‘สมาธิสั้น ซุกซน ควบคุมตัวเองไม่ได้ เรียนไม่รู้เรื่อง ทำงานไม่เสร็จ ความสัมพันธ์ก็ไปไม่รอด’ … เฮ้ย นี่เราเป็นหมดเลยนี่หว่า! แถมชาวเน็ตบอกว่าอาการเหล่านี้อาจเข้าข่ายการเป็นโรค ADHD อย่างนี้แปลว่าเราเป็นใช่ไหมเนี่ย?
ADHD หรือโรคที่คนไทยมักจะรู้จักในชื่อ ‘สมาธิสั้น’ มักถูกใช้อธิบายอาการในเด็กที่อยู่ไม่ติดที่ หรือบางทีก็ใช้คำว่าสมาธิสั้นกับอาการของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่อดทนทำอะไรนานๆ ไม่ได้ ก็สิ่งเร้ารอบตัวมันยั่วยวนไปหมดเลยนี่ แล้วจะไปทำงานเสร็จได้ยังไง?
จนกระทั่งปลายเดือนพฤศจิกายน บนโลกโซเชียลมีเดียได้เกิดการบอกเล่าประสบการณ์จากคนจำนวนหนึ่ง ว่า ADHD อาจไม่ใช่เพียงสมาธิสั้นเท่านั้น แต่เป็นความผิดปกติทางระบบประสาท ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตประจำวันและการทำงาน โดยอาจสะท้อนผ่านอาการเล็กๆ น้อยๆ อย่างอาการ ‘ขี้เกียจ’ ‘ไม่ยอมลุกไปกินข้าว’ หรือ ‘ไม่ชอบเข้าสังคม’
แล้วอย่างนี้เราจะรู้ได้ยังไงล่ะ ว่าเราแค่กำลังเผชิญกับช่วงชีวิตที่ขี้เกียจไปบ้าง จัดการปัญหาไม่ค่อยได้ไปหน่อย หรือเราเป็น ADHD จริงๆ?
The MATTER จึงได้ไปพูดคุยกับ ศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ กุมารแพทย์สาขาพัฒนาการและพฤติกรรม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อทำความเข้าใจ ADHD ให้ถูกต้อง
ADHD ไม่ใช่แค่สมาธิสั้น … อาการแบบไหน เข้าข่ายเป็น ADHD
ศ.นพ.วีระศักดิ์ อธิบายว่า ADHD เป็นโรคความบกพร่องของการพัฒนาระบบประสาท (Neurodevelopmental disorder) ซึ่งการจะบอกได้ว่าเป็นหรือไม่เป็น จะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์
หากจะให้อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ อาจเปรียบเทียบได้กับสนามบินใหญ่ๆ ที่ต้องมีการจัดการบริหารหลายอย่างให้ดำเนินไปได้ด้วยดี ทั้งต้องจัดคิวการขึ้นลงของเครื่องบินไม่ให้ชนกันได้
เช่นเดียวกันกับชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน ที่เรามีหลายอย่างต้องจัดการให้เรียบร้อย กล่าวคือ สมองของคนเราก็อาจทำงานในลักษณะคล้ายกัน สำหรับบางคน ทั้งเรียนหนังสือ ทำงาน หรือมีสิ่งต่างๆ ต้องจัดการในชีวิตประจำวัน ก็สามารถจัดการได้อย่างดี แล้วเพราะอะไรล่ะ คนบางส่วนถึงจัดการมันไม่ค่อยได้เลย?
