เมื่อน้ำท่วมภาคเหนือปีนี้ เป็นวาระใหญ่ของประเทศไทย แล้วมีใครสงสัยไหมว่า ฝนก็ตกอยู่ทุกปี แต่ทำไมปีนี้น้ำจึงท่วมหนักกว่าปีก่อนๆ
ตั้งแต่น้ำท่วมเชียงราย น่าน เชียงใหม่ (ที่ตอนนี้ก็ยังมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมรอบสอง) รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในภาคเหนือ จนถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ก็มีรายงานความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งบ้านเรือน ธุรกิจ จนถึงชีวิต ต่างได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจากน้ำท่วมครั้งใหญ่นี้กันถ้วนหน้า
ในด้านความเสียหายทางเศรษฐกิจ ข้อมูล ณ วันที่ 28 กันยายน 2567 หอการค้าไทยประเมินได้ราว 29,845 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 0.17% ของ GDP–แน่นอนว่าตัวเลขปัจจุบันอาจสูงกว่านั้นมาก อีกทั้งพื้นที่ที่ได้ผลกระทบจากน้ำท่วมสูงถึง 3 ล้านไร่ ทำให้ภาคการเกษตรได้รับความเสียหายมากที่สุด ตามด้วยภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม
ความเสียหายครั้งนี้ ทั้งรุนแรงและกว้างขวาง จนผู้ประสบภัยหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ตั้งแต่เกิดมา ไม่เกิดเจออะไรแบบนี้มาก่อน” อุทกภัยครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่เราควรมองข้าม ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจต้นตอของปัญหา พร้อมกับสำรวจแนวทางป้องกัน The MATTER มีโอกาสพูดคุยกับ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand)
ทำไมปีนี้ในพื้นที่ภาคเหนือ น้ำจึงท่วมหนักกว่าทุกปี?
‘ปรากฏการณ์ที่เป็น Extreme weather (สภาพอากาศสุดขั้ว)’ คือปัจจัยแรกที่ธาราชี้ให้เห็น พร้อมระบุว่าที่ผ่านมา แบบแผนการฝนตก ได้เปลี่ยนแปลงไป และแน่นอนว่าได้รับอิทธิพล จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ในระดับโลก
“ปริมาณน้ำฝนที่มันตกลงมา ณ ที่ใดที่หนึ่ง เรียกว่ามันผิดเพี้ยนไป มันผิดปกติไป”
ธาราอธิบายว่า ในกรณีของประเทศไทย ได้รับอิทธิพลจากมรสุมเขตร้อน ทั้งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดมาจากทะเลมหาสมุทรอินเดีย ทะเลอันดามัน ทั้งพายุหมุน อย่างไต้ฝุ่นที่แม้จะอ่อนกำลังลง จนกลายเป็นพายุดีเปรสชันเมื่อเข้าสู่เขตไทย แต่ก็ทำให้มีปริมาณน้ำฝน ‘มากกว่าปกติ’
แล้ว Climate change ทำให้ฝนตกมากขึ้นอย่างไร?
มหาสมุทรเป็นหนึ่งใน ‘ตัวซับความร้อน’ จากโลก ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงกว่าปกติ และกลายเป็น ‘ตัวเติมเชื้อเพลิง’ ให้กับ ความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อน
เพื่อให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น ธารายกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมาคือ พายุไต้ฝุ่นยางิ (YAGI) ที่แม้จะอ่อนกำลังลงไปแล้ว หลังจากผ่านประเทศฟิลิปปินส์ แต่เมื่อพายลูกนี้พัดผ่านทะเลจีนใต้ ซึ่งอยู่ระหว่างฟิลิปปินส์กับเวียดนาม พายุยางิก็ได้ทวีความรุนแรงขึ้น กลายเป็นพายุไต้ฝุ่นที่แรงขึ้น เนื่องจากเคลื่อนผ่านผิวทะเลที่มีอุณหภูมิสูง จนกลายเป็นหนึ่งในพายุไต้ฝุ่นที่ ‘รุนแรงที่สุด’ เท่าที่เวียดนามเคยเจอมา
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าใจกลางของพายุยางิจะไม่ได้เคลื่อนผ่านตรงๆ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากหางของพายุลูกนี้ไปด้วย โดยมีฝนตกมากกว่าปกติ รวมทั้งมีปริมาณน้ำที่ไหลมาจาก ‘รัฐฉาน’ ประเทศเมียนมา ลงมาทาง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งธารากล่าวว่า “กลายเป็นผลพวงที่เราได้มาจากพายุลูกนี้ ทั้งที่มันไม่ผ่านประเทศไทยตรงๆ” พร้อมย้ำว่า
