เมื่อวานนี้ (19 พฤศจิกายน 2024) หน่วยงานในออสเตรเลีย พบจำนวนปะการังฟอกขาว ‘สูงที่สุด’ เท่าที่เคยบันทึกไว้ ในหลายๆ บริเวณของแนวปะการังเกรทแบร์ริเออร์ (The Great Barrier Reef) โดยมีสาเหตุจากความร้อนและพายุ นำไปสู่ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม
The Great Barrier Reef นับเป็นแนวปะการังที่มีขนาดใหญ่ โดยทอดยาวออกไป ประมาณ 2,300 กิโลเมตร ตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ของออสเตรเลีย ทั้งนี้ถือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ของสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีปะการังหลายร้อยชนิด ปลามากกว่า 1,600 สายพันธุ์ ฉลามและปลากระเบน 133 สายพันธุ์ ปลาวาฬและปลาโลมา 30 สายพันธุ์ รวมถึงสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย
ข้อมูลล่าสุด จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลีย (Australian Institute of Marine Science หรือ AIMS) ซึ่งทำการสำรวจแนวปะการัง 19 แห่ง บริเวณระหว่างเกาะลิซาร์ด (Lizard Island) และเมืองคาร์ดเวลล์ (Cardwell) เปิดเผยว่า ได้พบปะการังตายสูงถึง 72 เปอร์เซ็นต์ บริเวณแนวปะการัง 12 แห่ง ซึ่งนับเป็นพื้นที่มากกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมด
ตั้งแต่ที่รัฐบาลออสเตรเลีย เริ่มสำรวจและติดตามการฟอกขาวใน The Great Barrier Reef ทุกๆ ปี ติดต่อกันมา 39 ปี AIMS ระบุว่า จำนวนปะการังที่สำรวจของปีนี้ ถือว่าได้ลดลง ‘มากที่สุด’
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ความเสียหายครั้งใหญ่นี้ เป็นผลจากพายุหมุนเขตร้อน Jasper และ Kirrily ช่วงฤดูร้อนของออสเตรเลีย โดย ดร.ไมค์ เอมสลี (Mike Emslie) หนึ่งในทีมของ AIMS “แนวปะการังทั้งหมด ที่เราสำรวจครั้งล่าสุด ในภูมิภาคควีนส์แลนด์ตอนเหนือ ต้องเผชิญกับภาวะเครียดจากความร้อน (heat stress) อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาว”
“ภาวะเครียดจากความร้อนเพิ่มสูงขึ้น อย่างชัดเจนในหลายพื้นที่ จนจำนวนตายที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ” เอมสลีกล่าว
เอมสลียังเสริมอีกว่า ฤดูร้อนที่ผ่านมาเป็น ‘เหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่ง’ สำหรับ The Great Barrier Reef โดยระดับความเครียดจากความร้อน สูงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา พร้อมกล่าวว่า “นี่คือผลกระทบร้ายแรง นี่ถือเป็นความสูญเสียร้ายแรง”
เมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น ปะการังจะขับสาหร่ายขนาดเล็ก ที่เรียกว่าซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ออกไป เพื่อความอยู่รอด จนเกิดภาวะปะการังฟอกขาว ซึ่งหากอุณหภูมิสูงยังคงอยู่ ปะการังอาจฟอกขาวอย่างกว้างขวาง จนตายในที่สุด
ด้านริชาร์ด เล็ค (Richard Leck) หรือหัวหน้าฝ่ายมหาสมุทร ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (The World Wide Fund for Nature หรือ WWF) ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่าผลการสำรวจครั้งนี้ ได้ยืนยัน ‘สิ่งที่เขากลัวที่สุด’ โดยระบุว่า “แม้ว่า The Great Barrier Reef สามารถฟื้นตัวได้ แต่ความสามารถในการฟื้นตัวของแนวปะการัง ก็มีขีดจำกัด”
เขาชี้ว่า เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ออสเตรเลียต้องมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ต่ำกว่าระดับของปี 2005 อย่างน้อย 90 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2035 พร้อมกับเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
อ้างอิงจาก