การต้องจัดการหลายๆ อย่างพร้อมกัน หรือ Multitasking เป็นลักษณะที่สมาธิของคนเราจะถูกสับเปลี่ยนจากเรื่องหนึ่ง ไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง เพราะระหว่างทางอาจมีความคิดเข้ามาในสมองจำนวนมาก แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาจดจ่อ (focus) กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งและทำต่อเนื่องจนเสร็จ
แต่คนที่เป็น ADHD จะไม่สามารถตัดสิ่งเร้าที่ไม่จำเป็น (Irrelevant Stimuli) ออกไปได้ เช่น นั่งเรียนอยู่ในห้องเรียน สิ่งที่สำคัญคือจะต้องจดจ่อกับสิ่งที่ครูสอน แต่หากมีสิ่งเร้าอย่างเพื่อนทำยางลบหล่น ข้างนอกห้องมีเสียงก่อสร้าง มีเสียงหมาเห่า ก็จะไปสนใจสิ่งเร้าเหล่านั้นแทน ทำให้เกิดปัญหาไม่เข้าใจเนื้อหาการเรียน ไม่สามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดย ADHD ยังมีการแบ่งลักษณะอาการแยกย่อย เป็นอาการสมาธิสั้น (Inattention) และ อาการซน หุนหันพลันแล่น (Hyperactivity-impulsivity)
เกณฑ์การวินิจฉัยอาการสมาธิสั้น (Inattention) มีทั้งหมด 9 ข้อ ได้แก่
- มักจะไม่ใส่ใจรายละเอียดหรือทำผิดพลาดง่ายๆ ในการเรียน การทำงาน หรือกิจกรรมอื่นๆ
- มักจะไม่สามารถจดจ่อกับงานหรือกิจกรรมการเล่นได้
- มักจะดูเหมือนไม่ฟัง เมื่อถูกพูดคุยด้วยโดยตรง
- มักจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และไม่สามารถทำงาน การบ้าน หรือหน้าที่ในที่ทำงานให้เสร็จสิ้นได้ (เช่น ขาดสมาธิ ถูกเบี่ยงเบนความสนใจ)
- มักจะมีปัญหาในการจัดการงานและกิจกรรมต่างๆ
- มักจะหลีกเลี่ยง ไม่ชอบ หรือไม่เต็มใจทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายามทางจิตใจเป็นเวลานาน (เช่น การเรียน หรือการทำการบ้าน)
- มักจะทำสิ่งของที่จำเป็นสำหรับงานและกิจกรรมต่างๆ หาย (เช่น อุปกรณ์การเรียน ดินสอ หนังสือ เครื่องมือ กระเป๋าเงิน กุญแจ เอกสาร แว่นตา โทรศัพท์มือถือ)
- มักจะใจลอยง่าย
- มักจะหลงลืมในกิจวัตรประจำวัน
และเกณฑ์การวินิจฉัยอาการซน หุนหันพลันแล่น (Hyperactivity-impulsivity) มีทั้งหมด 9 ข้อ ได้แก่
- มักจะอยู่ไม่สุข เคาะมือหรือเท้า หรือนั่งกระวนกระวาย
- มักจะลุกจากที่นั่ง ในสถานการณ์ที่ควรนั่งอยู่
- มักจะวิ่งไปมาหรือปีนป่ายในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม (สำหรับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ อาจแค่รู้สึกกระสับกระส่าย)
- มักจะไม่สามารถเล่นหรือเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างได้อย่างเงียบๆ
- เคลื่อนไหวไปมาตลอด เหมือนติดเครื่องยนต์อยู่ตลอดเวลา
- มักจะพูดมากเกินไป
- มักจะตอบคำถามก่อนที่คำถามนั้นจะจบลง
- มักจะมีปัญหาในการรอคิว
- มักจะขัดจังหวะหรือแทรกแซงผู้อื่น (เช่น พูดแทรกเข้าไปในบทสนทนา)
สำหรับเด็ก จะต้องเข้าข่ายอาการดังกล่าว 6 ข้อขึ้นไป และสำหรับผู้มีอายุ 17 ปีขึ้นไป จะต้องเข้าข่ายอาการดังกล่าว 5 ข้อขึ้นไป รวมถึงจะต้องมีอาการต่อเนื่องมาอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะเข้าข่ายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ADHD และส่วนใหญ่ หลายอาการมักจะปรากฏก่อนอายุ 12 ปี