“วิกฤตโลกเดือด มันจะเข้ามาซ้ำเติมความท้าทายในการจัดการมากขึ้น”
การขยายตัวของเมือง
อีกหนึ่งปัจจัยที่เสริมความรุนแรงของน้ำท่วมครั้งนี้คือ ‘การขยายตัวของเมือง’ โดยธาราชวนมองกรณี จ.เชียงใหม่ ที่มีการขยายออกไป ‘ตามแนวถนนวงแหวน’ หรือการพัฒนาถนนที่แบ่งเป็น 3 ชั้น รอบตัวเมือง ทำให้สามารถเดินทางเชื่อมกันได้ง่ายมากขึ้น ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ บ้านจัดสรร ห้าง ร้านค้า ที่ขยายออกไปสู่พื้นที่รอบนอกเรื่อยๆ
ธาราระบุว่าบริเวณวงแหวนรอบนอก เช่น อ.หางดงและสันป่าตอง เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงในหุบเขาเชียงใหม่ ซึ่งเดิมทีชาวบ้านจะใช้พื้นที่นี้ทำนา และมีระบบฝายอยู่แล้ว แต่เมื่อเมืองขยายตัวเข้ามา พื้นที่บางส่วนก็ถูกใช้ประโยชน์แบบอื่น ทำให้น้ำไหลลงสู่พื้นที่ต่ำกว่า และท่วมบ้านเรือนผู้คนได้
ดังนั้นความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากการขยายเมือง จึงเป็นการระบายน้ำของพื้นที่อยู่อาศัย บริเวณราบลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงน้ำท่วม
การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ในลำน้ำ
ผลกระทบจาก ‘การสร้างฝาย’ หรือประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำ ก็เป็นหนึ่งในข้อสังเกตจากธารา โดยเขามองว่า แม้มันจะช่วยทำให้แม่น้ำไม่แห้งในฤดูแล้ง แต่เมื่อแม่น้ำปิงล้นตลิ่ง กลับทำให้เกิดน้ำท่วมหนักขึ้น ซ้ำยังทำให้ขอบเขตน้ำท่วมกระจายออกไปมากขึ้น อีกทั้งยังมีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการบำรุงรักษาฝายกั้นน้ำ ที่หากดูแลไม่ดีพอ อาจมีประตูระบายที่ไม่สามารถใช้งานได้ในยามอุทกภัย
“การแนวคิดการสร้างฝาย หรือการทำประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำ มันเป็นแนวคิดที่ไม่ได้ตอบโจทย์กับยุคโลกเดือดอีกต่อไป”
ธาราบอกต่อว่า ถ้ามองไปดูตัวอย่างในยุโรป ก็จะเห็นว่าหลายประเทศได้เริ่มรื้อถอนฝายกั้นแม่น้ำ เพื่อให้ลำน้ำเล็กใหญ่สามารถไหลอย่างเป็นอิสระแล้ว โดยมี ‘ระบบธรรมชาติ’ หรือพืชน้ำตามตลิ่งคอยชะลอการไหลของน้ำ และช่วยอุ้มน้ำไว้ในช่วงฤดูแล้งได้ ซึ่งแนวทางเช่นนี้อาจ ‘ยั่งยืน’ มากกว่าการเน้นการสร้างฝาย ซึ่งเขาระบุว่าเป็นการ “ตอบโจทย์แคบๆ ว่ามันจะช่วยทำให้แม่น้ำปิงไม่แห้งในฤดูแล้ง”
การบุกรุกพื้นที่ป่าคือปัญหาหลักของน้ำท่วมครั้งนี้?
เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ได้ยินบ่อยๆ เมื่อถามธารา เขาตอบว่า “ทั้งใช่และไม่ใช่” โดยความเข้าใจว่าหากไม่มีต้นไม้บนภูเขาเป็นสาเหตุของน้ำท่วม “เป็นแนวคิดที่ตื้นไป” ทั้งนี้เขาย้ำว่าสมการของประเด็นนี้ ซับซ้อนมากกว่านั้น
“เราต้องรักษาระบบนิเวศที่มันเกื้อหนุนกันทั้งลุ่มน้ำเอาไว้ แล้วก็วางแผน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำ ให้มันเกื้อหนุนต่อกัน มันถึงจะช่วยป้องกันภัยพิบัติได้” ธารากล่าว
เขายกตัวอย่าง จ.เชียงราย ซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่ป่าอาจ ‘ไม่ได้ลดลง’ แต่ว่าพื้นที่เกษตรกรรม สำหรับปลูกข้าวโพดหรือเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐฉาน อาจพบว่าการเปลี่ยนพื้นที่ป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม “มันมหาศาลมาก” โดยแม่น้ำกกที่ท่วมเชียงราย ก็มีโคลนส่วนหนึ่งไหลมาจากรัฐฉาน
แล้วการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันเกี่ยวอะไรกับน้ำท่วม?
