เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนมีโอกาสไปเที่ยวน่านเป็นครั้งแรก ซึ่งตอนแรกที่จองโรงแรมไปก็นึกว่าห่างจากเชียงใหม่อย่างมากสัก 3-4 ชั่วโมงเพราะอยู่ภาคเหนือเหมือนกัน แต่พอใกล้มาวันเดินทางจริง กลับพบว่าต้องขับรถผ่านทั้งลำพูน ลำปาง แพร่ แล้วถึงจะเป็นน่าน แถมที่พักยังอยู่แถวบ่อเกลือซึ่งห่างจากตัวเมืองน่านไปอีกเป็นชั่วโมงกว่าๆ สิริรวมแล้วก็คือว่าขับรถจากเชียงใหม่ไปน่านเกือบ 7 ชั่วโมง พอๆ กับขับเชียงใหม่-กรุงเทพฯ เลยทีเดียว
จังหวะที่ขับรถไปก็นึกถึงเรื่องของรถยนต์ไร้คนขับขึ้นมา คิดในใจว่า ถ้ามีรถยนต์ไร้คนขับที่สามารถพาเราไปถึงโรงแรมได้เลยก็คงจะดีไม่น้อย คงได้นั่งเคลียร์งาน อ่านหนังสือ ประหนึ่งเหมือนตอนนั่งเครื่องบิน ซึ่งอันที่จริงจะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ก็คงต้องบอกว่าไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับมาหลายต่อหลายปี บริษัทอย่าง Waymo หรือ Cruise ก็ทำการทำทดสอบรถยนต์ไร้คนขับแบบ ‘เต็มรูปแบบ’ แล้วในบางพื้นที่ (Cruise is now testing fully driverless cars in San Francisco – The Verge) และเราเห็นแท็กซี่ไร้คนขับเริ่มรับ-ส่งลูกค้าแล้วบางแห่งในสหรัฐอเมริกา (techcrunch.com)
แต่ถ้าเกิดอยากจะเป็นเจ้าของรถยนต์ไร้คนขับแบบ ‘จริงๆ’ เหมือนในหนังไซไฟ ก็ต้องบอกว่า มันยังเป็นไปไม่ได้ (ครับ … ยังต้องขับ 7 ชั่วโมงไปน่านด้วยตัวเองอยู่) เพราะถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนามาไกลมาแค่ไหน สามารถหมุนพวงมาลัยและขับเร่งเครื่องเองได้บ้างแล้วในหลายๆ สถานการณ์ แต่รถยนต์ไร้คนขับก็ถือว่ายังไกลมากจากอนาคตที่เราจะสามารถทำแค่นั่งอยู่เบาะหลัง บอกรถยนต์ว่าจะไปไหน แล้วงีบหลับไปได้เลยอย่างสบายใจ
ความแตกต่างที่เราต้องเข้าใจก็คือ รถยนต์ไร้คนขับ (self-driving car) แบบที่เราไม่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเป็นรถที่ทำได้เองทุกอย่างนั้น ยังไม่มีวางขายในตลาด ไม่ว่าจะมาจากโรงงานไหนก็ตาม คุณอาจจะปล่อยมือจากพวงมาลัยได้บ้าง แต่ตาก็ต้องมองถนนและต้องโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าตลอดเวลา ยกตัวอย่างระบบ Super Cruise ของ GM ที่ชื่อว่า ‘Advanced Sriver Assistance Systems’ ที่เราสามารถปล่อยให้รถยนต์นั้นวิ่งไปด้วยตัวเอง บังคับหมุนพวกมาลัย และเร่งเครื่องเองได้ คนขับสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยในรถยนต์ที่มีระบบนี้ โดยใช้ได้บนถนนไฮเวย์บางสาย และทำงานร่วมกันระหว่างระบบ GPS, แผนที่แบบละเอียด, กล้อง, และเรดาห์ (Cadillac Super Cruise)
