ข่าวเรื่องเด็กจบใหม่ไม่มีงานทำกลับมาอีกครั้ง โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ออกรายงานมาว่า คนไทยว่างงานเฉลี่ย 4.1 แสนคน ซึ่ง ‘เพิ่มขึ้น’ 3.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
ประเด็นที่น่าสนใจคือ สภาพัฒน์ฯ ระบุว่า ในจำนวนผู้ว่างงานนั้น มีกลุ่มคนที่ ‘ไม่เคยมีงานทำมาก่อน’ ซึ่งส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูงสุดในระดับอุดมศึกษา หรือปริญญาตรี ที่ราว 1.5 แสน อาจหมายความว่ามี ‘เด็กจบใหม่’ จำนวนมาก ที่กำลังว่างงานในขณะนี้
ภาวะเด็กจบใหม่ว่างงานจำนวนมากนี้ อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า “เด็กจบใหม่ในประเทศไทย ว่างงานเพราะอะไร”
ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute หรือ TDRI) กล่าวกับไทยพีบีเอสว่าแรงงาน 70 เปอร์เซ็นต์เลือกเรียน ‘สายสังคม’ ในขณะที่ 30 เปอร์เซ็นต์เรียน ‘สายวิทยาศาสตร์’ จนอาจขาดผู้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่
ทั้งนี้ไทยพีบีเอสรายงานว่า ผู้ที่เลือกเรียนสายสังคมส่วนใหญ่ เมื่อจบเรียนแล้วก็มักจะทำงานในภาคบริการ ที่เมื่อเวลาผ่านไปและร่างกายถดถอยตามอายุ อาจทำให้ ‘มูลค่าในตัวเอง’ ถดถอยตามไปเช่นกัน
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยมีรายงานฉบับหนึ่ง ที่กล่าวถึงปัญหาคุณสมบัติที่ไม่ตรงกันของแรงงานไทย (Qualification Mismatch) ซึ่งเกิดจาก “แรงงานมีระดับการศึกษาไม่ตรงกับระดับทักษะที่จำเป็นต่องานนั้นๆ” ทั้งนี้ระบุว่าบริษัทหลายแห่งขาดแรงงาน ที่มีทักษะทางเทคโนโลยี เช่น โปรแกรมเมอร์ หรือ Data Scientist ที่พบได้น้อยในประเทศไทย
ปัจจัยด้านธุรกิจปรับตัว โดยหันไปลงทุนในเทคโนโลยี-ดิจิทัล แทนการใช้คน
บทความดังกล่าวยังระบุอีกว่า ปัจจุบันตลาดแรงงานมีการแข่งขันเข้มข้นมากขึ้น ทำให้ธุรกิจหลายแห่งต้องปรับตัว ผลก็คือหลายบริษัท ‘ปรับลดจำนวนพนักงาน’ และหันมา ‘ใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน’ มากขึ้น เช่น งานเอกสารหรืองาน admin ที่หลายบริษัทใช้เทคโนโลยีช่วยจัดการ อีกทั้งยังให้พนักงานคนเดียว ทำงานหลายหน้าที่มากขึ้น
สาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงคำอธิบายส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เราเข้าใจว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีผลต่อคนรุ่นใหม่อย่างไร เมื่อทักษะที่เราเลือกเรียน ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานปัจจุบัน แล้วปัญหาการว่างงานจะแก้ไขได้อย่างไร คงต้องติดตามต่อไป
อ้างอิงจาก