การประเมินทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหม่ พบว่า ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 73% ใน 50 ปี และในบางภูมิภาคลดลงถึง 95% เนื่องจากมนุษย์ยังคงผลักดันระบบนิเวศให้เกือบล่มสลาย
จากรายงาน Living Planet ที่จัดทำขึ้นทุกสองปีของ WWF และ Zoological Society of London (ZSL) ระบุว่า ในละตินอเมริกาและแคริบเบียน ประชากรสัตว์ป่าลดลงเฉลี่ยสูงที่สุด โดยลดลงถึง 95%
ตามมาด้วยแอฟริกาที่ 76% เอเชียและแปซิฟิกที่ 60% ส่วนยุโรปและอเมริกาเหนือ อยู่ที่ 35% และ 39% ตามลำดับ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา หรือเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การสูญเสียอาจเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไปเนื่องจากภาวะโลกร้อนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดจากจุดเปลี่ยนแปลงในป่าฝนแอมะซอน ระบบนิเวศอาร์กติก และทางทะเล ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อธรรมชาติและสังคมมนุษย์ได้
แมทธิว กูลด์ (Matthew Gould) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ZSL กล่าวว่า รายงานนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า “เรากำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการสูญเสียธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างอันตราย แต่เรารู้ว่าธรรมชาติสามารถฟื้นตัวได้ และเรายังมีโอกาสที่จะดำเนินการ”
ดัชนี Living Planet นี้ ประกอบด้วยข้อมูลแนวโน้มประชากรเกือบ 35,000 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 5,495 สายพันธุ์ของนก ปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลานทั่วโลก และได้กลายเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดชั้นนำของสถานะทั่วโลกของประชากรสัตว์ป่า
อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวชี้วัดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจประเมินการลดลงของสัตว์ป่าเกินจริง เนื่องจากดัชนีนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากแอฟริกาและละตินอเมริกา ซึ่งมีสัตว์ป่าจำนวนลดลงมากก็จริง แต่มีข้อมูลเกี่ยวกับประชากรสัตว์ป่าที่เชื่อถือได้น้อยกว่ามาก ส่งผลให้ข้อมูลบนสุดของดัชนีทั่วโลกลดลงอย่างมาก แม้ว่าข้อมูลจากยุโรปและอเมริกาเหนือจะแสดงให้เห็นว่ามีการลดลงน้อยกว่านั้นก็ตาม
ฮันนาห์ วอโชป (Hannah Wauchope) อาจารย์ด้านนิเวศวิทยาที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวว่า “การถ่วงน้ำหนักดัชนี Living Planet ยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่จนกว่าเราจะมีการสุ่มตัวอย่างความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกอย่างเป็นระบบ ก็จำเป็นต้องมีการถ่วงน้ำหนักในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง สิ่งที่เรารู้ก็คือ เมื่อการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพอื่นๆ ยังคงดำเนินต่อไป ประชากรสัตว์ป่าก็จะยังคงลดลงต่อไป”
ถึงอย่างนั้น สถานการณ์ตอนนี้ก็ยังเรียกได้ว่าน่าเป็นห่วง ที่ผลกระทบของภาวะโลกร้อนนั้นแพร่ไปในวงกว้าง ตั้งแต่อากาศ สิ่งแวดล้อม รวมถึงสัตว์ป่าทั่วโลกที่ต้องลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ
อ้างอิงจาก