ดังนั้น การจะบอกว่าคนคนหนึ่งเป็น ADHD หรือไม่ อาจต้องดูหลายประเด็นประกอบกัน รวมถึงสามารถดูได้จากผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น รบกวนการเรียน กระทบการทำงาน กระทบความสัมพันธ์ โดยต้องส่งผลกระทบอย่างน้อย 2 settings หรือ 2 สภาพแวดล้อมของคนคนนั้น
เช่น บ้านและโรงเรียน โดยที่บ้าน ผู้ปกครองก็อาจกำกับเด็กได้ยาก ไม่สามารถสอนการบ้านได้เพราะเด็กซน และที่โรงเรียน ครูก็อาจรายงานว่าเด็กลุกเดินไปมาระหว่างการเรียน
ทั้งนี้ อาการที่เป็นอาจเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุได้ เพราะสมองส่วน EF (Executive Function) ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับควมคุมตัวเองนั้น มีการพัฒนาขึ้น กล่าวคือ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ก็มีวุฒิภาวะมากยิ่งขึ้น ทำให้คนที่ตอนเด็กๆ อาจซนมากจากการเป็น ADHD เมื่อโตขึ้นก็มีอาการซนน้อยลง แต่แทนที่ด้วยอาการสมาธิสั้น วางแผนบริหารจัดการงานไม่ค่อยได้ หรือยังคงมีอาการหุนหันพลันแล่นอยู่
อย่างไรก็ดี อาการเหล่านี้จะต้องไม่ถูกวินิจฉัยเป็นโรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เนื่องจากอาจมีอาการที่คล้ายๆ กับสมาธิสั้น ดังนั้นผู้ที่ป่วยเป็นโรคเหล่านี้ ก็อาจไม่ได้เป็น ADHD เสมอไป
โดยสาเหตุของการเกิด ADHD อาจเป็นได้จากหลายปัจจัย แต่หลักๆ คือจากพันธุกรรม ไปจนถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ที่ถ้าหากได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม โดนดุ โดนทำร้าย ก็อาจทำให้อาการแย่ลง หรือเกิดปัญหาเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ต่ำ จนนำไปสู่การเกิดโรคจิตเวชอื่นๆ ได้
เราแค่ขี้เกียจชั่วคราว หรือเป็น ADHD กันแน่
หลายคนอาจรู้สึกว่า จะอ่านอาการข้อไหน ก็เหมือนว่าเราจะเข้าข่าย ADHD ไปหมดเสียทุกข้อ แล้วจะแยกได้อย่างไรกันนะ ว่าอาจเป็นที่นิสัยของเรา ความขี้เกียจแค่ชั่วคราว หรือเพราะเป็น ADHD จริงๆ?
ศ.นพ.วีระศักดิ์ อธิบายว่า ยิ่งในปัจจุบันที่มีการใช้โซเชียลมีเดียมาก ทำให้ยิ่งมีหลายอย่างที่อยากทำพร้อมๆ กัน (Multitasking) และกลายเป็นว่า ทำสิ่งนี้ก็ไม่เสร็จ แล้วก็จะไปทำสิ่งต่อไป ทำให้คนอาจจะสงสัยว่าตนเองเป็น ADHD แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอาการเหล่านั้นสื่อถึงการเป็น ADHD ได้ทันที
รวมถึงดูว่าเริ่มมีผลกระทบกับกิจวัตรประจำวันอื่นๆ หรือไม่ เช่น แม้จะเรียนได้ผลการเรียนดีมาก แต่อยู่ที่บ้านแล้วโอ้เอ้ ไม่สามารถบังคับตัวเองให้ลุกไปแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว หรือทำแล้วไม่เสร็จสิ้นดี ทำอย่างไม่เรียบร้อย ก็อาจเป็นสัญญาณที่สื่อถึง ADHD ได้
อีกประการหนึ่ง คือเรื่องความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เช่น พบว่าไม่สามารถเข้ากับเพื่อนได้ หรือรักษาความสัมพันธ์ต่างๆ ไม่ได้ ก็อาจเข้าข่าย แต่ก็อาจไม่ได้เป็น ADHD เสมอไป เพราะยังมีอาการอื่นๆ ที่เป็นไปได้อีก เช่น ผู้ที่มีปัญหาการเข้าสังคม อาจมีอาการออทิสติก ที่มีความบกพร่องทางทักษะด้านสังคมเป็นหลัก
