เมื่อรัฐสภานิวซีแลนด์นำเสนอร่างกฎหมายใหม่ที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งเรื่องการตีความสนธิสัญญาก่อตั้งประเทศ และอาจกระทบสิทธิชาวเมารี สมาชิกรัฐสภาเชื้อสายเมารี จึงเริ่มเต้นตามพิธีกรรม ‘ฮากา’ เพื่อเรียกร้องสิทธิ จนทำให้การประชุมหยุดชะงักลง
ในการประชุมรัฐสภานิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2024 หลังจาก ฮานา-ราวิตี ไมปิ-คลาร์ก (Hana-Rawhiti Maipi-Clarke) สมาชิกรัฐสภาวัย 22 ปีจากพรรคฝ่ายค้าน ถูกถามว่าพรรคของเธอสนับสนุนร่างกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการตีความสิทธิชาวเมารีหรือไม่ เธอก็เริ่มทำ ‘ฮากา’ (Haka) ซึ่งเป็นพิธีกรรมการเต้นรำตามวัฒนธรรมเมารี พร้อมฉีกร่างกฎหมายทิ้ง และยังมีสมาชิกคนอื่นๆ บางคน รวมถึงผู้เข้าสังเกตการณ์ร่วมเต้นด้วย
ร่างกฎหมายนี้ เริ่มต้นขึ้นจากพรรค ACT ซึ่งเป็นพันธมิตรรองในรัฐบาล พรรควิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารระหว่างรัฐกับชาวเมารี โดยให้เหตุผลว่า พลเมืองที่ไม่ใช่ชนพื้นเมืองกำลังสูญเสียผลประโยชน์เนื่องจากนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับชาวเมารี
พวกเขากล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำให้สามารถตีความสนธิสัญญาไวตางี (Waitangi) ได้อย่างยุติธรรมมากขึ้นผ่านรัฐสภาแทนที่จะเป็นศาล โดยมี เดวิด ซีเมอร์ (David Seymour) เป็นหัวหน้าพรรค
ทั้งนี้ สนธิสัญญาไวตางี ถือเป็นข้อตกลงทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งในการก่อตั้งประเทศนิวซีแลนด์ ลงนามโดยผู้แทนของอังกฤษ และหัวหน้าชาวเมารีหลายคน ในปี 1840 และยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างชาวเมารีและชาวต่างชาติมาจนถึงปัจจุบัน
สนธิสัญญานี้ ยังทำให้เกิดข้อโต้แย้งต่างๆ เนื่องจากมีการเขียนขึ้นทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเมารี ซึ่งเป็นภาษาพูด และทั้งสองฉบับยังมีความแตกต่างกัน เช่น พื้นฐานในประเด็นต่างๆ อย่างเรื่องอำนาจอธิปไตย
ภายใต้ร่างกฎหมายที่เสนอใหม่โดยพรรค ACT จึงระบุถึงความเปลี่ยนแปลงในการตีความหลักสนธิสัญญา โดยเสนอให้รัฐบาลมีสิทธิในการปกครอง และรัฐสภามีสิทธิเต็มที่ในการตรากฎหมาย สิทธิของชาวเมารีได้รับการเคารพจากราชวงศ์ และทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมายและมีสิทธิได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย
อย่างไรก็ดี ศาลไวตางี (Waitangi) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 1975 เพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสนธิสัญญาไวตางี ระบุว่า ร่างกฎหมายนี้ มีเจตนาไม่ปรึกษาหารือกับชาวเมารี ละเมิดหลักการหุ้นส่วน ภาระผูกพันโดยสุจริตใจของราชวงศ์ และหน้าที่ของราชวงศ์ในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของชาวเมารีอย่างจริงจัง
ศาลไวตางีย้ำว่า หลักการของร่างกฎหมายนี้ ตีความสนธิสัญญาไวตางีผิดเพี้ยน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อชาวเมารี
ในเนื้อหาของร่างกฎหมาย ยังรวมไปถึงการปิดหน่วยงานด้านสุขภาพของชาวเมารี ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้รัฐบาลแรงงานของจาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) เพื่อช่วยสร้างความเท่าเทียมด้านสุขภาพ นอกจากนั้น ยังมีการจัดลำดับความสำคัญให้ภาษาอังกฤษอยู่เหนือภาษาเมารี เมื่อนำไปตั้งชื่อองค์กรของรัฐอย่างเป็นทางการ เป็นต้น
แม้ว่าประชากรของนิวซีแลนด์กว่า 18% จะถือว่าตนเองเป็นชาวเมารี แต่จากการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุด พบว่า เมื่อประเมินผ่านตัวชี้วัด เช่น ผลลัพธ์ด้านสุขภาพ รายได้ครัวเรือน ระดับการศึกษา อัตราการคุมขัง และอัตราการเสียชีวิต หลายคนยังคงด้อยโอกาสเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป และอายุขัยยังคงน้อยกว่าถึง 7 ปี จึงสะท้อนปัญหาที่หลายคนอาจพูดว่าเป็นความไม่เท่าเทียม
ด้วยเหตุนี้ ผู้คนหลายพันคนจึงเข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงเป็นเวลา 10 วันเพื่อคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว หรือเรียกว่าขบวนประท้วง ‘ฮิโคอิ’ (Hikoi) ซึ่งจัดโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนชาวเมารี โดยกำลังมุ่งหน้าไปยังกรุงเวลลิงตัน เมืองหลวง
ในด้านของนักวิจารณ์ยังกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะนำไปสู่การแบ่งแยกประเทศ และนำไปสู่การเลิกการสนับสนุนที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชาวเมารีจำนวนมาก
การเสนอร่างกฎหมายในวาระแรก ผ่านพ้นไปด้วยดีโดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองทั้งหมดจากพรรคร่วมรัฐบาล ถึงอย่างนั้น คนมองว่าร่างกฎหมายไม่น่าจะผ่านการลงคะแนนเสียงในวาระ 2
พรรคพันธมิตรในรัฐบาลผสม อย่างพรรค National Party และพรรค New Zealand First ระบุว่า จะสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้เพียงแค่ในวาระแรกจากทั้งหมด 3 วาระเท่านั้น และจะไม่สนับสนุนให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณา
นายกรัฐมนต รีคริสโตเฟอร์ ลักซอน (Christopher Luxon) ก็ยืนยันว่าพรรค National Party ของเขาจะไม่สนับสนุน และยังเรียกร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นการ ‘สร้างความแตกแยก’ อีกด้วย
อ้างอิงจาก