วันนี้ (21 ตุลาคม 2567) ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล พญาไท กทม. ได้มีการจัดเสวนา ‘ตากใบต้องไม่เงียบ’ โดยมีวิทยากรทั้งหมด 8 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.โคทม อารียา, อังคณา นีละไพจิตร, สุนัย ผาสุก, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ, อาเต็ฟ โซะโก, ชูเวช เดชดิษฐรักษ์, ฐปณีย์ เอียดศรีไชย และนารี เจริญผลพิริยะ ดำเนินรายการโดย ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ
งานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในปี 2547 และเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีก่อนที่จะหมดอายุความ
ศ.สุริชัย หวันแก้ว กล่าวเปิดงานว่า เวลาผ่านไปเร็วมากสำหรับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ตากใบ ถ้าดูตามข่าวเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง อาจกลายเป็นการหาผู้ร้าย สำหรับสังคมไทยจะต้องรับผิดชอบอนาคตร่วมกัน แม้หลายเรื่องยังคาราคาซัง
“ประเทศเราผ่านมา 20 ปีกับเหตุการณ์ตากใบ บริบทที่เราคุยกันวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความยุติธรรมตามกฎหมายที่ไม่ได้ดูแลกันอย่างจริงจัง ขณะที่การเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็เป็นความคาดหวังที่จะรับผิดชอบต่อคนรุ่นต่อไปด้วย” ศ.สุริชัยกล่าว
กิจกรรมต่อมา เป็นการฉายภาพยนตร์สั้นเรื่องตากใบ ครั้งแรก ซึ่งกำกับโดย ธีระวัฒน์ รุจินธรรม บอกเล่าเหตุการณ์ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ขณะควบคุมตัวประชาชนกว่าพันรายขึ้นรถบรรทุกจาก สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี
ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ที่มาของภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ เดิมทีตนเองได้รับทราบข่าวจากส่วนกลาง และรู้สึกสะเทือนใจตัวเลขผู้สูญเสียกับการขนย้ายคนในระยะทางกว่าร้อยกิโลเมตร และได้รับคำบอกเล่าจากคนที่รอดชีวิต ที่ไม่รู้เป็นรู้ตาย เขาปฏิบัติต่อคนโดยมองคนไม่ใช่คน จึงเป็นแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์ให้คนรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์ดังกล่าว
สุนัย ตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงเลือกพลเอกพิศาล ให้เป็น สส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้น และให้ตำแหน่งคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่ถูกชี้แจงในรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ตากใบ ทั้งยังเรียกร้องให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนผ่านความสัมพันธ์ทางการทูตแบบทวิภาคี แต่ถือเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา ซึ่งคงไม่ทันก่อนคดีหมดอายุความ
“คืนนี้มีการดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล จึงอยากให้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ ทำให้ความยุติธรรมมีหน้าตาที่จะต้องได้” สุนัยกล่าว
ด้าน สว.อังคณาเปิดเผยว่า เคยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงพูดกับตนเองว่าเคยเตือนแล้วว่าการย้ายผู้ชุมนุมเช่นนี้จะตายกันหมด การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมทั้ง78 คนที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จึงเป็นการเสียชีวิตที่ทรมานมาก หลายคนทุพพลภาพ กล้ามเนื้อตาย หรือเลือดเป็นกรด ตนเองจึงมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ใช่แค่การสลายการชุมนุม แต่เป็นการแก้แค้น และความเกลียดชัง
อังคณากล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความล้มเหลวของกระบวนการนิติธรรมของไทย ที่ผ่านมาครอบครัวผู้เสียชีวิตเรียกร้องความเป็นธรรมมาโดยตลอด ขณะที่ความผิดอาญาแผ่นดินเป็นหน้าที่ของอัยการที่ต้องฟ้องร้อง แต่เมื่อชาวบ้านเริ่มสิ้นหวังกับอัยการที่ไม่ฟ้องร้องเสียทีจึงต้องร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชน
“ดิฉันขอประณามการสร้างทัศนคติเชิงลบกับผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เกิดอคติกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อไรก็ตามที่ชาวบ้านมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐก็จะถูกตีตราว่า เป็นคนผิด” อังคณากล่าว
