เคยเป็นไหม หลังจากวันทำงานอันแสนเหน็ดเหนื่อย มันช่างรู้สึกหงุดหงิดเหลือเกิน และอะไรๆ ก็ไม่ได้ดั่งใจไปหมด รู้หรือไม่ว่า จิตวิทยา อาจมีคำตอบให้กับเรื่องนี้ได้
บทความงานวิจัยใหม่เรื่อง Prolonged exertion of self-control causes increased sleep-like frontal brain activity and changes in aggressivity and punishment ซึ่งหมายถึง การควบคุมตนเองเป็นเวลานาน ทำให้สมองส่วนหน้าทำงานมากขึ้นในช่วงที่หลับ และเกิดการเปลี่ยนแปลงในความก้าวร้าวและการลงโทษ เพิ่งตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ PNAS เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2024
โดยงานวิจัยนี้ ได้ผลสรุปว่า เมื่อเราพยายามควบคุมตัวเองเป็นเวลานานๆ สมองส่วนที่ควบคุมการตัดสินใจและอารมณ์จะทำงานหนักเกินไปจนอ่อนล้า ทำให้เราควบคุมตัวเองได้ยากขึ้น และอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของเราที่มีต่อผู้อื่นได้ เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย ขาดความอดทน
นักวิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษานี้เชื่อมโยงกับทฤษฎี ‘การสูญเสียอัตตา’ (ego depletion) ซึ่งเป็นแนวคิดทางจิตวิทยา ที่ถกเถียงกันว่า ‘พลังใจ’ เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด และจะถูกใช้ไปโดยอาศัยความพยายาม
ในกระบวนการวิจัย Proceedings of the National Academy of Sciences Ordali ผู้วิจัย ได้ให้ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 44 คนทำกิจกรรมต่างๆ บนคอมพิวเตอร์เป็นเวลา 45 นาที เช่น ชมคลิปวิดีโอที่มีการกระตุ้นอารมณ์
ผู้เข้าร่วมครึ่งหนึ่ง ถูกขอให้ควบคุมตนเองระหว่างทำกิจกรรม เช่น จะต้องไม่แสดงอารมณ์ตอบสนองต่อวิดีโอ ในขณะที่ผู้เข้าร่วมอีกกลุ่มหนึ่งไม่จำเป็นต้องควบคุมตนเอง โดยทุกคนจะได้รับการสวมชุดหูฟังตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ซึ่งจะทำให้ผู้วิจัยสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงของสมองได้
จากผลการศึกษา ทีมวิจัยพบว่า ผู้เข้าร่วมในกลุ่มต้องควบคุมตนเอง มีคลื่นสมองเดลต้าเพิ่มขึ้นในบริเวณคอร์เทกซ์ส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและการควบคุมแรงกระตุ้น ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ต้องควบคุมตัวเอง ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในสมอง
เอริกา ออร์ดาลี (Erica Ordali) ผู้เขียนคนแรกของงานวิจัยนี้ กล่าวว่า คลื่นเดลต้ามักพบเห็นในช่วงหลับมากกว่าช่วงตื่น ดังนั้นนี่จึงบ่งชี้ได้ว่า ส่วนหนึ่งของสมองเกิดการ ‘ง่วงนอน’ ในผู้เข้าร่วมกลุ่มที่ต้องควบคุมตนเอง
จากนั้น ทีมวิจัยจึงขอให้ทั้งสองกลุ่มเล่นเกมต่างๆ เช่น เกม ‘เหยี่ยวกับนกพิราบ’ ซึ่งผู้เข้าร่วมต้องตัดสินใจว่าจะร่วมมือกันเพื่อแบ่งปันทรัพยากร หรือจะแสดงพฤติกรรมเป็นศัตรูเพื่อรักษาทรัพยากรไว้
ผลวิจัยเผยให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วม 86% ที่ไม่ต้องควบคุมตนเองในช่วงเริ่มงานวิจัย มีพฤติกรรมเหมือนนกพิราบ โดยมีส่วนร่วม ให้ความร่วมมืออย่างสันติ ในขณะที่ 41% ในผู้เข้าร่วมที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมตนเองในตอนแรก มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวเหมือนเหยี่ยว
จากนั้น ทีมงานได้แบ่งผู้เข้าร่วมอีก 403 คนออกเป็น 2 กลุ่ม และทำการศึกษาซ้ำอีกครั้ง แต่ไม่ได้บันทึกกิจกรรมทางสมอง ซึ่งก็พบได้จากการสังเกตว่า ผู้เข้าร่วมที่ต้องควบคุมตัวเองแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ไมเคิล อินซ์ลิชท์ (Michael Inzlicht) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้ เรียกร้องให้ใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากผลการทดสอบพฤติกรรมส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงผลกระทบที่สำคัญ และความเชื่อมโยงระหว่างสมองกับพฤติกรรมยังไม่ชัดเจน
“ผลลัพธ์เหล่านี้มีความน่าสนใจ และสอดคล้องกับมุมมองสามัญสำนึกเกี่ยวกับความเหนื่อยล้า […] แต่เมื่อพิจารณาถึงความขัดแย้งของผลการศึกษาในอดีต และข้อมูลที่มีจุดอ่อนนี้ ฉันจึงอยากดูว่าผลลัพธ์เหล่านี้สามารถทดลองซ้ำได้หรือไม่ก่อน” เขากล่าว
นักวิจัยที่มีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้ กล่าวเสริมเป็นคำแนะนำว่า ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า อาจเป็นการดีที่สุดที่จะพักหลังจากใช้สมองอย่างหนักมาทั้งวัน ก่อนที่จะไปทำกิจกรรมอื่นๆ
“หากคุณต้องการพูดคุยกับคู่รัก แต่กำลังรู้สึกว่าคุณเหนื่อยล้าทางจิตใจ ก็อย่าเพิ่งทำเลย” ออร์ดาลี ผู้เขียนคนแรกของการศึกษานี้จาก IMT School for Advanced Studies Lucca ในอิตาลีกล่าว “ค่อยๆ ใช้เวลา ค่อยไปทำในวันอื่น”
แม้อาจจะยังมีคำตอบที่ไม่ชัดเจนนัก และยังเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงและมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป แต่นี่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่น่าติดตามว่า สมองของมนุษย์อันแสนซับซ้อนนั้น มันอาจจะมีคำอธิบายให้หลายๆ พฤติกรรมของเรามากกว่าที่เราคิดก็ได้ และอาจเป็นโจทย์สำคัญสำหรับคนทำงาน ว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไรให้สุขภาพจิตใจยังเป็นไปอย่างปกติ
อ้างอิงจาก