รถจะควบคุมความเร็วและหมุนพวงมาลัยให้ โดยที่คนขับสามารถนั่งเฉย ๆ ได้เลย อาจจะฟังดูใกล้เคียงกับในหนังไซไฟแล้ว แต่ยังติดอีกนิดหน่อย ทุกอย่างยังทำงานได้ไม่ 100% เช่นเมื่อเจอสถานการณ์ยากๆ อย่างการก่อสร้างถนนหรือบางส่วนของข้อมูลแผนที่ไม่ครบ รถจะรีบแจ้งเตือนให้คนขับที่ (ควร) ตื่นตัวและนั่งอยู่หลังพวงมาลัยในทันที โดยบางรุ่นก็จะสั่นเบาะ บางรุ่นก็จะกระพริบไฟสีแดงบนพวงมาลัย และคนขับก็จะต้องจัดการต่อไป
เพราะฉะนั้นเมื่อรถยนต์ไร้คนขับทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ คนขับก็ยังต้องใส่ใจ
“มนุษย์ต้องรับผิดชอบในการขับขี่เสมอ แม้ว่าคุณจะใช้งานระบบปล่อยมือก็ตาม” รอน อาร์นิเซน หัวหน้าฝ่ายวิศวกรของโปรแกรมการขับขี่อัตโนมัติและโปรแกรมความปลอดภัยเชิงรุกของ GM กล่าวเอาไว้ในเรื่องนี้
แต่แน่นอนว่า GM ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเชื่อใจคนขับรถที่นั่งหลังพวงมาลัยนี้ว่าจะมีความรับผิดชอบและใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เลยต้องใช้เทคโนโลยีบางอย่างเข้ามาช่วย นั่นก็คือการติดเซนเซอร์เอาไว้ที่ก้านของพวงมาลัยรถเพื่อติดตามสายตาของคนขับ (แม้จะใส่แว่นตากันแดดอยู่ก็ติดตามได้) ว่ามีเหม่อออกไปนอกหน้าต่างบ้างไหม ถ้ามีเหม่อลอยรถยนต์จะเตือนทันที ทั้งเสียง ทั้งสั่น ทั้งกระพริบ ถ้ายังไม่รู้ตัว มันจะตัดสินใจหยุดจอดข้างทางทันที
อาร์นิเซนบอกว่า GM ทราบดีว่าแม้รถยนต์ไร้คนขับจะมีความสามารถมากแค่ไหน แต่มันก็ไม่สามารถรับมือหรือตัดสินใจได้ดีในทุกสถานการณ์ “ถ้าคุณใส่ใจตลอดเวลา ก็สามารถควบคุมรถได้ภายในเสี้ยววินาทีถ้าจำเป็น”
แล้ว Tesla ที่โปรโมตตัวเองว่าเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ล่ะ? ระบบเทคโนโลยี ‘autopilot’ เป็นจุดขายที่ถูกพูดถึงตลอดสำหรับพวกเขา ซึ่งตอนนี้ Tesla ได้มีการปล่อยให้คนขับบางส่วนได้ทดสอบระบบซอฟต์แวร์ ‘Full Self-Driving’ ที่ทำให้รถยนต์ของ Tesla สามารถเคลื่อนตัวบนถนนทั่วไปได้เอง สามารถหักเลี้ยว หยุดเมื่อเจอสัญญาณไฟ ไปจนถึงตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดบนท้องถนนที่มาจากยานพาหนะคันอื่นหรือคนที่เดินบนท้องถนน
ซึ่งตามหลักการแล้วมันควรทำได้แบบนั้น ส่วนความจริงก็ยังดูค่อนข้างน่าเป็นห่วง
ตอนนี้สำหรับคนที่ได้ลองระบบของ Tesla ก็ยังต้องจับพวงมาลัยและตามองถนนอยู่ แม้จะเรียกตัวเองว่าเป็น full self-driving ก็ตามที
วิกทอเรีย สครักส์ หนึ่งในเจ้าของรถยนต์ Tesla และเป็นผู้ทดสอบระบบนี้บอกว่า “ฉันต้องเอาเท้าวางไว้ระหว่างเบรกกับคันเร่งอยู่แล้ว เพราะบางทีก็ไม่รู้เลยว่ามันจะทำอะไร” เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อ NPR (Why self-driving cars still require a lot of human supervision : NPR)
