขสิทธิ์’ แล้ว
ประกอบกับข้อมูลจากกองลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า ผลงานเพลง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเนื้อร้อง ทำนอง ดนตรี ถือเป็นงานลิขสิทธิ์ประเภท ‘ดนตรีกรรม’
ซึ่งการนำงานลิขสิทธิ์ไป ‘ทำซ้ำ ดัดแปลง’ เช่น นำเพลงไป Cover เป็นผลงานใหม่ขึ้นมา เช่น การนำไปบรรเลงดนตรีใหม่ หรือการร้องขึ้นใหม่ ก็จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน มิเช่นนั้นก็จะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ละเมิดลิขสิทธิ์ได้
ถ้าหากได้รับอนุญาตเรียบร้อยแล้ว ผลงานเพลงที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ก็จะเรียกว่า ‘สิ่งบันทึกเสียง’ โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง ก็ถือได้ว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานชิ้นนั้นที่ตนสร้างขึ้น ตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ทั้งนี้ จะต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์งานต้นฉบับเดิม
ซึ่งการจะบอกได้ว่า เป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเจ้าของเดิมหรือไม่ ก็อาจต้องดูจากข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้ หรือดูถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ที่รู้สึกว่าตนถูกละเมิดก็สามารถเข้าร้องเพื่อดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ความผิดในการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นความผิดที่เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเองเท่านั้น หากเจ้าของไม่เดือดร้อน ผู้อื่นก็ไม่สามารถแจ้งละเมิดแทนได้
ดังนั้น จึงจะได้เห็นว่าบนโลกออนไลน์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มที่ใช้ดูคลิปวิดีโอต่างๆ เช่น YouTube นั้นปรากฏเนื้อหา Cover เพลงจำนวนไม่น้อย ซึ่งก็อาจไม่สามารถบอกได้ว่าใครบ้างที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว และใครที่ยังไม่ได้รับการอนุญาต
หากเป็นอย่างหลัง ก็อาจเกิดจากการที่เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่เอาเรื่อง ก็อาจเนื่องจากมองว่าการ Cover เพลงนั้นๆ อาจไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายใดๆ ต่อศิลปินหรือผู้ผลิตผลงาน และยังเป็นการดีที่ได้ช่วยโปรโมทเพลง แต่ถ้าหากเริ่มมีการเปิดรับรายได้เกิดขึ้น เจ้าของลิขสิทธิ์ก็สามารถที่จะเข้าไปบล็อกเนื้อหา หรือส่งเรื่องให้แพลตฟอร์มโยกรายได้มาให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ได้
ในประเด็นนี้ ธนากร อธิบายเพิ่มเติมว่า หากเป็นการนำภาพและเสียงของชิ้นงานนั้นไปใช้ Cover เช่น ใช้ภาพจาก MV หรือใช้ดนตรี backing track รายได้ที่เกิดขึ้นจากผลงานดัดแปลง จะต้องกลัยมาสู่ศิลปินต้นฉบับทั้งหมด
แต่ถ้าหากไม่ได้ใช้ภาพและเสียง แต่อาจเป็นการนำเนื้อร้อง ทำนอง ไปใช้ เช่น อัดในส่วนของดนตรีขึ้นใหม่ การเก็บรายได้ก็จะเป็นการจัดเก็บในส่วนของเนื้อร้องและทำนองให้กับผู้ประพันธ์ แต่จะไม่ได้เก็บมาทั้งหมด 100% ที่เกิดรายได้ขึ้น
โดยสรุปอย่างเข้าใจง่าย การทำซ้ำ ดัดแปลงเพลงของผู้อื่น หากไม่ได้ขออนุญาตกับเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงก่อน ก็ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ‘ทุกกรณี’ ไม่ว่าจะเผยแพร่เล่นๆ ให้ดูฟรี หรือทำให้เกิดรายได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของลิขสิทธิ์ว่าจะดำเนินการเอาผิดหรือให้ชดใช้หรือไม่ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดในการจะทำผลงาน Cover หรือดัดแปลงใดๆ ควรขออนุญาตและดำเนินการก่อน เพื่อป้องกันการไปกระทบสิทธิของเจ้าของผลงานนั้นๆ นั่นเอง