โดยสรุปคือ หากยังสามารถทำกิจวัตรประจำวัน และมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จ ก็อาจยังไม่ได้แปลว่าเป็น ADHD และย้ำเตือนว่า การจะบอกได้ว่าตนเป็นหรือไม่เป็นโรคอะไร ควรได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์
จะเป็นอย่างไร หากเป็น ADHD แล้วไม่ได้รับการรักษา
ศ.นพ.วีระศักดิ์ ได้ระบุถึงงานศึกษาที่ผ่านๆ มา ที่ระบุว่า หากในวัยเด็กไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างดีเพียงพอ ก็อาจทำให้ปัญหาการเรียนเป็นมากขึ้นได้ อีกทั้งยังพบโรคร่วมได้บ่อย เช่น ภาวะบกพร่องทางการเรียน หรือ Learning disorder (LD) เช่น มีปัญหาในการเขียน การอ่าน การคำนวณ ดังนั้นหากมีอาการบ่งบอก และมาวินิจฉัย พบว่าเป็น ADHD หรือ LD ก็สามารถช่วยเหลือและรักษาได้ทันท่วงที
และในอีกมิติหนึ่ง คือพฤติกรรมที่เด็กดื้อ ต่อต้าน ผู้ปกครองบางคนอาจคิดว่า ‘ลูกเราแค่ดื้อ หรือแกล้งทำ’ จนนำไปสู่การได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม ทั้งโดนดุ ต่อว่า ลงโทษ หรือในทางตรงกันข้ามคือเมื่อควบคุมเด็กไม่ค่อยได้ก็ตามใจไปเลย จนกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม
หากปล่อยเวลาล่วงเลยไปจนถึงช่วงวัยรุ่นโดยไม่ได้รับการรักษา ก็อาจกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นอย่างการลงมือทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือถึงวัยทำงานก็ต้องถูกให้ออกจากงานเพราะไม่สามารถทำงานได้ หรือหากแต่งงานก็อยู่ด้วยกันได้ไม่ยาว เพราะมีปัญหาด้านการจัดการความสัมพันธ์
ประการสุดท้าย คือมีข้อมูลสถิติที่ระบุว่าผู้ป่วย ADHD อาจเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่ไม่เป็น เนื่องจากเมื่อควบคุมตัวเองได้ยาก ก็นำไปสู่การทำพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น ขับรถเสี่ยงจนเกิดอุบัติเหตุ ทำกิจกรรมที่ทำให้บาดเจ็บได้ง่าย
หากได้รับการรักษา ช่วยเหลือดูแลตั้งแต่เด็ก ADHD ก็อาจรักษาให้หายขาดได้ โดยเน้นการปรับพฤติกรรม แต่สำหรับบางคนที่อาการเพิ่งปรากฏ หรือเพิ่งมาเข้ารับการรักษาตอนเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่แล้ว ก็อาจต้องค่อยๆ รักษาตามอาการ โดยอาจมีการทานยาควบคู่ เพื่อให้กำกับควบคุมตนเอง และกระตุ้นให้ตนเองมีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ได้
อย่างกรณีผู้ป่วยที่ปัจจุบันเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี เพิ่งมาเข้าพบแพทย์และพบว่าเป็น ADHD หากย้อนไปในช่วงวัยเด็ก ก็อาจมีอาการเหล่านี้ แต่ผู้ปกครองอาจช่วยกำกับหรือบริหารจัดการเรื่องการเรียนได้ จึงสามารถใช้ชีวิตผ่านไปยังจุดหนึ่งได้ แต่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่มีความซับซ้อนขึ้น หรือในการทำงานที่ต้องใช้ทักษะการบริหารจัดการมากขึ้น อาการเหล่านี้ก็จะดูเหมือนทำให้เห็นเด่นชัด จนมีผลกระทบให้เกิดปัญหาในการเรียนและการทำงาน