ในการทดลองขับรถยนต์ Tesla Model 3 ด้วยระบบนี้บางครั้งรถยนต์ก็ทำงานได้อย่างดีตอนอยู่ที่ทางแยก แต่บางครั้งมันก็งึกงัก หรือขยับแบบกระตุกๆ บางครั้งระบบก็ดับเองระหว่างทางแล้วให้เธอควบคุมรถแทน ซึ่งเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้เหวี่ยงพวงมาลัยเข้าเลนผิดหนักมากถึงขั้นเธอปวดข้อมือเลยทีเดียว เธอให้ความเห็นว่ามันสามารถขับเองได้ดีบนถนนไฮเวย์ ส่วนถนนในเมืองถ้าเป็นเส้นตรงก็โอเค “แต่เมื่อไหร่ที่มีเลี้ยวมีโค้งมาด้วย มันก็จะไม่ค่อยแน่ใจแล้ว”
สำหรับเธอแล้วซอฟต์แวร์ทำให้การขับขี่ในเมืองกลายเป็นการเพิ่มความเครียดไม่ใช่การผ่อนคลาย และการเป็นคนทดสอบแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเธอง่ายขึ้น เธอทำเพียงเพื่อช่วยบริษัทเก็บข้อมูลให้มากที่สุดเพื่อทำให้ระบบซอฟต์แวร์ดีขึ้นเท่านั้น แต่การปล่อยซอฟต์แวร์ให้มีการใช้บนถนนจริงๆ แบบนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ ได้เห็นว่ามันทำงานได้มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ส่วนข้อเสียก็แน่นอนนั่น คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายขั้นทั้งต่อสิ่งต่างๆ บนท้องถนนและชีวิตของคนอืนด้วย เพราะฉะนั้น ข่าวที่ Tesla ได้ปล่อยให้มีคนลองใช้ก็ถูกหยิบมาถกเถียงกันเป็นจำนวนมาก
ตามบทความของ The New York Times (Public Streets Are the Lab for Self-Driving Experiments – The New York Times) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.2021 บอกว่าการทดสอบของTesla ในระบบรถยนต์ไร้คนขับนั้นเป็นการเปลี่ยนถนนเป็นห้องแล็บของตัวเอง ชนมาแล้ว 12 ครั้ง เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บอีก 17 ราย บางครั้งไม่สามารถแยกแยะรถฉุกเฉินบนท้องถนนได้จนเกิดอุบัติเหตุ แม้จะมีการฟ้องร้องและข่าวเสียๆ หายๆ ตามมา พวกเขาก็ยังทดสอบต่อไป เพราะตามกฏหมายแล้วตราบใดที่มีคนขับนั่งอยู่หลังพวงมาลัยและพร้อมจะควบคุมรถยนต์ ก็ไม่มีกฏหมายข้อไหนที่ห้ามไม่ให้พวกเขามาทดสอบบนถนนจริงๆ (Inside a Fatal Tesla Autopilot Accident: ‘It Happened So Fast’ – The New York Times)
กลุ่มคนที่สนับสนุนเรื่องความปลอดภัยได้แสดงความกังวลว่าคนขับรถยนต์ Tesla นั้นพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปจนประมาท เพราะคิดว่าระบบนั้นจะทำงานได้อย่างเต็มที่มากกว่าที่มันเป็น การใช้คำว่า ‘autopilot’ และ ‘self-driving’ เพื่อโปรโมตก็เป็นการทำให้คนเข้าใจผิด และคิดว่าการทดสอบบนท้องถนนจริงๆ นั้นยังไม่ควรทำ
Tesla ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความสามารถของซอฟต์แวร์ที่กล่าวไว้เกินจริง ได้เขียนคำเตือนที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาสำหรับผู้ขับที่ทดสอบระบบ Full Self-Driving ว่า มันอาจทำ “สิ่งที่ผิดในเวลาที่เลวร้ายที่สุด” (The Wrong Thing at the Worst Time.) (‘The Wrong Thing at the Worst Time’: Tesla’s Full Self-Driving Disclaimer | Edmunds)
