จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อการใช้โซเชียลมีเดียของเราไม่ได้จบลงเพียงแค่ในวินาทีที่วางโทรศัพท์ลงเท่านั้น แต่ทิ้งผลกระทบไว้ให้กับโลกนี้ ในรูปแบบของ ‘Carbon Footprint’ อีกด้วย
จากการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย พบว่า ปริมาณการปล่อยคาร์บอนของ TikTok ต่อปีในปีนี้อาจมากกว่าประเทศกรีซทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ โดยผู้ใช้โดยเฉลี่ยสร้างก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับการขับรถยนต์น้ำมันเบนซิน เป็นระยะทาง 123 ไมล์ต่อปี
ตามผลการวิจัยจาก Greenly ที่ปรึกษาด้านบัญชีคาร์บอนที่ตั้งอยู่ในปารีส ระบุว่า TikTok มีผู้ใช้ทั่วโลก 1 พันล้านคน และปริมาณการปล่อยคาร์บอนของ TikTok ก็สูงกว่า Instagram เพียงเล็กน้อย ทั้งๆ ที่ Instagram มีฐานผู้ใช้มากกว่า TikTok เกือบ 2 เท่า
เหตุผลเบื้องหลัง คาดว่ามาจากรูปแบบของ TikTok ที่ทำให้ผู้ใช้ถึงกับติดงอมแงม โดยถ้าเปรียบเทียบผู้ใช้ Instagram โดยเฉลี่ยใช้เวลา 30.6 นาทีบนแอปต่อวัน ในขณะที่ผู้ใช้ TikTok โดยเฉลี่ยใช้เวลา 45.5 นาทีในการเลื่อนดูแอปต่อวัน ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนมากยิ่งขึ้น แปรผันตามอาการ ‘เสพติด’ ที่มากขึ้นนี้
Carbon Footprint รวมของแพลตฟอร์มนี้ คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านเมตริกตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) และข้อมูลนี้ยังไม่ได้รวมถึงแหล่งที่มาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ TikTok เช่น การปล่อยก๊าซในสำนักงานใหญ่ ตัวเลขนี้ จึงยังถือว่าอาจจะยังเป็นการประเมินที่ต่ำเกินไปอยู่ดี
เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น ตัวเลขใกล้เคียงกันอย่าง ประเทศกรีซ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดต่อปีประมาณ 51.67 ล้านเมตริกตัน และหากเปรียบเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยเฉลี่ยแล้ว 1 นาทีบน TikTok จะเผาผลาญ CO2e ได้ 2.921 กรัม ในขณะที่ 1 นาทีบน YouTube จะเผาผลาญได้ 2.923 กรัม ส่วน 1 นาทีบน Instagram จะเผาผลาญได้ 2.912 กรัม หรือกล่าวได้ว่า TikTok เป็นรองเพียง YouTube เท่านั้น
แต่เมื่อเฉลี่ยค่าต่างๆ ปรากฏว่า ผู้ใช้ TikTok ได้ปล่อย CO2e ต่อปีสูงสุด จากการวิเคราะห์ของ Greenly ผู้ใช้ TikTok โดยเฉลี่ยจะเผาผลาญ CO2e บนแอปที่ 48.49 กิโลกรัมใน 1 ปี อันดับที่ 2 คือ YouTube ซึ่งผู้ใช้โดยเฉลี่ยจะเผาผลาญ CO2e ได้ 40.17 กิโลกรัม ส่วนผู้ใช้ Instagram จะเผาผลาญไปเพียง 32.52 กิโลกรัม
หรือถ้าจะเปรียบเทียบกับพลังงานที่ใช้ในการขับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน TikTok จะเทียบเท่าการขับรถ 123 ไมล์ YouTube เทียบเท่าการขับรถ 102 ไมล์ และ Instagram เทียบเท่ากับการขับรถ 82.8 ไมล์
แม้จะมีข้อมูลชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่า TikTok ปล่อยคาร์บอนสูง แต่แพลตฟอร์มยังคงไม่เปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษของตน ขณะที่แพลตฟอร์มอย่าง Meta และ Google ได้แพร่รายงานการปล่อยมลพิษโดยละเอียดเป็นประจำ
การขาดความโปร่งใสนี้ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงแนวทางของแอปในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
TikTok เคยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 โดยมีแผน ‘Project Clover’ แต่จนถึงปัจจุบัน กลับมีการสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) พลังงานหมุนเวียนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีมูลค่า 12,000 ล้านยูโร ที่ตั้งอยู่ในนอร์เวย์ โดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100%
ขณะนี้จึงยังไม่ชัดเจนว่าคำมั่นสัญญานี้จะยังคงเกิดขึ้นจริงไหม เพราะในช่วงที่ผ่านมา TikTok ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนในหลายๆ ทาง อย่างการอาจจะต้อง ‘เปลี่ยนเจ้าของใหม่’
โดยศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ได้ยืนยันว่าบริษัท ByteDance ของจีน หรือเจ้าของ TikTok จะต้องขายแพลตฟอร์มให้กับนิติบุคคลที่ไม่ใช่ของจีนภายในวันที่ 19 มกราคม 2025 แต่อะไรๆ ก็ยิ่งดูไม่แน่นอนขึ้นไปอีก เมื่อสหรัฐอเมริกากำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่มือของรัฐบาลใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์
สถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากโซเชียลมีเดีย จึงเป็นสิ่งที่น่าติดตามว่าแต่ละแพลตฟอร์มจะมีการจัดการอย่างไร ที่ทำให้ชาวโลกมั่นใจได้ว่าจะเกิดผลกระทบต่อโลกให้ได้น้อยที่สุดจริงๆ
อ้างอิงจาก