ดังนั้น หากพบว่าลูกหลานมีอาการขาดสมาธิ ซุกซนเกินปกติ ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ไม่จำเป็นจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ผู้ปกครองก็ควรพามาพบแพทย์ให้วินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที หรือแม้จะเพิ่งมาสังเกตตนเองได้ตอนที่เป็นวัยรุ่นหรือเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังสามารถมาพบแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขต่อไปได้
สิ่งที่สังคมควรทำความเข้าใจ และให้การสนับสนุนกับผู้ที่เป็น ADHD
ศ.นพ.วีระศักดิ์ แนะนำว่า ในปัจจุบัน มีเช็คลิสต์ต่างๆ บนโลกออนไลน์ที่ใช้สังเกตเบื้องต้นได้ว่าตนอาจเข้าข่ายเป็น ADHD หรือไม่ แต่หากทำด้วยตัวเองก็อาจรู้สึกเป็นกังวลว่าเราจะต้องเป็นโรคนั้นแน่ๆ หรือในทางตรงกันข้ามคืออาจเข้าข้างตัวเอง ดังนั้น อาจใช้วิธีการให้คนใกล้ชิดที่รู้จักเราดีพอเป็นคนช่วยประเมินให้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง เพื่อน พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน เพื่อให้ความเห็นได้อย่างไม่มีอคติ
และที่สำคัญ หากพบสัญญาณจากคนรอบตัว ก็ควรรีบเข้าช่วยเหลือ ให้ไปพบแพทย์ เพราะหากวินิจฉัยได้โดยเร็ว ก็จะสามารถวางแผนการช่วยเหลือและการรักษาต่อไปได้
เนื่องจากเราอยู่ในสังคมเดียวกัน การจะได้เจอผู้ที่เป็น ADHD จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่หากได้รับการช่วยเหลือได้เร็วและถูกต้อง ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข เพราะหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเดินไปสู่จุดที่เป็นอันธพาล เกเร ทำผิดกฎหมาย ที่จะกระทบต่อความสงบของสังคมโดยรวม
ดังนั้น จึงอยากให้สังคมมองคนกลุ่มนี้ด้วยความเข้าใจ ว่าเป็นภาวะที่เกิดจากสมอง หากได้รับการรักษา หรือรอให้ถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ที่สมองพัฒนาจนมีความเป็นผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น ก็จะมีระบบการคิดที่ดีขึ้น แก้ปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้น และไม่เป็นปัญหาภาระต่อสังคม
หัวใจสำคัญ จึงเป็นการเปิดใจยอมรับความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีการสร้างความตระหนักถึงความหลากหลายที่มากยิ่งขึ้น แม้แต่ในทางการแพทย์เอง ที่ในอดีตจะพยายามเขียนงานวิชาการโดยหลีกเลี่ยงคำเรียกชื่อโรค แต่ปัจจุบันเมื่อสังคมเปิดรับมากขึ้น ผู้ป่วยเองก็ต้องการให้เรียกชื่อโรคหรือชื่อลักษณะอาการอย่างตรงไปตรงมา เพราะไม่ได้มองว่าเป็นคำเชิงลบแต่อย่างใด เป็นอาการที่รักษา และอยู่ร่วมกับสังคมได้
“เราจะเป็นพลเมืองโลก เราจึงหลีกเลี่ยงความหลากหลายในแต่ละบุคคลไม่ได้ แต่ละคนมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ต่างกัน คนที่เป็น ADHD ก็อาจมีส่วนช่วยพัฒนาสังคมไปในทิศทางที่เขาสนใจและทำได้ดีก็ได้ เราจึงต้องเปิดรับมากขึ้น เพื่อให้เราเข้าใจ”
แม้การทำความเข้าใจถึงภาวะอาการ หรือโรคทางจิตเวชต่างๆ อาจเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาเพื่อให้สังคมตระหนักอย่างถูกต้อง แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรทำ เพื่อให้สังคมดำเนินไปได้อย่างสงบสุข และมีความเคารพซึ่งกันและกัน
อ้างอิงจาก