ถึงตอนนี้คงพอเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า สิ่งที่เราคาดหวังจากรถยนต์ไร้คนขับแบบที่สั่งงานให้ขับแล้วงีบหลับได้เลยนั้น ยังห่างไกลจากสิ่งที่มีอยู่ในตลาดอย่างมาก ถึงแม้ว่ารถยนต์จะทำงานไม่ได้ 100% แต่สถานการณ์ที่ระบบพวกนี้รับมือได้ก็ยังน่าทึ่งอยู่ไม่น้อย (เมื่อเทียบกับไม่กี่ปีก่อน) จากรายงานของเว็บไซต์ Consumer Reports บอกว่าตอนนี้รถยนต์รุ่นใหม่กว่า 50% เริ่มมีฟังก์ชั่นที่ขับรถแทนเราในบางสถานการณ์ได้แล้ว แม้ว่าจะทำทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบไม่ได้ แต่ถ้ามีระบบที่ช่วยแบ่งเบาการขับในช่วงที่ไม่ลำบากมากก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี (แม้จะยังต้องระวังอยู่ตลอด)
เทคโนโลยีของ GM, Tesla, หรือ Waymo ที่ล้ำหน้ากว่าคนอื่นๆ ในตลาดก็ช่วยทำให้การขับรถได้ง่ายขึ้นบนไฮเวย์ยาวๆ ทำให้เราเหนื่อยน้อยลง และมีบางกรณีที่ระบบเบรกอัตโนมัติทำงานเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ สิ่งฟังก์ชั่นและซอฟต์แวร์ล้วนเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสารในรถทั้งสิ้น
แต่ยังไงก็ตาม รถยนต์เหล่านี้ไม่ว่าเทคโนโลยีจะล้ำหน้าขนาดไหน
ก็ยังต้องการมนุษย์เพื่อคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยอยู่ดี
เคลลี ฟังก์เฮาเซอ หนึ่งในคนที่คอยทดสอบระบบอัตโนมัติของรถยนต์ให้กับ Consumer Reports บอกว่า ยิ่งรถยนต์เหล่านี้ฉลาดมากแค่ไหน มันยิ่งท้าทายต่อคนขับมากยิ่งขึ้นด้วย เธอบอกอีกว่าฟังก์ชั่นเหล่านี้ทำให้การขับรถนั้น ‘น่าเบื่อมากขึ้น’ และนั่นก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล
“ตามธรรมชาติของมนุษย์แล้วเรามักจะเริ่มเหม่อและหาอะไรที่น่าตื่นเต้นทำมากกว่าที่จะมองรถยนต์วิ่งไปข้างหน้าด้วยตัวเอง มันดูเหมือนการนั่งมองว่าสีที่ทาจะแห้งเมื่อไหร่ ประมาณนั้นเลย”
“นั่นคือสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเราเกี่ยวกับเรื่องนี้” เธอเล่า “ยิ่งมันทำงานได้เยอะขนาดไหน มันก็ยิ่งง่ายที่คนขับจะเริ่มไม่สนใจแล้วหาอย่างอื่นทำ”
อยากให้ลองนึกถึงตอนที่นั่งเรียนในห้องแล้วอาจารย์ก็ได้แต่พูดๆ ท่องๆ ไปเรื่อยๆ ตามหนังสือเรียน มันทำให้ง่วงมากขนาดไหน การนั่งในรถยนต์ไร้คนขับที่ทำทุกอย่างได้เกือบทั้งหมดก็คงชวนง่วงไม่แพ้กัน
ตอนนี้ถึงแม้ว่ารถยนต์ไร้คนขับจะไม่มาห่วงเรื่องการเมาหรืออาการหลับใน และ ‘พอจะ’ ขับเองบนถนนเส้นทางที่น่าเบื่อได้บ้าง หรือการขับรถไปน่านจะต้องใช้เวลากี่ชั่วโมงก็ตาม ในตอนนี้เราก็ไม่ควรละสายตาจากถนน และการแอบงีบหลับพักผ่อนอย่างที่เราคาดฝันก็ทำไม่ได้อยู่ดี
Illustration by Waragorn Keeranan