อังคณามองว่า รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ไม่มีความชอบธรรมที่จะระบุว่าไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็รู้สึกผิด ก่อให้เกิดกระบวนการเยียวยา ซึ่งตามหลักสากลไม่ใช่แค่การให้เงินอย่างเดียว แต่คือการคืนกลับสู่สภาพเดิม คืนศักดิ์ศรี การหยุดตีตราว่าคนเหล่านี้เป็นโจร ซึ่งไม่เคยเห็นความพยายามของรัฐในช่วงปีที่ผ่านมา แม้แต่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีก็พูดว่าลืมไปแล้วจำไม่ได้ ทำให้ผู้เสียชีวิตทั้ง 85 คนจากเหตุการณ์ตากใบกลายเป็นคนที่ไม่มีค่า
อังคณา ระบุว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงเช่นนี้ไม่ควรมีอายุความ อีกทั้งรัฐต้องปรับทัศนคติ ผิดต้องรับผิด ไม่ใช่ผิดแล้วไม่รับผิด โทษประชาชนโทษเหยื่อทำให้เหยื่อเป็นคนไม่ดี เป็นสิ่งที่น่าละอายใจ
ขณะที่ รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา กล่าวถึงจังหวัดชายแดนใต้นั้นมีประวัติศาสตร์บาดแผลเยอะ แต่กับเรื่อง ‘ตากใบ’ นั้นจะไม่มีวันถูกลืม
“ในจังหวัดชายแดนใต้มันมีประวัติศาสตร์บาดแผลเยอะ แต่กับเรื่องตากใบเราจะไม่ลืมแต่มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จากไม่ลืมและไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เป็นไม่ลืมแต่ขอโทษและยอมรับผิด เปลี่ยนจากประวัติศาสตร์บาดแผล เป็นประวัติศาสตร์ที่เราก้าวข้ามผ่านมันไปได้” รศ.ดร.โคทม กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล โดยขอให้จับกุมจำเลยในคดีศาลจังหวัดนราธิวาส มาดำเนินคดีก่อนหมดอายุความ และขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญแก่ความทรงจำและการคืนดีหลังโศกนาฏกรรมตากใบ
เนื้อหาในจดหมายระบุด้วยว่า การพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกรณีตากใบ ต้องพึงคำนึงถึงหลักการสำคัญ คือ 1) หลักสิทธิมนุษยชน, 2) หลักการใช้กำลังอย่างได้สัดส่วน, 3) หลักความจริงและการปรองดอง (Truth and reconciliation) และ 4) หลักการเยียวยาทางสังคม
และมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1) ขอให้นายกรัฐมนตรีกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนโดยเร่งด่วน และส่งตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลนราธิวาส ให้ทันในการประชุมคดี วันที่ 25 ตุลาคม 2567
2) ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามหมายศาล โดยกำชับไปยังพนักงานปกครอง ให้ดำเนินการจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนโดยเร่งด่วน และส่งตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลนราธิวาส ให้ทันในการประชุมคดี วันที่ 25 ตุลาคม 2567
3) ขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดำเนินการตามหมายศาล โดยกำชับไปยังสถานีตำรวจทุกแห่ง ให้ดำเนินการจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนโดยเร่งด่วน และส่งตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลนราธิวาส ให้ทันในการประชุมคดี วันที่ 25 ตุลาคม 2567
4) ขอให้คณะกรรมมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศึกษากรณีที่เกิดขึ้น และเสนอแนวทางสร้างสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง ในการแก้ไขปัญหาตากใบและปัญหาอื่น ๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
5) หากรัฐล้มเหลวในการนำตัวจำเลยขึ้นสู่ศาล ซึ่งจะเป็นตราบาปหนึ่ง แต่รัฐบาลยังสามารถดำเนินการต่อไปด้วยกลไกอื่นได้ เช่น
5.1) ขอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความจริง มีอำนาจหน้าที่คล้ายกับคณะกรรมการ Truth and Reconciliation ของแอฟริกาใต้ โดยสามารถเชิญจำเลยทั้ง 7 และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นอดีตข้าราชการ มาให้ “ความจริง” แก่คณะกรรมการฯ ว่าตนมีบทบาทอย่างไรในกรณีตากใบ ตนเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นบ้าง
หากยอมรับว่าตนได้กระทำความผิด ก็สามารถขอโทษและชดเชยต่อผู้ถูกกระทำหรือต่อญาติผู้ถูกกระทำได้ กรณีที่จำเลยผู้ใดไม่ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการอิสระฯ คณะกรรมการฯสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณางดเงินบำนาญหรือดำเนินการถอดยศจำเลยผู้นั้นได้
5.2) ขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้หน่วยราชการในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับญาติมิตรของผู้เสียชีวิตในกรณีตากใบ ในการจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นประจำทุกปี โดยอาจรวมถึงพิธีละหมาดฮายัดเพื่อขอพรและขอสันติสุข ทั้งนี้ โดยปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในการจัดหาสถานที่ และการจัดให้มีสัญลักษณ์ที่เหมาะสมด้วย