พูดง่ายๆ ก็คือดินในบริเวณเหล่านั้นอาจ ‘เสื่อมคุณภาพ’ เพราะมีการเปิดหน้าดิน เพื่อทำแปลงข้าวโพดและเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งการทำเกษตรตามฤดูกาล ทั้งฤดูเก็บเกี่ยว ทั้งฤดูกำจัดเศษวัชพืช ทั้งการเผาหน้าดิน ทั้งการใช้ปุ๋ย ซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อเนื่องหลายปี ก็ล้วนทำให้ดินเสื่อมคุณภาพได้ และเมื่อฝนตกรุนแรง หน้าดินก็ถูกชะล้างไปรวมในน้ำจนกลายเป็นโคลน ที่แม้จะไหลผ่านป่า ซึ่งสามารถซับน้ำได้ระดับหนึ่ง แต่ก็อาจไหลลงมาท่วมบ้านเรือนคนได้อยู่ดี ดังนั้นการมีป่าไม่ได้รับประกันว่าน้ำจะไม่ท่วม อ.แม่สาย อย่างไรก็ตามเขาย้ำว่าหากไม่มีป่า น้ำท่วมก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น
ธาราอธิบายว่า “เพราะฉะนั้น ถ้าพื้นที่ป่าทั้งหมดในรัฐฉานที่ติดกับแม่สายเนี่ย ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ น้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมแม่สายเนี่ย ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณฝน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ป่าอย่างเดียว” และกล่าวต่อว่า
“คือผมกำลังพูดบอกว่าเราจำเป็นต้องช่วยกันดูแลพื้นที่ป่า แต่ว่ามันไม่ได้หมายความว่า มันเป็นอัตโนมัติว่าพอมีป่าแล้วจะไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมแม่สาย”
ดังนั้นพื้นที่ป่าจึงไม่ใช่คำตอบเดียวของการป้องกันน้ำท่วม แต่เป็นทั้งหมดที่กล่าวมา ตั้งแต่สภาพอากาศสุดขั้ว การขยายเมือง จนถึงการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ในลำน้ำ โดยเขาระบุว่าปัจจัยเหล่านี้ “หนุนเสริมกัน”
ในเมื่อต่อจากนี้ ภาวะโลกเดือดอาจทำให้เราทุกคนต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วทางออกของวิกฤตยังมีอยู่ไหม?
เพื่อตอบคำถามนี้ ธาราชวนให้รู้จัก ‘กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย’ (Loss and Damage Fund) ที่ประเทศโลกใต้ (Global South) โดยเฉพาะหมู่เกาะขนาดเล็กในแปซิฟิก รวมตัวกัน ‘ระดมเงิน’ จากลุ่มประเทศโลกเหนือ (Global North) เพื่อให้ชดเชยหนี้นิเวศ (Ecological debt) ที่ Global North เคยก่อไว้
เขาเล่าว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น ซึ่งมีหลายประเทศขุดเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อใช้ขยายอุตสาหกรรม และสะสมความมั่งคั่งในประเทศ โดยนับตั้งแต่นั้นมา ส่วนแบ่งราว 70-80% ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อย ก็มาจากประเทศร่ำรวยใน Global North ในขณะที่ประเทศยากจนอื่นๆ ใน Global South รวมถึงประเทศไทย กลับมีส่วนน้อยมากในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
แต่เราต่างต้องรับผลกระทบจากภาวะโลกเดือดไปตามๆ กัน ซ้ำร้ายเหล่าประเทศ Global South ซึ่งมีทรัพยากรน้อยกว่า อาจได้รับผลกระทบ ‘มากกว่า’ เนื่องจากความสามารถในการรับมือน้อยกว่า กลายเป็นวิกฤตของ ‘ความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ’ (Climate injustice)
ดังนั้นกองทุน Loss and Damage จึงเป็นอีกหนึ่งกลไก ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) ที่ระดมเงินจาก Global North ผู้สะสมความมั่งคั่งจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีอำนาจในการเจรจา เพื่อชดเชยความสูญเสียต่อชีวิตหรือทรัพย์สิน ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปีจากภาวะโลกเดือด จนเกิดความยุติธรรม (มากขึ้น) ในที่สุด
“วิกฤตโลกเดือด มันกลายเป็นวิกฤตของความเป็นธรรม” ธารากล่าวย้ำ
ธาราย้ำว่า สำหรับประเทศไทย ในฐานะที่มีความเสี่ยงต่อภาวะโลกเดือดเป็นอันดับ 9 ของโลก จำเป็นต้องมี ‘จุดยืนที่ชัดเจน’ พร้อมด้วยเจตจำนงทางการเมือง (political will) ต่อการเข้าถึง กองทุน Loss and Damage เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ‘ในระยะยาว’ ต่อการรับมือวิกฤตโลกเดือด
นับเป็นทางออกที่ดี ต่อทั้ง ‘ต้นตอปัญหา’ และ ‘การเยียวยา’ สำหรับน้ำท่วมภาคเหนือที่ต้องอาศัยทรัพยากร ‘มหาศาล’ ในการฟื้นฟูความเสียหาย พร้อมกับปรับปรุงระบบจัดการน้ำท่วม
อ้างอิงจาก