‘การแพร่ระบาดที่มองไม่เห็น’ ผลสำรวจล่าสุด เผยว่าผู้หญิงถึง 1 ใน 3 คนในสหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทั้งทางร่างกาย ทางเพศ และทางจิตใจ และในจำนวนนั้น มีเพียง 13.9% เท่านั้นที่เคยแจ้งความกับตำรวจ อาจสะท้อนข้อกังวลด้านความปลอดภัย ความรู้สึกละอายใจ หรือความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่
“ผู้หญิงในสหภาพยุโรป 1 ใน 3 คนเคยประสบกับความรุนแรงที่บ้าน ที่ทำงาน หรือในที่สาธารณะ” หน่วยงานสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของสหภาพยุโรป (EU Agency for Fundamental Rights หรือ FRA) ระบุเมื่อวานนี้ (25 พฤศจิกายน 2024) พร้อมเผยแพร่ผลการสำรวจความรุนแรงทางเพศในสหภาพยุโรป ซึ่งจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2020 ถึง 2024
รายงานดังกล่าว เป็นการสำรวจผู้หญิงอายุระหว่าง 18 ถึง 74 ปี ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจำนวน 27 ประเทศ โดยครอบคลุมประสบการณ์ความรุนแรง ทั้งทางร่างกาย ทางเพศ และทางจิตใจ รวมถึงความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงจากผู้อื่น นอกจากนี้ยังรายงานเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานอีกด้วย
“ผู้หญิง 1 ใน 3 ถูกตบ ตี เตะ ข่มขืน หรือข่มขู่ด้วยความรุนแรงดังกล่าว” เซอร์ปา ราอูติโอ (Sirpa Rautio) ผู้อำนวยการ FRA กล่าว พร้อมบอกว่า “ความปลอดภัยของผู้หญิงในปี 2024 ยังคงไม่สามารถรับประกันได้ ในสหภาพยุโรป”
เธอยังเสริมว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้หญิงที่ประสบกับความรุนแรงทางเพศ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ‘แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย’ โดยระหว่างปี 2014 ถึง 2024 ผลสำรวจดังกล่าวลดลงน้อยกว่า 1% (31.4% เทียบกับ 30.7%)
ในการสำรวจครั้งนี้ พบจำนวนผู้หญิงที่เคยถูกทำร้ายร่างกาย คุกคาม หรือถูกทำร้ายทางเพศ ‘สูงที่สุด’ ในฟินแลนด์ (57%) สวีเดน (53%) และฮังการี (49%) ในขณะที่จำนวน ‘ต่ำที่สุด’ ในบัลแกเรีย (12%) และโปแลนด์ (17%)
“ความจริงที่น่ากังวลอย่างหนึ่ง คือผู้หญิงมักไม่แจ้งความ แม้พวกเธอพูดคุยกับคนรอบข้างที่พวกเธอรู้จัก แต่ไม่แจ้งความกับตำรวจ และก็ไม่ไปขอความช่วยเหลือ จากหน่วยงานต่างๆ” คริสติน เวิร์ตซ์ (Christine Wirtz) ผู้อำนวยการฝ่ายสถิติสังคมของ Eurostat กล่าว
ทั้งนี้การสำรวจพบว่า ผู้หญิงที่เข้าร่วมการสำรวจเกือบ 64% ระบุว่าตัวเองปรึกษาเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่ 1 ใน 5 คน เคยขอความช่วยเหลือ จากหน่วยงานด้านสุขภาพหรือสังคมสงเคราะห์ และมีเพียง 13.9% เท่านั้น ที่เคยแจ้งความกับตำรวจ
ราอูติโอเสริมว่า “การแจ้งการกระทำผิดที่ต่ำกว่าความเป็นจริงนี้ หมายความว่าในยุโรป เรามีการแพร่ระบาดของความรุนแรงที่มองไม่เห็น” ทั้งนี้สาเหตุที่หลายคนเลือกไม่แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ อาจรวมถึงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย ความรู้สึกละอายใจ หรือความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่
อีกทั้ง คาร์ลีน เชเล (Carlien Scheele) ผู้อำนวยการของสถาบันยุโรปเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ (European Institute for Gender Equality หรือ EIGE) ยังอธิบายการรายงานที่ต่ำนี้กับ ‘ความอับอาย และการตำหนิ’ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่าย หาแนวทางที่คำนึงถึงเหยื่อ (victim-centred) ซึ่งจะช่วยให้สตรีรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ในการออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง
อ้างอิงจาก